รัฐบาลไม่ช่วยกทม.ปลดหนี้แนะลงทุนรถไฟฟ้าเขียว50%
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติให้เร่งรัดเรื่องการโอนหนี้สินและทรัพย์สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และสายสีเขียวใต้ช่วงแบริ่งสมุทรปราการ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ โดยให้เร่งเจรจากรอบวงเงินการลงทุน กทม.ต้องมีส่วนลงทุนในโครงการด้วย ดังนั้นรัฐบาลจึงปฏิเสธที่จะจ่ายค่าหนี้สินและทรัพย์สินทั้งหมดให้ กทม.ซึ่งมูลค่าสายสีเขียวเหนือ-ใต้ รวมกัน 60,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลยังไม่ปิดโอกาสที่จะช่วยเหลืออาจแบ่งสัดส่วนลงทุนแบบร่วมทุน เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้วงเงิน 30,000 ล้านบาท ให้รัฐบาลลงทุนครึ่งหนึ่งและให้ กทม. ลงทุนอีก 15,000 ล้านบาท
เนื่องจากการให้ส่วนท้องถิ่นอย่าง กทม. เข้ามาลงทุนโครงการรถไฟฟ้าในพื้นที่เป็นนโยบายลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐ ดังนั้นโครงการรถไฟฟ้าภูมิภาค อาทิ รถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) ภูเก็ต รถไฟฟ้ารางเบาเชียงใหม่ โมโนเรลหาดใหญ่ รถไฟฟ้ารางเบาขอนแก่น ต้องเป็นแบบพีพีพีโดยภาคท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมลงทุนในทุกโครงการ คาดว่ากระทรวงคมนาคมจะเร่งหารือข้อสรุปรถไฟฟ้าสายสีเขียวเรื่องสัดส่วนลงทุนให้ชัดเจนว่าจะออกมาแบบใดเพื่อเสนอ คจร.ในการประชุมครั้งต่อไปช่วงปลายปีนี้ โดยเฉพาะสายสีเขียวใต้ที่การก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จแต่ยังไม่ได้ตัวผู้ดำเนินการ
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ส่วนด้านการศึกษาแผนเส้นทางรถไฟฟ้าเฟสที่ 2 ใน 10 เส้นทางใหม่นั้น ขณะนี้ทางองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) อยู่ระหว่างศึกษาเส้นทางตามกรอบเวลา 2 ปีควบคู่ไปกับขอจัดสรรงบประมาณค่าจ้างศึกษาเส้นทางจากรัฐบาลญี่ปุ่น โดยเบื้องต้นจะเน้นพัฒนาเส้นทางฟีดเดอร์เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายหลัก ตลอดจนการขยายเส้นทางเดิมเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองใหม่รอบปริมณฑลผ่านการใช้รถไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นการลงทุนตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า อาทิ เส้นทาง กรุงเทพฯ-นครปฐม กรุงเทพฯนครนายก และกรุงเทพฯ-สมุทรสาคร เป็นต้น ตลอดจนเน้นเพิ่มเส้นทางใหม่เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางทิศตะวันตก-ตะวันออก (East-West) ของกรุงเทพฯ อีกด้วย.