กางแผนลงทุนระบบขนส่งเมืองโคราชวงเงิน 3.26 หมื่นล้าน
Loading

กางแผนลงทุนระบบขนส่งเมืองโคราชวงเงิน 3.26 หมื่นล้าน

วันที่ : 1 สิงหาคม 2560
ทุ่มงบลงทุนรถไฟฟ้าโคราช สนข.คาดใช้เงิน3.26หมื่นล.ทำระบบขนส่งพัฒนาเมืองและแก้ไขปัญหาจราจร
ลุยรถไฟฟ้าโคราช

ลุยรถไฟฟ้าโคราช

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กางแผนลงทุนระบบรถไฟฟ้านครราชสีมา วงเงิน 3.26 หมื่นล้าน รับรถไฟความเร็วสูง

สนข. กางแผนลงทุนระบบขนส่งเมืองโคราชวงเงิน 3.26 หมื่นล้าน ทำรถไฟฟ้า 5 เส้นทางรับรถไฟความเร็วสูง

นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ดำเนินการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา (โคราช) เพื่อแก้ปัญหาจราจรและส่งเสริมการพัฒนาเมืองให้สอดรับกับโครงการรถไฟความ เร็วสูงเฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ-โคราช โดยผลการศึกษาพบว่าระบบที่เหมาะสม และมีความเป็นไปได้ในการนำมาใช้ คือ ระบบไฟฟ้ารางเบา (LRT) จะเป็นระบบหลัก และมีระบบรถโดยสารเป็นระบบรอง ซึ่งแนวเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมดจะใช้วงเงินลงทุน 3.26 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ การลงทุนวงเงิน 3.26 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย รถไฟฟ้าระยะที่ 1 (เฟส 1) วงเงินลงทุน 1.41 หมื่นล้านบาท ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ระยะทาง 11.17 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 18 สถานี เส้นทางเริ่มจากตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ และรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้ม ระยะทาง 9.81 กม. จำนวน 17 สถานี เส้นทางเริ่มจากแยกประโดก-ถนนช้างเผือก-คูเมืองเก่า

นอกจากนี้ จะมีการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าระยะที่ 2 (เฟส 2) วงเงิน 4,900 ล้านบาท คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วงเข้ม ระยะทาง 11.92 กม. จำนวน 9 สถานี เส้นทางเริ่มจากตลาดเซฟวัน-ถนนมิตรภาพ-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ส่วนด้านการก่อสร้างระยะที่ 3 (เฟส 3) ใช้วงเงินลงทุน 1.36 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนระยะทาง 12.12 กม. จำนวน 13 สถานี เส้นทางเริ่มจากสถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 3 (ห้วยบ้านยาง)-ตลาดเซฟวัน  และสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ บ้าน นารีสวัสดิ์-สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา สาขา 2 รถไฟฟ้าสายสีส้มอ่อน โฮม ระยะทาง 5.37 กม. จำนวน 4 สถานี เป็นต้น

"โคราชเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวรวมถึงเป็นประตูไปสู่ภาคอีสาน ซึ่งที่ผ่านมา สนข.ได้ลง พื้นที่จัดประชุมกลุ่มย่อยหารือหรือพบปะกับกลุ่มผู้นำชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 ครั้ง และได้มีการจัดสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็นไปแล้วจำนวน 2 ครั้ง โดยแผนแม่บทที่ออกมานั้นทางสถาบันที่เป็นที่ปรึกษาจะสามารถส่งแผนแม่บทฉบับสมบูรณ์กลับมาที่ สนข.ได้เร็วๆ นี้ ก่อนจะเสนอกระทรวงคมนาคมในเดือน ส.ค. เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป" นางวิไลรัตน์ กล่าว

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ลงนามสัญญาสัมปทานการลงทุนออกแบบก่อสร้างบริหารจัดการให้บริการและบำรุงรักษาโครงการฯ กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (บีอีเอ็ม) วงเงิน 275 ล้านบาทแล้ว ซึ่งในโครงการก่อสร้างทางเชื่อมจาก ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ไปยังทางพิเศษศรีรัชด้านทิศเหนือ (มุ่งไปทางแจ้งวัฒนะ) ระยะทาง 360 เมตร

อย่างไรก็ตาม การลงนามก่อสร้าง ดังกล่าว เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนที่จะเดินทางไปยังถนนแจ้งวัฒนะ และลดปัญหาการจราจรติดขัดพื้นราบ คาดว่าจะเร่งเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 18 เดือน เพื่อเปิดใช้บริการช่วงต้นปี 2562 น่าจะมีปริมาณรถมาใช้ทางเชื่อมดังกล่าวประมาณ 2,600 คัน/วัน

นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เตรียมปรับแผนการจัดหารถโดยสารสาธารณะผ่านการเสนอขอทบทวนและปรับปรุงมติ ครม.เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2556 เรื่อง การจัดซื้อรถเมล์ของ ขสมก. โดยจะปรับปรุงรายละเอียดหลายด้าน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น เบื้องต้นจะปรับลดจำนวนจัดซื้อรถเมล์ใหม่จากเดิม 3,138 คัน เป็น 3,000 คัน คาดว่าจะสามารถเสนอให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม รับทราบภายในสัปดาห์นี้ ก่อนส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก. ดำเนินการอนุมัติ และจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.พิจารณาต่อไป

 
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ