สายสีส้ม บูมชิงที่เวิ้งดินแดง
Loading

สายสีส้ม บูมชิงที่เวิ้งดินแดง

วันที่ : 17 สิงหาคม 2560
สายสีส้ม บูมชิงที่เวิ้งดินแดง

เหมาะพัฒนาคอนโด-มิกซ์ยูส

บิ๊กเนมอสังหาฯรุมทึ้งที่ผืนใหญ่ 21 ไร่ โรงเรียนดรุณฯ เจ้าของตั้งขายเกิน 1,000 ล้าน รับผุดสถานีใหญ่ประชาสงเคราะห์ สายสีส้มตะวันตก ด้านกคช.ไล่ทุบทิ้งแฟลตดินแดง ผุดเมืองสมาร์ทซิตี

ทุนอสังหาริมทรัพย์ชิงไหวชิงพริบไล่กว้านซื้อที่ดินแนวรถไฟฟ้าฝุ่นตลบอีกครั้งเมื่อสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรมบางขุนนนท์ ปักหมุดสถานีชัด และเตรียมลงก่อสร้าง

ทั้งนี้จากการสำรวจ "ฐานเศรษฐกิจ" พื้นที่บริเวณก่อสร้างสถานีประชาสงเคราะห์ของ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก บนที่ดินบริเวณด้านหน้าของโรงเรียนดรุณพาณิชยการและดรุณพิทยาเดิม ซอยประชาสงเคราะห์ 16 ซึ่งพบว่าเป็นที่ดินแปลงใหญ่ที่สุดเพียงแปลงเดียวที่ต้องยอมรับว่าหาได้ยากในปัจจุบัน อีกทั้งยังเชื่อมเส้นทาง ทั้งรถไฟฟ้าและถนน อาทิ รัชดาภิเษกพระราม 9 ห้วย ขวาง วิภาวดีฯ ดินแดง ซึ่งถือเป็นทำเลที่เหมาะสมในการพัฒนาโครงการมาก

เมื่อสอบถาม นางอรพินผู้แทน นายสหะ ภาสะวณิช กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ.เค.เอส.แอสโซซิเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของ โรงเรียนดรุณฯ ได้รับการยืนยันว่า นายสหะ และครอบครัวตัดสินใจขายที่ดินแปลงดังกล่าว รวมเนื้อที่ 21 ไร่ ในนามบุคคล ให้กับบริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่ ที่สนใจพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร หรือโครงการรูปแบบมิกซ์ยูส โดยตั้งราคาขายยกแปลงมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท เนื่องจากโรงเรียนเลิกกิจการมานานแล้ว และแม้ว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเจรจาให้ นายสหะ เจ้าของที่ดินร่วมพัฒนาเชิงพาณิชย์โดยใช้รูปแบบจัดรูปที่ดิน แต่มองว่าการขายออกน่าจะเหมาะสมที่สุด

ราคาไม่ต่ำวาละ 1 แสน

นางอรพิน เผยอีกว่า "ปัจจุบันมีผู้ประกอบการให้ความสนใจสอบถามเข้ามามาก ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่ ในตลาดหลักทรัพย์ฯแทบทุกค่าย อาทิ บมจ. แสนสิริ บมจ. ศุภาลัยบมจ. พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค หรือแม้แต่ ค่าย เมเจอร์ เครือแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เอพี พฤกษา ฯลฯ ก็ให้ความสนใจ แต่ล่าสุดได้คัดเหลือเจรจาอยู่ 2-3 รายหากใครให้ราคาสูงสุด ก็ได้ที่ดินไป"

อย่างไรก็ดี เมื่อสอบถามถึงค่ายอนันดา ว่าร่วมชิงดำหรือไม่ นางอรพิน กล่าวว่าได้ยกเลิกการเจรจากับบริษัทดังกล่าวออกไปแล้วเนื่องจากให้ราคาที่ดินต่ำ อย่างไรก็ดี ต้นปี 2561 จะประกาศชื่อผู้ประกอบการที่ตกลงซื้อได้ ส่วนพื้นที่เวนคืนและตั้งสถานีประชาสงเคราะห์จะอยู่ที่ส่วนหน้าของโรงเรียนหรือปากซอยประชาสงเคราะห์ 16 รวมทั้งบ้านหลังใหญ่ อาคารพาณิชย์ และอพาร์ตเมนต์ซึ่งอยู่ติดกันที่อยู่ในข่ายถูกเวนคืน ซึ่งเชื่อว่าเอกชนที่ซื้อไปได้ศึกษาแล้วว่า เป็นทำเลที่มีศักยภาพ

ด้านนายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่าขณะนี้ ที่ดิน โรงเรียนดรุณฯ หากมีการเปลี่ยนมือ ที่ดินทำเลดังกล่าวเหมาะที่จะพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียม ระดับราคา กว่า 1-2 ล้านบาท ขณะที่ราคาที่ดินอยู่ที่ประมาณ 1 แสนบาทต่อตารางวา ส่วนการเคลื่อนไหวของบริษัทพัฒนาที่ดินในตลาดหลักทรัพย์ฯ มักใช้บริษัทลูกซื้อที่ดิน แบบเงียบๆ เพราะเป็นลักษณะชิงไหวชิงพริบทำเลทอง เพื่อจะได้ไม่ต้องแจ้งตลาด หลักทรัพย์ฯ

พลิก"ดินแดง"สู่สมาร์ทซิตี

สอดรับกับนายธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.)กล่าวว่า การเคหะฯเตรียมทุบอาคารแฟลตดินแดงต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาเป็นเมืองสมาร์ทซิตี แห่งแรกของประเทศไทยสูงสุด 35 ชั้น จำนวน 2 หมื่นหน่วย รองรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก ล่าสุดอยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการระยะ 1 บนที่ดินแปลง "จี" หัวมุมถนนวิภาวดีฯ จำนวน 2 อาคาร 304 หน่วย คาดว่าเดือนสิงหาคม 2561 สามารถเข้าอยู่ได้ โดยสถานีรถไฟฟ้าจะอยู่หน้าศาลาว่า กทม. 2 ราว 300 เมตร จากนั้นจะทุบแฟลตดินแดงบริเวณหน้าโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์-โบสถ์แม่พระฟาติมา และระยะที่ 3 บริเวณประชาสงเคราะห์ซึ่งอยู่บริเวณแยกห้วยขวาง-ดินแดง กว่า 10 อาคาร จำนวน 1 หมื่นหน่วย ซึ่งห่างจากสถานีประชาสงเคราะห์ หรือ ที่ตั้งอยู่บนที่ดินโรงเรียนดรุณฯเก่า ประมาณ 300-400 เมตรคาดว่าจะมีคนเข้ามาใช้ชีวิต 1 แสนคน โดยดึงห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และเปิดศูนย์โอท็อประดับชาติ สนับสนุนคนในพื้นที่ ผลิตสินค้าป้อนนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ครม.ไฟเขียวฟ้องทันที

นายธนา ชีรวินิจ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หาก รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ให้ก่อสร้างเมื่อใด จะ ช่วยสนับสนุนประชาชนชุมชนประชา สงเคราะห์ ร้องศาลปกครองทันที สาเหตุหลักคือ 1. เปลี่ยนแปลงมติบอร์ดรฟม. จากเดิม แนววิ่งอยู่ใต้ถนนพระราม 9-ดินแดง ซึ่งเวนคืนบ้านเรือนประชาชนเพียง 35 หลังคาเรือน ขณะที่ รฟม.เปลี่ยนแนวมาใช้เส้นทางเดิมคือประชาสงเคราะห์จะกระทบชุมชนมากถึง 184 หลัง

นายประทีป นิลวรรณ ประธานชุมชนซอยแม่เนี้ยว แยก  3 เขตดินแดงเสริมว่า ชุมชนไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อการปรับเปลี่ยนเส้นทางเอื้อประโยชน์ห้างเอสพลานาดและเจ้าของโรงเรียนดรุณฯ ซึ่งขณะนี้รวบรวมข้อมูลเพื่อฟ้องศาลปกครองแล้ว

ขณะที่รฟม.ออกมาระบุว่า ที่ปรับ เปลี่ยนแนวเพราะสถานีพระราม 9 ไม่ได้เผื่อที่ดินไว้ ส่วนเอสพลานาด ได้ วาง แผน ทำอุโมงค์ใต้ดินไว้ตั้งแต่ต้น

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ