บีทีเอสทุ่ม2หมื่นล.ยกเครื่องบริการเพิ่มโบกี้
Loading

บีทีเอสทุ่ม2หมื่นล.ยกเครื่องบริการเพิ่มโบกี้

วันที่ : 4 กันยายน 2560
บีทีเอสทุ่ม2หมื่นล.ยกเครื่องบริการเพิ่มโบกี้

บีทีเอสทุ่มเม็ดเงินเฉียด 2 หมื่นล้าน ซื้อโบกี้ใหม่ 46 ขบวน พร้อมยกเครื่องตั๋วโดยสารเป็นระบบสัมผัส รองรับตั๋วร่วมแมงมุม โอดต้นทุนพุ่ง 20% ขอปรับค่าโดยสาร 1-3 บาท เป็น 16-44 บาท เริ่ม 1 ต.ค.นี้ ดึงคนใช้บัตรแรบบิท ตรึงราคาเดิมถึง มี.ค. 2561

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 20% จากการบำรุงรักษา และบริษัทได้ลงทุน 10,000 ล้านบาท ซื้อรถใหม่ 46 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ รวมเป็น 184 ตู้ จะทยอยนำเข้ามาต้นปี 2561 ซึ่งเป็นรถซีเมนส์ 22 ขบวน จากนั้นอีก1 ปี รถสั่งซื้อจากจีนจะเริ่มเข้ามาอีก 24 ขบวน

รวมถึงยังลงทุนอีก 400 ล้านบาท ปรับปรุงระบบตั๋วโดยสาร เปลี่ยนตู้จำหน่ายบัตรโดยสารเป็นระบบสัมผัส (touch screen) ทั้งหมด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากประเทศสิงคโปร์ และสั่งตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารที่รับธนบัตรด้วยจาก "วิกซ์" ประเทศฮ่องกง มาติดตั้งในระบบเพิ่มขึ้นอีก 50 ตู้ จากปัจจุบัน 50 ตู้ จะเริ่มทยอยติดตั้งในปี 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนเปิดให้บริการสาย สีเขียวส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่กำหนดวันที่ 1 ธ.ค. 2561 แต่รัฐบาลมีนโยบายจะเร่งให้เปิดเร็วขึ้น ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด

"ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เราจึงขอปรับค่าโดยสาร ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 นับจากเปิดบริการตั้งแต่ปี 2542 โดยเพิ่มอีก 1-3 บาท หรือประมาณ 5% จาก 15-42 บาท เป็น 16-44 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 เป็นต้นไป ในเส้นทางที่ได้สัมปทานจาก กทม.(กรุงเทพมหานคร) ระยะทาง 23.5 กม. สายสุขุมวิท หมอชิต-อ่อนนุช และสายสีลมสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน หลังไม่ได้ปรับตั้งแต่ปี 2556 ตามสัญญาสามารถขอปรับได้ทุก 18 เดือน แต่ต้องไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสาร ตามสัญญาสัมปทานในอัตรา 20.11-60.31 บาท"

สำหรับอัตราค่าโดยสาร เรียกเก็บสถานีแรก 16 บาท สองสถานี ราคา 23 บาท สามสถานี ราคา 26 บาท สี่สถานี ราคา 30 บาท ห้าสถานี ราคา 33 บาท หกสถานี ราคา 37 บาท เจ็ดสถานี ราคา 40 บาท แปดสถานีเป็นต้นไป ราคา 44 บาท ส่วนราคาจำหน่ายเที่ยวเดินทาง 30 วัน ทั้งประเภทบุคคลทั่วไปและนักเรียนนักศึกษา จะปรับขึ้นเที่ยวละ 1 บาท ได้แก่ บุคคลทั่วไป ประเภท 50 เที่ยว 1,300 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 26 บาท 40 เที่ยว 1,080 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 27 บาท 25 เที่ยว 725 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 29 บาท และ 15 เที่ยว 465 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 31 บาท

ส่วนนักเรียนนักศึกษา ประเภท 50 เที่ยว 950 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 19 บาท 40 เที่ยว 800 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 20 บาท 25 เที่ยว 550 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 22 บาท และ 15 เที่ยว 360 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 24 บาท

แต่ยังคงราคาเดิมเป็นเวลา 6 เดือน จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2561 สำหรับผู้ใช้บัตรแรบบิทประเภทเติมเงิน จึงอยากให้ผู้โดยสารที่เคยซื้อบัตรเที่ยวเดียวเปลี่ยนมาใช้บัตรเติมเงินเพื่อความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ยังจะได้รับส่วนลดครึ่งราคาจากอัตราราคาใหม่เมื่อใช้บัตรแรบบิทสำหรับผู้สูงอายุโดยสามารถเดินทางได้ไม่จำกัดเวลา

นอกจากนี้จะจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์อิเล็กทรอนิกส์บนชั้นชานชาลาแจ้งความถี่การให้บริการ รวมถึงแจ้งเหตุรถไฟฟ้าขัดข้องและข้อมูลอื่น ๆ พร้อมมีแผนจะลงทุนติดตั้งประตูกั้นชานชาลาอัตโนมัติในสถานีต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกัน บริษัทจะลงทุนอีกหลาย 100 ล้านบาท ปรับปรุงและอัพเกรดระบบฮาร์ดแวร์ เพื่อรองรับระบบตั๋วร่วม (บัตรแมงมุม) กับบัตรสวัสดิการ ผู้มีรายได้ของรัฐด้วย โดยจะเริ่มดำเนินการหลังมีการเซ็นข้อตกลง (MOU) กับกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะเป็นการเซ็นข้อตกลงเพิ่มเติมจากเดิมที่บริษัทเคยเซ็นร่วมกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ไปก่อนหน้านี้

"บีทีเอสกับบีอีเอ็มต้องลงทุนปรับปรุงระบบลีดเดอร์เพื่อให้ใช้ร่วมกับระบบ ตั๋วร่วมได้ ซึ่งของบีทีเอสจะลงทุนในระดับหนึ่งเพราะเรามีบัตรแรบบิทที่เป็นบัตรประเภทเดียวกับตั๋วร่วมอยู่แล้ว คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 6 เดือน ภายในกลางปีหน้าจะใช้บริการได้"

เนื่องจากต้องรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้จัดตั้งบริษัท บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม (CTC) โดยจะเปิดให้เอกชนเข้าไปร่วมลงทุน ทั้งนี้จากการหารือกับกระทรวงคมนาคมจะใช้เงินลงทุนระบบของทั้งบีทีเอสและบีอีเอ็มมาเป็นเงินลงทุนพัฒนาโครงการภายใต้ บริษัทที่จะจัดตั้ง แต่ในเบื้องต้นจะมอบให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการไปก่อน

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ