จุดตัดรถไฟฟ้าบูมสนั่น 'บางซื่อ-มักกะสัน-หมอชิต' แห่ผุดคอนโด-โรงแรม-ช็อปปิ้ง
เปิดจุดตัดรถไฟฟ้า 12 สาย 100 แห่ง กระจายทั่วกรุง เซียนอสังหาฯชี้จุดตัดฮับใหญ่เบอร์แรง บางซื่อ มักกะสันและหมอชิต ผุดคอนโดฯ ออฟฟิศ โรงแรม ช็อปปิ้ง
ไม่ว่าโครงข่ายรถไฟฟ้าไปทางไหน ที่นั่นจะเกิดการพลิกโฉมเมืองจากแนวราบสู่มหานครตึกสูง การแข่งขันชิงทำเลทองดุเดือด ส่งผลต่อราคาขายต่อหน่วยสูงจากราคาที่ดินขยับแรงแพงระยับโดยเฉพาะใจกลางเมือง และกำลังกระจายขุมทรัพย์ใหม่ออกไปยังกรุงเทพฯชั้นกลางและชั้นนอก
ต่อเรื่องนี้นายเลิศมงคล วราเวณุชย์ เลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยเปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ทำเลที่มีพลังก่อให้เกิดการลงทุนจะเป็นบริเวณจุดตัดรถไฟฟ้า อนาคตจะมีมากถึงเกือบ 100 จุดตัดจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสารพัดสี 12 เส้นทาง แต่ที่มีพลังมากสุด ได้แก่ ทำเลอโศกซึ่งมีรถไฟฟ้าสายสีเขียว (บีทีเอส) กับ รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน (เอ็มอาร์ที) ตัดกันเป็นฮับใหญ่ในเขตกรุงเทพฯชั้นในส่งผลให้เกิดการพัฒนาแบบผสมผสาน ทั้งคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงานและเชิงพาณิชยกรรม ประเมินว่าแม้ที่ดินมีจำกัดแต่ด้วยศักยภาพของการเชื่อมโครงข่าย มองว่าความต้องการที่ดินยังมีสูงขณะเดียวกันหากมีรถไฟฟ้า 3 สายตัดกันบริเวณดังกล่าวยิ่งมีพลังมากขึ้น
"จุดตัดทำให้เกิดการพัฒนาเชิงพาณิชยกรรม อาคารสำนักงาน โรงแรม เนื่องจากศักยภาพสูง จึงพัฒนาได้มากกว่าคอนโดมิเนียมเพียงอย่างเดียว ที่ผ่านมาทำเลแยกอโศกไม่มีใครพัฒนา แต่เมื่อมีจุดตัดสถานีรถ ไฟฟ้าขึ้น มีการลงทุนเกิดขึ้น อาทิ ห้างเทอร์มินอล 21 โรงแรมของกลุ่มทุนจากประเทศญี่ปุ่น โครงการคอนโดมิเนียมของบริษัทอนันดาฯ และค่ายสิงห์เอสเตทที่ผุดโครงการคอมเพล็กซ์ เกิดจากสายสีน้ำเงินตัดสายสีเขียว"
นายเลิศมงคลกล่าวต่อว่า อีกจุดตัดใหญ่ที่น่าจับตา จะเป็นสถานีบางซื่อ ซึ่งเป็นชุมทางรถไฟฟ้า 5-6 สาย ที่ดินรอบสถานี กว่า 1,000 ไร่เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ต้องการเนรมิตพื้นที่บริเวณนี้เทียบชั้นประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น แหล่งรวมของการอยู่อาศัย แหล่งงานและช็อปปิ้ง ทำให้ทำเลนี้มีมูลค่ามหาศาล ขณะเดียวกัน พื้นที่รอบนอกซึ่งเป็นของเอกชนจะได้รับอานิสงส์ไปด้วย รวมถึงหมอชิตที่มีสายสีเขียวตัดสีน้ำเงินและอนาคตที่กรมธนารักษ์เตรียมพัฒนา
อีกทำเลคือ มักกะสันมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินตัดแอร์พอร์ตลิงค์ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟฯเนื้อที่ 200-300 ไร่อยู่บริเวณจุดตัดพอดี และยังจะมีสายสีส้มเชื่อมต่อ นอกจากนี้ยังมี ที่พญาไท ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ บีทีเอส ตัดกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ และอนาคตจะมีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทำเลศูนย์วัฒนธรรม รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินตัดสายสีส้มในอนาคตซึ่งเป็นฮับใหญ่ที่มีพลังเช่นกัน
อย่างไรก็ดีรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือบีทีเอสซึ่งเป็นสายแรก ที่วิ่งผ่ากลางเมืองและออกไปยังโซนเหนือสิ้นสุดที่คูคตลำลูกกา ซึ่งมีสายสีเหลืองตัดบริเวณสถานีพหลโยธิน 24 สายสีชมพูตัดบริเวณสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และฝั่งแบริ่ง-สมุทรปราการซึ่งมีสายสีเหลืองตัดบริเวณสถานีสำโรง ทั้งนี้สายสีเขียวมีองค์ประกอบครบ มีจุดตัดร่วมกับสายสีแดงแอร์พอร์ตลิงค์ สายสีชมพู สายสีน้ำเงิน และสายสีเหลืองส่งผลให้ราคาที่ดินยังวิ่งเรื่อยๆ จากความนิยมขณะที่สายสีน้ำเงิน ตัดกับสายสีเหลืองบริเวณรัชดา-ลาดพร้าว สำหรับส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน คาดว่าจะเปิดปี 2563 ต่อไปยังฝั่งธนฯ ซึ่งจะเชื่อมครบการเดินทาง
ด้านนายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทมีที่ดินรอพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียม 6-7 แปลงรับรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ อาทิ สายสีชมพู บริเวณปากเกร็ด รัตนาธิเบศร์ 2แปลง ฝั่งธน 3 แปลง รับสายสีน้ำเงินและสายสีเทา ทำเลสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่สมุทรปราการ 1 แปลง ส่วน สายสีเขียวเหนือ ขณะนี้เปิดขายแล้วที่ พหลโยธิน 32 และ พหลโยธิน 34 บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เช่นเดียวกับนายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โมเดิร์นพร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแทนส์ จำกัด วิเคราะห์ว่าฮับใหญ่รถไฟฟ้า 7-8 สาย จะเป็นพหลโยธิน-บางซื่อ อนาคตเป็นศูนย์กลางคมนาคม ซึ่งที่ดินเอกชนโดยรอบ มีศักยภาพพัฒนาแบบผสมผสาน ประกอบด้วยโรงแรม ศูนย์การค้าคอมเพล็กซ์ อาคารสำนักงาน ที่ไม่ใช่คอนโด มิเนียมเพียงอย่างเดียว ซึ่งปัจจุบันมีสวนจตุจักรดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งเป็นทำเลที่มีศักยภาพสูงกว่า พหลโยธิน-รัชดา และทำเลรัชดา-ลาดพร้าวที่พัฒนาได้เฉพาะคอนโดมิเนียมอย่างเดียว
อีกทำเลที่น่าสนใจ คือ แยกฟอร์จูน-ห้วยขวาง สายสีน้ำเงินกับสายสีส้ม ซึ่งกลุ่มนักลงทุนจีนอยู่อาศัยจำนวนมาก อีกจุดคือ น้ำเงิน ตัดกับสายสีเหลืองทำเลรัชดา-ลาดพร้าว ส่วนทำเลอโศก-เพชรบุรี จะมี ศูนย์มักกะสันประตูน้ำ 2 ศูนย์การประชุมใหญ่ โรงแรม ฯลฯ ของการรถไฟเกิดขึ้น ซึ่งมองว่าเป็นทำเลที่มีศักยภาพในอนาคต ส่วนจุดตัดรองลงมา จะเป็นทำเล บางนา บางกะปิ