รฟท.ยึดรถไฟสายสีแดง คนร.ให้เดินรถเอง-ตั้งบริษัทบริหารที่ดิน
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560 ได้เห็นชอบ หลักการให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเดินรถ และซ่อมบำรุง (Operation & Maintenance) มาบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดงบางซื่อ-รังสิต) ที่มีกำหนดเปิดบริการในปี 2563
นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ กระทรวงคมนาคม กำหนดเงื่อนไขในสัญญาให้ชัดเจนครอบคลุม หากบริษัทลูกที่ร.ฟ.ท.จะจัดตั้งขึ้นมา ไม่สามารถบริหารเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด สามารถยกเลิกสัญญาและเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาประมูลเพื่อบริหารจัดการแทนได้
"คนร.กำชับให้ กระทรวงคมนาคมกำหนดในสัญญาไม่บล็อกแค่บริษัทลูกในการเดินรถเท่านั้น แต่ต้องเปิด Open Asset หรือให้เอกชนเข้ามาเดินรถได้ด้วย หากทำผิดเงื่อนไข หรือมีรถไฟฟ้าสายอื่นที่เชื่อมโยงกับสายสีแดง ในอนาคต เพราะรถไฟฟ้าสายสีแดง เป็นโครงการ ที่เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางของประเทศ ที่เข้ามาในกรุงเทพฯ ทำให้การบริหารจัดการต้อง มีประสิทธิภาพ ไม่ซ้ำรอยปัญหาเหมือนแอร์พอร์ต เรลลิ้งค์" นายเอกนิติ กล่าว
นอกจากนี้ คนร.ยังเห็นชอบหลักการให้ ร.ฟ.ท.จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารสินทรัพย์ของ ร.ฟ.ท. ที่ไม่ได้ใช้ในการเดินรถ (Non-Core) จำนวน 3.9 หมื่นไร่ แบ่งเป็นที่มีสัญญา 1.5 หมื่นไร่ และที่ดินว่างเปล่าอีก 2.4 หมื่นไร่ โดยกระทรวงคมนาคมเสนอให้จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อให้การบริหารมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้คาดว่าภายใน 30 ปี จะบริหารสินทรัพย์ที่มีจนเกิดรายได้ 3 แสนล้านบาท เพื่อนำมาเร่งชำระหนี้ที่มีอยู่กับกระทรวงการคลังกว่า 1 แสนล้านบาทได้
ด้านบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้ปรับแผนรองรับการปลด "ธงแดง" ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ส่วนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) คนร.ได้เร่งให้ กรมขนส่งทางบก กำหนดหลักเกณฑ์ และเพิ่มจำนวนเส้นทางนำร่องการประมูล เส้นทางเดินรถใหม่สำหรับผู้ประกอบการ และขอให้ ขสมก. เร่งจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ให้เร็วที่สุด
ขณะที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่ คนร.ยัง ไม่ปลดให้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนธนาคาร อิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) มีความคืบหน้า ด้านการสรรหาพันธมิตร และสามารถลดต้นทุนเงินฝากได้ดีกว่าเป้าหมาย โดย คนร. ได้ขอให้เร่ง พลิกฟื้นองค์กร และสรรหาพันธมิตรให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2561 รวมถึงการเพิ่มทุนให้ไอแบงก์ 1.8 หมื่นล้านบาท
นายเอกนิติ กล่าวว่า ตามที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้ง บริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) ในการดำเนินธุรกิจเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ และอินเตอร์เนต ดาต้าเซ็นเตอร์ และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) ในการดำเนินธุรกิจอินเตอร์เนตบรอดแบนด์ นั้น จะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2560
นอกจากนี้ คนร. เห็นชอบในหลักการการจัดตั้งบริษัทในเครือของบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำนวน 3 บริษัท เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้