กทม.ยึกยักโอนหนี้โครงสร้างสีเขียว ชงรัฐลง70%-คค.สั่งประเมินรายได้
คมนาคม สั่งกทม.ประเมินรายได้ 20 ปีข้างหน้า พร้อมรายละเอียดสถานะการคลัง ก่อนพิจารณาการโอนหนี้และสัดส่วนลงทุนสายสีเขียวช่วงปลาย พ.ย.นี้เผยรถไฟฟ้าจะทำให้การพัฒนาเมืองเปลี่ยน เก็บภาษีได้มากขึ้น กทม.ได้สิทธิ์ระยะยาว ไม่สอดคล้องกับรูปแบบรัฐ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 70 % กทม.รับเดินรถ 30% ซึ่งเท่ากับ กทม.ไม่ต้องชำระหนี้ ค่าโครงสร้างเลย
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานตาม MOU รถไฟฟ้าสายสีเขียว เปิดเผยว่า จากมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เห็นชอบผลการดำเนินงาน ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้รับทราบตามที่ คจร.เสนอไปแล้วและให้กระทรวงคมนาคม กทม. กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาหารือสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมระหว่างรัฐบาลและ กทม. รวมทั้งแนวทางชำระหนี้คืนให้รัฐบาลต่อไปนั้นคณะกรรมการกำกับฯ ได้หารือหลักการ วิธีการคำนวณ และอัตราค่าเช่าใช้ประโยชน์ในโครงสร้าง พื้นฐานสำหรับงานเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมระหว่างรัฐบาลและ กทม.
โดยให้ กทม.เร่งทำรายละเอียด รายได้ในอีก 20 ปีข้างหน้า พร้อมสถานะการคลังของ กทม. โดยให้เสนอมาภายในกลางเดือน พ.ย ซึ่งคณะกรรมการกำกับฯ จะประชุมเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาสัดส่วนการลงทุนใน ปลายเดือน พ.ย.ต่อไป
ทั้งนี้ กทม.ยังไม่ได้เสนอรายละเอียดรูปแบบการลงทุนเข้ามา แต่มีแนวคิดว่า สัดส่วนการลงทุนควร ยึดหลัก รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 70% ส่วนงานระบบอาณัติสัญญาณและเดินรถไฟฟ้า 30% นั้นเป็นของผู้ให้บริการ คือ กทม. ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เนื่องจากรูปแบบดังกล่าวจะเหมือนกับการให้สัมปทานเดินรถไฟฟ้าในปัจจุบัน ที่ กทม.ทำสัญญากับเอกชนคือ บีทีเอส ซึ่งมีอายุสัมปทาน 30 ปี แต่ประเด็นการเดินรถสายสีเขียวนั้น กทม.จะได้รับ โอนสิทธิ์ไปเลย ซึ่งเป็นระยะยาวกว่ามาก ไม่สามารถใช้แนวทางเดียวกันได้
ขณะที่เมื่อมีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่กทม.เดินรถ รูปแบบการพัฒนาเมือง การพัฒนาพื้นที่ และการเก็บภาษีจะเปลี่ยนไป กทม.จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ขีดความสามารถมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีรายละเอียดเรื่องรายได้ในอนาคต ว่ามีตัวเลขเป็นอย่างไร สอดคล้องกับการลงทุน 70-30 จริงหรือไม่ เนื่องจากสัดส่วน 70-30 จะเท่ากับ กทม.ไม่ต้องชำระค่าโครงสร้างงานโยธาคืนให้รัฐเลย โดยจะรับผิดชอบเฉพาะค่าลงทุนระบบและรถไฟฟ้า 30% เท่านั้น
"หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าการโอนเดินรถสายสีเขียวให้ กทม.จะเป็น ต้นแบบในการพิจารณารูปแบบการลงทุนระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดอื่นๆ ที่ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมอย่างไร นอกจากนี้ยังนำรูปแบบของต่างประเทศมาพิจารณาประกอบด้วย เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ที่รัฐบาลลงทุน 30 ท้องถิ่นลงทุน 70 แต่สถานะการคลังและการเก็บภาษีจะเป็นอีกแบบหนึ่งไม่เหมือนกับไทย ซึ่งเรื่องนี้ มีรูปแบบหลากหลาย เช่น อินเดีย, บราซิล, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะนำมาเปรียบเทียบเลือกที่เหมาะสมที่สุด" นายพีระพลกล่าว
สำหรับ ค่าลงทุนรถไฟฟ้าสาย สีเขียวช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ รวมทั้งสิ้น 84,517.72 ล้านบาท (ค่าโครงสร้างพื้นฐาน 60,815.72 ล้านบาท ค่างาน ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและรถไฟฟ้า 23,702 ล้านบาท) โดยช่วงหมอชิตสะพานใหม่-คูคต งานโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 39,730.25 ล้านบาท และงาน ติดตั้งระบบเดินรถ 14,807 ล้านบาท, ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ค่างานโครง สร้างพื้นฐานวงเงิน 21,085.47 ล้านบาท งานติดตั้งระบบเดินรถ 8,895 ล้านบาท.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา