โคราชเสียงอ่อนรับรถไฟฟ้า สนข.ส่งต่อรฟม.ศึกษารายละเอียด
นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้ประชุมคณะกรรมการกำกับการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา มติที่ประชุมได้เห็นชอบผลรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ที่พบว่านครราชสีมาเหมาะสมกับการใช้รถไฟฟ้ารางเบาเป็นโครงสร้างทางวิ่งระดับพื้นดินมีโครงข่ายครอบคลุมตัวเมืองแหล่งกิจกรรมและศูนย์การค้า เนื่องจากมีความคุ้มทุนในการลงทุนมากกว่า โดยมี 3 เส้นทาง คือ สายสีเขียว สีส้ม และสีม่วงระยะทางรวม 70 กม. รวม 75 สถานี แบ่งเป็นสายสีเขียวเส้นทางชลประทาน-สำนักงานขนส่ง 2 มี 34 สถานี 30 กม., สายสีส้มเส้นทางดูโฮม-โรงพยาบาลป.แพทย์ 22 สถานี 20 กม. และสายสีม่วงเส้นทางตลาดเซฟวัน-ค่ายสุรนารายณ์ 22 สถานี 20 กม. วงเงินลงทุน 32,000 ล้านบาท
หลังจากนี้ สนข. จะนำเสนอผลรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ให้กระทรวงคมนาคมภายใน พ.ย. ก่อนเสนอผลการศึกษาไปที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณา ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ขณะเดียวกันกระทรวงต้องมอบหมายการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยรฟม. ศึกษารายละเอียดโครงการ เช่น แนวเส้นทาง สถานี การลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) รวมทั้งการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ก่อนดำเนินการก่อสร้างโครงการหรือหากทางท้องถิ่นมีความพร้อมก็ให้ดำเนินโครงการได้
นางวิไลรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจประชาชน จ.นครราชสีมา บางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยและคัดค้านโครงการ โดยเฉพาะผู้อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบาทั้ง 3 สายที่หวั่นเสียผิวจราจรกลัวว่าจะจอดรถบนถนนหน้าบ้านตนเองเหมือนเดิมไม่ได้ ผลการประชุมพบว่าประชาชนรับรู้และให้การสนับสนุนโครงการมากขึ้น มีความเข้าใจว่าภาครัฐมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาในเมืองภูมิภาคอีกหลายจังหวัดเช่น ที่ จ.ภูเก็ต และเชียงใหม่ที่คืบหน้าไปมาก ประชาชนต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง
ขณะเดียวกันนครราชสีมา มีโครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีดที่จะช่วยยกระดับการเดินทางของประชาชนรวมทั้งช่วยพัฒนาจังหวัดให้เจริญก้าวหน้า ยิ่งขึ้น อนาคตถ้ามีการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาในนครราชสีมา ชาวบ้านต้องให้ความร่วมมือด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทาง การจอดรถบนถนนรวมถึงการจัดการจราจรแน่นอน สำหรับประชาชนนอกเมืองก็สามารถนำรถมาจอดที่สถานีแล้วนั่งรถไฟฟ้าต่อเพื่อเดินทางเข้าเมืองได้