แบงก์รัฐเร่งกดเอ็นพีแอลเข้าเป้าธอส.งัด 14 แผนแก้หนีเสีย-ตัดขายบสก.
Loading

แบงก์รัฐเร่งกดเอ็นพีแอลเข้าเป้าธอส.งัด 14 แผนแก้หนีเสีย-ตัดขายบสก.

วันที่ : 16 พฤศจิกายน 2560
แบงก์รัฐเร่งกดเอ็นพีแอลเข้าเป้าธอส.งัด 14 แผนแก้หนีเสีย-ตัดขายบสก.

แบงก์รัฐเร่งลดเอ็นพีแอลให้เข้าเป้าก่อนสิ้นปี ธอส.งัด 14 มาตรการเจรจาลูกหนี้ค้างท่อเกิน 3 ปีรวมมูลหนี้กว่า 2 พันล้านบาท หวังกดหนี้เสียลงอีก 0.2% ฟาก ธ.ก.ส.ส่งเจ้าหน้าที่ปูพรมเกาะติดลูกหนี้ใกล้ชิด ด้าน ธปท.เดินหน้าเพิ่มความเข้มข้นกำกับแบงก์รัฐ

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2560 นี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายบริหารจัดการหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้ลดลงให้ได้อีก 0.2% เพื่อให้ NPL ณ สิ้นปีเหลือที่ระดับ 4.2% จากก่อนหน้านี้ NPL ณ สิ้น ก.ย. 2560 อยู่ที่ 5.29% และธนาคารได้ขาย NPL ให้แก่บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (บสก.) หรือ BAM แล้วมูลค่า 6,971 ล้านบาท ในเดือน ต.ค. ทำให้ NPL ลดลง 0.69% เหลืออยู่ที่ 4.61% ซึ่งเดิมธนาคารตั้งเป้าหมายจะลด NPL ให้เหลือไม่เกิน 4% หรืออยู่ที่ 3.99% ในสิ้นปีนี้ แต่คาดว่าจะทำได้ที่ 4.2%

โดยก่อนหน้านี้ ธอส.ตั้งใจจะขายหนี้ NPL อายุเกิน 3 ปี ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 14,000 ล้านบาท แต่ขายไปได้ 6,971 ล้านบาท ขณะเดียวกันมีลูกหนี้บางส่วนมาเจรจาปิดบัญชีแล้วราว 4,000 ล้านบาท ทำให้ยังเหลืออีก 2,100 ล้านบาท ซึ่งธนาคารจะบริหารจัดการเอง โดยจะเรียกลูกหนี้เข้ามาเจรจาอีกครั้ง หลังจากที่ได้ยุติเจรจาไว้ในช่วงที่เตรียมจะขายหนี้ ซึ่งธนาคารจะมีวิธีการเจรจาประนอมหนี้กับลูกหนี้มากถึง 14 มาตรการ ถือว่าครอบคลุมการช่วยเหลือลูกค้า เพียงแต่ตัวลูกหนี้เองต้องเข้ามาเจรจากับแบงก์

"ตอนนี้ให้ทีมที่ดูแลเอ็นพีแอล กดลงอีก 0.2% ในช่วงที่เหลือของปี ก็จะจบที่ประมาณ 4.2% อาจจะไม่ได้ตามเป้า แต่ก็ถือว่ายอมรับได้ เพราะตั้งแต่ ม.ค.เป็นต้นมา NPL มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มในอัตราที่ลดลงเรื่อย ๆ ถึงเดือน ก.ย. อยู่ที่ 5.29%" นายฉัตรชัยกล่าว

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า NPL ของธนาคารออมสิน ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2560 (30 ก.ย.) อยู่ที่ 2.31% ของยอดสินเชื่อคงค้างที่ 1.99 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2559 ที่อยู่ที่ 2.04% แต่ช่วงตลอด 9 เดือนที่ผ่านมาธนาคารก็สามารถบริหารจัดการให้ NPL ลดลงได้ราว 3,000 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปีนี้ จะจัดการให้อยู่ที่ 2.2% ได้

นอกจากนี้ NPL ของธนาคารออมสิน ณ สิ้นไตรมาส 3 ถือว่าอยู่ระดับต่ำกว่า เมื่อเทียบกับ 4 ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ที่มี NPL ตั้งแต่ 2.73% ไปจนถึง 4.42%

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ณ สิ้นไตรมาส 2 ของปีบัญชี 2560/2561 (สิ้น ก.ย.) ธ.ก.ส.มี NPL อยู่ที่ 5.75% ของสินเชื่อคงค้างจำนวน 1.29 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีที่มี NPL ที่กว่า 4% เนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมาเกษตรกรลูกค้าต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้ง แถมยังมีสถานการณ์น้ำท่วม ราคาพืชผลตกต่ำตามมาอีก ซึ่งแม้ว่าทาง ธ.ก.ส.จะมีมาตรการขยายระยะเวลาชำระหนี้ไปเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ก็มีการตั้งสำรองหนี้ในส่วนที่จำเป็น ทำให้ตอนนี้ธนาคารมีเงินสำรองส่วนเกินกว่า 300%

"ตัวเลข 5.75% ส่วนหนึ่งเป็นเอ็นพีแอลที่ยกมาจากปีก่อน และเป็นช่วงต้นฤดู หลังจากนั้นพอเกษตรกรมีรายได้เข้ามา รวมถึงตั้งแต่ไตรมาส 3 นี้เป็นต้นไป เราจะให้พนักงานออกไปพบกับลูกค้า โดยจะจัดลำดับความสำคัญลูกค้าแต่ละราย ซึ่งรายที่ต้องดูแลใกล้ชิดก็จะไปให้ครบทุกราย และคาดว่าในสิ้นปีบัญชี (สิ้นเดือน มี.ค. 2561) เอ็นพีแอลจะลดลงมาอยู่ใกล้เคียงเป้าหมายที่ 4% ได้" นายอภิรมย์กล่าว

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า นับตั้งแต่ปลายปี 2559 ที่ ธปท.ได้รับมอบอำนาจจากกระทรวงการคลังให้เข้าไปกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือแบงก์รัฐ กระทั่งปัจจุบัน ธปท.ก็มีการเพิ่มความเข้มข้นในการกำกับดูแลแบงก์รัฐมากขึ้น โดยในอนาคตแบงก์รัฐก็จะต้องปรับตัวเพื่อไปใช้เกณฑ์หรือมาตรฐานเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ จากปัจจุบันที่ยังมีกฎเกณฑ์บางอย่างยังไม่เท่าเทียมกัน

พร้อมยกตัวอย่าง ปัจจุบันธนาคารเฉพาะกิจของรัฐยังอยู่ภายใต้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ (บาเซิล 2) ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขยับไปบาเซิล 3 แล้ว หรือการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (LCR) ที่แบงก์รัฐยังไม่ได้นำมาปรับใช้ เป็นต้น

"สิ่งเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาในการปรับตัว แต่สุดท้ายก็ควรต้องเท่าเทียมกัน และอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน แต่ขึ้นกับว่า แบงก์รัฐเองจะปรับตัวได้ขนาดไหนด้วย ซึ่งเราไม่ได้กำหนดเวลา" นางสาวดารณีกล่าว

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ข่าวบ้านมือสอง อื่นๆ