รถไฟไทย-ญี่ปุน เคาะปี62 แบ่ง3ตอนถึงพิษณุโลก-จี้สนข.เสนอครม.ใน3เดือน
Loading

รถไฟไทย-ญี่ปุน เคาะปี62 แบ่ง3ตอนถึงพิษณุโลก-จี้สนข.เสนอครม.ใน3เดือน

วันที่ : 19 พฤศจิกายน 2560
รถไฟไทย-ญี่ปุน เคาะปี62 แบ่ง3ตอนถึงพิษณุโลก-จี้สนข.เสนอครม.ใน3เดือน

"อาคม" เคาะความชัดเจนรถไฟไทย-ญี่ปุ่นเส้นกรุงเทพฯ-เชียงใหม่สร้างปี 62 วงเงินเบื้องต้น 4.9 แสนล้าน เผยปีหน้าออกแบบรายละเอียดและกระบวนการร่วมทุนแล้วเสร็จเร่งเสนอครม.เห็นชอบ แบ่งเฟสแรกกรุงเทพฯ-พิษณุโลกออกเป็น 3 ตอนก่อสร้าง มอบให้สนข.เร่งกำหนดกรอบระยะเวลาเสนอครม.ใน 3 เดือน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความชัดเจนโครงการก่อสร้างรถไฟภายใต้ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างฝ่ายญี่ปุ่นศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโดยช่วงแรกเริ่มจากกรุงเทพฯ-พิษณุโลก และช่วงที่ 2 จากพิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 672 กิโลเมตร วงเงินลงทุนกว่า 4.9 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ในเบื้องต้นนั้นช่วงแรกกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตรอาจแบ่งออกเป็น 3 ตอนโดยจะก่อสร้างช่วงจากกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยาหรืออาจขยายไปถึงจังหวัดลพบุรีให้ได้ก่อนเพื่อให้สามารถเปิดเดินรถได้ในช่วงแรกก่อนที่จะทยอยเปิดให้บริการแต่ละสถานีต่อเนื่องกันไปได้ โดยคาดว่าจะสามารถเร่งออกแบบให้เสร็จในปี 2561 นี้ ปี 2562 เริ่มก่อสร้างและเปิดให้บริการในปี 2564-2565 ต่อไป

นอกจากนั้นฝ่ายญี่ปุ่นยังเสนอแนะให้ใช้ประโยชน์ด้านการพัฒนาเมืองทั้งตามแนวเส้นทางและตามพื้นที่โดยรอบสถานีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยเฉพาะรูปแบบการพัฒนาเมืองรอบสถานี(TOD) ที่ดำเนินการในญี่ปุ่น โดยสามารถพัฒนาควบคู่ไปกับการก่อสร้างรถไฟเส้นทางดังกล่าวนี้ เบื้องต้นนั้นในเส้นทางนี้มี 6 เมืองหลักที่ฝ่ายไทยเตรียมแผนการพัฒนารองรับเอาไว้ด้วยแล้วนั้นซึ่งรอเพียงการศึกษาเพิ่มเติมของฝ่ายญี่ปุ่นในครั้งนี้ด้วย

ประการสำคัญในการศึกษาครั้งนี้ฝ่ายญี่ปุ่นยังได้ศึกษาถึงรูปแบบการร่วมลงทุนให้ฝ่ายไทยว่ารูปแบบไหนจะเหมาะสมโดยเบื้องต้นฝ่ายญี่ปุ่นเสนอให้รัฐบาลไทยลงทุนเองทั้งหมด แต่ฝ่ายไทยเห็นว่าหากเป็นการร่วมลงทุนน่าจะเกิดประโยชน์กับฝ่ายไทยมากกว่า เพื่อแบ่งเบาภาระงบประมาณของรัฐบาลได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากอายุสัญญายาวนานถึง 30 ปีน่าจะดึงดูดใจนักลงทุนได้ไม่มากก็น้อย

"ปีนี้น่าจะยังคงเป็นในเรื่องการเร่งรัดผลการศึกษา มีการประมาณค่าการลงทุนเบื้องต้นเอาไว้แล้วเพื่อเสนอรัฐบาลว่าจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปอย่างไร หลังจากนั้นจึงจะเร่งออกแบบรายละเอียดช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ให้สามารถก่อสร้างได้เร็วขึ้น อาจเริ่มดำเนินการทีละหนึ่งหรือสองสถานีก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น ส่วนกรอบระยะเวลาดำเนินโครงการนั้นอยู่ระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ไปดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ภายใน 3 เดือนนี้"

นายอาคมกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในกระบวนการดำเนินโครงการออกแบบรายละเอียดนั้นฝ่ายญี่ปุ่นค่อนข้างจะใช้เวลานานจึงได้เร่งรัดให้แล้วเสร็จเร็วขึ้น แบ่งตอนดำเนินการจะรวดเร็วกว่าหรือไม่ หากสามารถลดระยะเวลาการออกแบบได้เร็วขึ้นคาดว่าปี 2562-2563 จะสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ซึ่งหากใช้รูปแบบดำเนินการพร้อมกันทั้ง 6 สถานีจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปีสำหรับการพัฒนาเมืองนั้นจะเริ่มต้นในจุดสถานีและโดยรอบ ซึ่งรูปแบบ TOD จะอำนวยความสะดวกให้การเดินทางของประชาชนสะดวกสบายรวดเร็วยิ่งขึ้นจากศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่มีรถไฟฟ้าเป็นเมนหลัก ส่วนพื้นที่รอบสถานีก็จะให้แต่ละเมืองรับไปดำเนินการให้สอดคล้องต่อไป ให้สอดคล้องกับการวางผังเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจนั่นเอง

"เบื้องต้นนั้นฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายญี่ปุ่นคำนวณระยะเวลาใหม่อีกครั้งในการก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลกให้แล้วเสร็จคราวเดียวเลย ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นแนะนำว่าน่าจะใช้รูปแบบดีไซน์แอนด์บิวต์นั่นคือทยอยก่อสร้างเป็นตอนๆ ไป น่าจะทำได้รวดเร็วขึ้น ดังนั้นหากปี 2561 สามารถรวบรวมข้อมูลนำเสนอครม.เห็นชอบได้เร็วก็จะสามารถเร่งงานออกแบบรายละเอียดให้แล้วเสร็จในปี 2561 ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้นก็จะพิจารณาเรื่องรูปแบบการลงทุนควบคู่กันไปด้วย ประการสำคัญเรื่องการพัฒนาเมืองนั้นฝ่ายไทยก็ได้ศึกษาควบคู่กันไปด้วยแต่มีผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายญี่ปุ่นมาให้คำแนะนำ รูปแบบของสถานีกลางบางซื่อจึงจะออกแบบให้เป็นสมาร์ท ซิตีและบิสิเนสเซ็นเตอร์ให้สอด คล้องกับการพัฒนาโครงการซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นก็ได้ศึกษาในการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อให้กับฝ่ายไทยในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน"

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ