คมนาคมเข็นรถไฟทางคู่-สีแดงต่อขยาย ชงครม.ต้นปี61เทเปิดประมูล5.2แสนล.
คมนาคม คาดชงรถไฟทางคู่ ระยะ 2 และรถไฟสายสีแดงต่อขยาย วงเงินกว่า 5.2 แสนล.เข้าครม.อนุมัติได้ในต้นปี 61 ขณะที่ร.ฟ.ท. พร้อมเดินหน้าประมูลหาผู้รับจ้างก่อสร้างทันที ส่วนรถไฟฟ้าสีส้ม ตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนฯ-ตลิ่งชันและสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 เร่ง รฟม.ศึกษา PPP เดินรถ
นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง (Action Plan) ปี 2560 จำนวน 36 โครงการ วงเงินลงทุน 895,757.55 ล้านบาท ว่า ในส่วนของระบบรางในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศ ไทย (ร.ฟ.ท.) จำนวน 12 โครงการ วงเงิน 524,635.36 ล้านบาทนั้น อยู่ระหว่างสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) 3 โครงการคือ รถไฟสายสีแดงเข้ม รังสิต-มธ.รังสิต วงเงิน 7,596.94 ล้านบาท สายสีแดงอ่อน ศิริราชตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 17,671.61 ล้านบาท รถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วง เด่นชัยเชียงของ วงเงิน 85,345 ล้านบาท
ส่วนรถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 57,374.70 ล้านบาท ร.ฟ.ท. ทำข้อมูลครบแล้ว กำลังเตรียมสอบถามความเห็นหน่วยงาน ส่วนที่เหลือ ร.ฟ.ท. เตรียมทยอยทำข้อมูลเพิ่มเติมเสนอมา ยังกระทรวงคมนาคม ได้แก่ ช่วงชุมพรสุราษฎร์ธานี วงเงิน24,293.54 ล้านบาท ช่วงสุราษฎร์ธานี-สงขลา วงเงิน 51,823.28 ล้านบาท ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 57,374.70 ล้านบาท ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย วงเงิน 62,624.17 ล้านบาท ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน 37,431.22 ล้านบาท ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 26,662.40 ล้านบาท ช่วงเด่นชัยเชียงใหม่ วงเงิน 59,924.24 ล้านบาท และทางคู่สายใหม่ช่วง บ้านไผ่-นครพนม วงเงิน 65,738.91 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถทยอยนำเสนอ ครม.ขออนุมัติได้หมดภายในต้นปี 2561 ซึ่งหาก ครม.เห็นชอบจะสามารถเปิดประมูลได้ทันที ซึ่งภายในเดือน ธ.ค.นี้ กระทรวงคมนาคม จะติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างศึกษาเดินรถ รูปแบบการลงทุน PPP โดยรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน ระยะทาง 16.4 กม. วงเงินลงทุน 109,342 ล้านบาทนั้น รฟม. ศึกษา PPP การเดินรถตลอดสาย ทั้งด้านตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งอาจจะรวมการลงทุนโยธาในส่วนของสายสีส้ม ด้านตะวันตกไปด้วยหรือไม่ ส่วนรถ ไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 วงเงิน 21,197 ล้านบาทนั้น รฟม.อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการลงทุนและการเดินรถเช่นกัน
รายงานข่าวแจ้งว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้รฟม.ศึกษาความเหมาะสมของรูปแบบการลงทุน รถไฟฟ้าให้รอบ คอบและลดภาระการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งในส่วนของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 นั้น มีระยะทางประมาณ 8 กม.การหาผู้เดินรถรายใหม่อาจจะไม่จูงใจ ซึ่งอาจต้องศึกษาความเป็นไปได้ในการให้ ผู้เดินรถสายสีน้ำเงิน คือบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM รับดำเนินการก่อสร้างและเดินรถด้วย.