เร่งเดินหน้ารถไฟฟ้า
Loading

เร่งเดินหน้ารถไฟฟ้า

วันที่ : 3 มกราคม 2561
เร่งเดินหน้ารถไฟฟ้า

เมื่อพูดถึงระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ที่อำนวยความสะดวกสบายในการเดินทาง คงหนีไม่พ้น "รถไฟฟ้า" ที่สามารถตอบโจทย์การเดินทางในปัจจุบันได้ดีที่สุด ซึ่งตามแผนรัฐบาลได้พยายามเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าระยะแรกให้แล้วเสร็จตามแผน โดยล่าสุดมีหลายโครงการที่ได้เริ่มเดินหน้าไปแล้ว อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ปัจจุบันมีความก้าวหน้า 96.42% โดยในส่วนของงานก่อสร้างโครงสร้างเหล็กทางวิ่งรถไฟฟ้าช่วงข้ามทางแยกบางพลัด มีความคืบหน้า 82% และบริเวณแยกไฟฉาย มีก้าวหน้ารวม 91.64% มีกำหนดจะเปิดให้บริการช่วงหัวลำโพง-บางแค ในปี 2562 และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ เปิดให้บริการในปี 2563

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ปัจจุบันมีความก้าวหน้า 48.56% โดยมีงานก่อสร้างที่สำคัญ ได้แก่ งานก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามแยกเกษตรศาสตร์ มีความก้าวหน้า 66.39% เปิดให้บริการปี 2561 งานก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามแยกรัชโยธิน มีความคืบหน้า 64.12% เปิดให้บริการปี 2561 และงานก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดบริเวณแยกรัชโยธิน มีความคืบหน้า 53.82% เปิดให้บริการปี 2562 นอกจากนี้ยังมีงานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าข้ามทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ บริเวณห้าแยกลาดพร้าว มีความก้าวหน้า 25.68% ทั้งนี้ โครงการมีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการปี 2563

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ปัจจุบัน รฟม. โดยผู้รับจ้างก่อสร้างอยู่ระหว่างการสำรวจสาธารณูปโภคใต้ดิน มีความก้าวหน้า 3.24% ทั้งนี้ โครงการมีกำหนดเปิดให้บริการปี 2566

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เส้นทางแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 46,643 ล้านบาท เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) มีลักษณะเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง โดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่งภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสนับสนุนวงเงินลงทุนบางส่วน และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบและขบวนรถไฟฟ้า และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการดังกล่าวมีกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.ซิโนไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก และลงนามในสัญญาแล้วเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 โดยมีกำหนดเปิดให้บริการปี 2564 ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 45,797 ล้านบาท เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง โครงสร้างยกระดับตลอดสาย โดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่งภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสนับสนุนวงเงินลงทุนบางส่วน และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบและขบวนรถไฟฟ้า และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการดังกล่าวมีกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture)

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ในขั้นตอนดำเนินการ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ใต้) ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร วงเงิน 101,112 ล้านบาท มีกำหนดเปิดให้บริการปี 2566 ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารประกวดราคา (TOR) คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในเดือนธันวาคม 2560

โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 8 กิโลเมตร กำหนดเปิดให้บริการปี 2566 ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงรายละเอียดเพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคม และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 7 กิโลเมตร วงเงิน 13,700 ล้านบาท มีกำหนดเปิดให้บริการปี 2566 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการ คาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการได้ประมาณเดือนเมษายน 2561

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงคูคต-ลำลูกกา ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร วงเงิน  11,900 ล้านบาท มีกำหนดเปิดให้บริการปี 2566 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการ คาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการได้ประมาณเดือนเมษายน 2561

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะเร่งรัดโครงการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ยังได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ พังงา และภูเก็ต ซึ่ง นายฤทธิกา สุภารัตน์ รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร รักษาการแทนผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ที่มี พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานบอร์ด ให้รฟม.ดำเนินการก่อสร้างรถไฟรางเบาภูเก็ต และเชียงใหม่ ซึ่งหลังจากนี้ รฟม.จะเสนอร่างดังกล่าวต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม.อนุมัติต่อไป จากนั้น รฟม.จะนำเอาผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่ได้มีการศึกษาเส้นทางไว้แล้วนั้นนำมาศึกษาความเหมาะสม สิ่งแวดล้อม เพื่อออกแบบการก่อสร้างรถรางภูเก็ตและรถไฟฟ้าของเชียงใหม่ จากนั้นจะเสนอให้ ครม.อนุมัติการก่อสร้างอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับโครงการรถรางภูเก็ตนั้น คาดว่า ครม.จะอนุมัติภายใน ต.ค.61 และเริ่มก่อสร้าง ธ.ค.ปี 62 ส่วนรถไฟฟ้าเชียงใหม่คาด ครม.จะอนุมัติ ม.ค.62 เริ่มก่อสร้าง มี.ค.63 และ รฟม.มีกำหนดการเปิดรถไฟฟ้า และเปิดให้บริการทั้ง 2 สาย ภายในปี 66 ส่วนรูปแบบการลงทุนอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะใช้รูปแบบไหนให้เอกชนร่วมทุนหรือแบบพีพีพี หรือรัฐอาจจะลงทุนการก่อสร้างและให้เอกชนมาลงทุนการเดินรถ หรืออาจจะให้เอกชนลงทุน 100% ก็ได้

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้คือภารกิจที่สำคัญของ รฟม.ที่จะต้องเร่งรัดดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ เพื่อให้เกิดเป็นโครงข่ายรถไฟฟ้าที่รองรับการเดินทางของประชาชนได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนช่วยส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศในอนาคต

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ