เอกชนมั่นใจเทลงทุน บีทีเอสทำ 3 แสนล้านลุยรถไฟฟ้า-ทางคู่
Loading

เอกชนมั่นใจเทลงทุน บีทีเอสทำ 3 แสนล้านลุยรถไฟฟ้า-ทางคู่

วันที่ : 4 มกราคม 2561
เอกชนมั่นใจเทลงทุน บีทีเอสทำ 3 แสนล้านลุยรถไฟฟ้า-ทางคู่

เตรียมงบนับแสนล้านพร้อมลุย

จากสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว ภาครัฐประกาศเร่งเครื่องเพิ่มงบลงทุนภาครัฐโตถึง 11.8% พร้อมเรียกร้องให้เอกชนตัดสินใจลงทุนทันที "ฐานเศรษฐกิจ" สำรวจธุรกิจแถวหน้าต่างขานรับ ยืนยันเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยพร้อมใส่เม็ดเงินลงทุนเต็มที่

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในปี 2561 จะใช้งบประมาณ 2 หมื่นล้านบาทเพื่อลงทุนในโครงการต่อเนื่องที่มีอยู่ อาทิ โครงการ PO/P0lyol เป็นการลงทุนโครงการโพลียูรีเทนครบวงจรมีกำลังการผลิตโพลีออล 1.3 แสนตันต่อปี และPU Systems กำลังการผลิต 2 หมื่นตันต่อปี อยู่ระหว่างการออกแบบขั้นสุดท้าย คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า กำหนดผลิตเชิงพาณิชย์ได้ประมาณปี 2563

5ปีพีทีทีจีซีอัด1.8แสนล้าน

ส่วนโครงการ Map Ta Phut Retrofit เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันก่อสร้างโรงงานแนฟทาแครกเกอร์กำลังการผลิตเอทิลีน 5 แสนตันต่อปีและโพรพิลีน 2.5 แสนตันต่อปีอยู่ระหว่างรอผลการประมูลก่อสร้าง ปัจจุบันยังไม่เสร็จ น่าจะตัดสินใจขั้นสุดท้ายการลงทุนโครงการภายในไตรมาส 2 ปี 2561 กำหนดผลิตเชิงพาณิชย์ปี 2563

แผนลงทุน 5 ปี (ปี2560-2564) ของบริษัทใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในโครงการพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 1.3 แสนล้านบาท, การลงทุนบางส่วนในโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ จ.นครสวรรค์ ของบริษัท จีจีซี (บริษัทลูก) ส่วนที่เหลืออีก 5 หมื่นล้านบาทจะใช้รองรับการลงทุนในโครงการสร้างการเติบโตในกลุ่มประเทศ CLMV ทั้งกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ส่วนแผนลงทุน 5 ปี (2561-2565) ของบมจ.ปตท.วงเงินอีก 3.4 แสนล้านบาท

บีทีเอสลงทุนกว่า 3 แสนล.

ด้านนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัทบีทีเอส โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากแผนรัฐบาลลงทุนใหม่โครงสร้างพื้นฐาน ของประเทศในปี2561 เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม รถไฟทางคู่ ถ้าทีโออาร์ออกมาแล้วเหมาะสมบีทีเอสพร้อมปักหมุดประมูลแน่นอน"คาดว่าการลงทุนจะอยู่ที่ราว 3 แสนล้านบาท ผมได้ตั้งงบลงทุนไว้แล้ว โดยจะเข้าประมูลในนามพันธมิตรกลุ่มบีเอสอาร์ (บีทีเอส,ซิโน-ไทยเอ็นจิเนียริ่ง, บริษัททางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)"

ทั้งนี้ ในปี2563 บีทีเอสคาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการถึง 2 ล้านคนต่อวันที่ใช้บริการรถไฟฟ้าทุกระบบทั้งสายสีเขียว ชมพู เหลือง  ที่จะทำให้รายได้โตมาก จากที่บีทีเอสบริหารรถไฟฟ้าปัจจุบัน 38 กิโลเมตร จะเพิ่มมาเป็นกว่า 144 กิโลเมตร

ส่วนการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัทยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือบีทีเอส กรุ๊ป ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาคอนโดมิเนียมร่วมกับทางบริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) ตามแผนจะทำทั้งหมดราว 20 โครงการ มูลค่าโครงการกว่า 1 แสนล้านบาทที่ทำไปแล้ว 10 โครงการ เหลืออีกกว่า 10 โครงการที่อยู่ในแผนการพัฒนา ส่วนธุรกิจโรงแรมนอกจากการไปซื้อโรงแรมในยุโรปภายใต้แบรนด์เวียนนา เฮ้าส์ กว่า 24 แห่ง ล่าสุดก็เพิ่งไปดูมาอีก2เชนโรงแรมในยุโรป เชนหนึ่งออกไปด้านรีสอร์ตและสปาเพื่อสุขภาพ ขนาดพอๆ กับเวียนนาเฮ้าส์ อีกเชนเป็นโรงแรมในเมือง ไม่เกิน 200 ห้อง ถ้าตกลงได้ก็จะซื้อเพิ่มอีกคาดว่าน่าจะใช้เงินอีกราวกว่า 1 หมื่นล้านบาท

เซนทรัลลุยสาขา-ไอที

ขณะที่กลุ่มค้าปลีก อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจากแผนลงทุนใหญ่ของผู้ประกอบการแถวหน้าทั้งกลุ่มเซ็นทรัล และเดอะ มอลล์ กรุ๊ป โดยนายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ประกาศเดินหน้าขยายการลงทุนต่อเนื่องภายใต้แนวคิด "ดิจิทัล เซ็นทราลิตี้" ด้วยเพราะความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยว่าจะฟื้นตัว และการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศขับเคลื่อนไปในทิศทางที่เป็นบวกได้

โดยในปี 2561 กลุ่มเซ็นทรัลมีแผนลงทุนในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ด้วยเม็ดเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ใช้เงินลงทุนราว 3,000-4,000 ล้านบาท นอก จากนี้ยังใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท ในการปรับปรุงศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการขยายสาขาใหม่และการเปิดให้บริการเซ็นทรัล ภูเก็ต, โรบินสัน ชลบุรี และการก่อสร้างเซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ปี 2561 ด้วย

สำหรับเม็ดเงินลงทุนดังกล่าวยังไม่นับรวมการซื้อกิจการหรือการควบรวมกิจการ (Mer gers and Acquisitions: M&A) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2561ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลเองสนใจและอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อกิจการในหลายธุรกิจ เช่น ในปี 2560 กลุ่มเซ็นทรัลร่วมทุนเจดีดอตคอม ใช้เงินลงทุน 1.75 หมื่นล้านบาท เปิดตัวออนไลน์ช็อปปิ้ง "เจดี เซ็นทรัล" เป็นต้น

ไทยเบฟลงปีละ5พันล้าน

เช่นเดียวกันค่ายไทยเบฟ ภายใต้การนำของ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)  ที่เชื่อมั่นว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะดีขึ้นตามลำดับ หลังจากที่รัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจจนดัชนีเริ่มมีสัญญาณบวกตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา  และยังมีมาตรการต่างๆ ออกมากระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภค เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น ขณะที่การลงทุนต่อเนื่องนับจากนี้ จะยังคงใช้เม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 ตามแผนวิชัน 2020 ของกลุ่มด้วย

ด้านแผนการลงทุนในปี 2561  ไทยเบฟจะใช้เงินลงทุน 7,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ใช้ไป 5,200 ล้านบาทเพื่อสร้างการเติบโตให้กับองค์กร ภายใต้วิชันการก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน โดยการลงทุนจะมีทั้งในกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่เบียร์และสุรา กลุ่มเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ และธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นโออิชิ ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมการเข้าควบรวมกิจการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  เช่นเดียวกับการเข้าซื้อหุ้น KFC มูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา

ดีแทคยันลงทุนตลาดไทย

ด้านธุรกิจผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ปี 2561 นี้จะมีการเปิดประมูลคลื่นล็อตใหญ่อีกรอบ นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค  เปิดเผยว่า  ดีแทค มีความเชื่อมั่นว่าตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่จะยังคงเติบโตได้ หากเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีอย่างที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ จากความต้องการใช้งานข้อมูลยังมีการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ที่สูง และจำนวนผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรุ่นที่สามารถรองรับ 4G ได้ ซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก นอกจากนี้การผลักดันจากรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ก็จะช่วยให้ความต้องการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

สำหรับปี 2561 เป็นปีที่สำคัญของดีแทค เนื่องจากสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1800 จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์จะหมดอายุลง อย่างไรก็ตามดีแทคยังคงมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการใช้งานของลูกค้า แต่บริษัทอาจจะต้องรอความชัดเจนในส่วนของการประมูลและการเซ็นสัญญากับทีโอที เพื่อที่จะอัพเดตแผนการลงทุนต่อไป

ทั้งนี้นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ชี้ว่า มีแผนจะเปิดประมูลล่วงหน้า คาดเป็นเดือนมิถุนายน 2561 โดยส่วนตัวต้องการให้ราคาไม่ต่ำกว่าราคาใบอนุญาตเดิมที่ประมูลครั้งก่อน คือที่ 45,000 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาตในความถี่  15 เมกะเฮิรตซ์ หรือขั้นต้น 3 ใบ 135,000 ล้านบาท

สยามแก๊สฯพุ่งเป้าไปจีน

นายวรวิทย์ วีรบวรพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลล์ฯ(SGP) เปิดเผยว่าบริษัทมีแผนขยายการลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่ง SGP ลงทุนก่อนหน้านี้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว โดยจะเพิ่มเติมขยายการลงทุนในรูปแบบการขนส่งก๊าซขึ้นรถไฟเข้า ไปขายในดินแดนตอนใน จากปกติที่ค้าส่งก๊าซขอบชายทะเลเท่านั้น

นอกจากนี้ สยามแก๊สฯ จะขยายการลงทุน การขายก๊าซ LNG ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมในจีน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าถูก เหมาะกับอุตสาหกรรม หรือชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่ง LNG จะได้ปริมาณการขายจำนวนมากแม้ว่าราคาจะต่ำกว่า LPG ที่มีคุณภาพสูงและราคาดีกว่า

ปัจจุบัน SGP มีโรงบรรจุก๊าซใหญ่ที่สุดในประเทศจีน จำนวน 3 แสนตัน คือ คลังก๊าซเมืองซัวเถา 1 แสนตัน และเมืองจูไห่ 2 แสนตัน ถือเป็นบริษัทเอกชนรายใหญ่อันดับ 1 ในจีน ที่มีมูลค่าการขาย 720 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีส่วนแบ่งตลาด 65% ของตลาดจีนตอนใต้ที่มีทั้งหมด 1 ล้านตัน โดยกว่าครึ่งเป็นของ SGP

นายวรวิทย์ กล่าวถึง แผนการลงทุนในประเทศไทย เตรียมการลงทุนใหม่ ๆ ต่อยอดธุรกิจเดิมที่มีอยู่ เช่น ธุรกิจถังก๊าซและธุรกิจโรงไฟฟ้า ส่วนรายละเอียดนั้นอยู่ระหว่างการจัดทำแผนซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้

"การลงทุนในประเทศจีน เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา หรือปี 2553 ซึ่งเป็นการซื้อกิจการมาจากเชฟรอน หลังวิกฤติแฮมเบเกอร์ เป็นการซื้อของถูก ปัจจุบันคุ้มทุนนานแล้ว ที่จีนเป็นตลาดใหญ่ มีศักยภาพการเติบโตสูง สยามแก๊ส ถือเป็นเอกชนรายใหญ่ที่มียอดขายเกินครึ่งของจีนตอนใต้ แผนปีหน้าจะขยายการขายก๊าซ เข้าไปขายในดินแดนตอนใน โดยการขนส่งทางรถไฟเข้าไป ซึ่งจะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นมาก จากปกติที่ขายตรงจากคลังแก๊สที่อยู่ริมชายทะเลเท่านั้น" นายวรวิทย์ กล่าวและว่าสยามก๊าซถือเป็นเบอร์ 1 ในเอเชียในด้าน LPG ทั้งในแง่มาร์เก็ตแชร์ และประเทศที่ไปลงทุน ซึ่งมีทั้งจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย บังกลาเทศ และเมียนมา

พฤกษาฯบุกหัวเมือง

นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลยุทธ์ของพฤกษา จะเน้นจังหวัดที่มีการท่องเที่ยวและจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรม (เกี่ยวกับการส่งออก)โดยขณะนี้มีแผนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่อีอีซี และที่เชียงใหม่กับภูเก็ต ในกรุงเทพฯ เศรษฐกิจก็เติบโตดีสำหรับคนชั้นกลางหรือมนุษย์เงินเดือน แต่ต่างจังหวัดโดยรวมกำลังซื้อลด แม้เศรษฐกิจจะดีขึ้น โดย มองจังหวัดที่จีดีพีเกิน 5,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าต่ำกว่านี้ยังไม่ไป เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านกำลังซื้อ คือ มีการท่องเที่ยว มีโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่จะเพื่อส่งออก ปัจจุบันจังหวัดที่มีระดับจีดีพีเกิน 5,000 ล้านบาทมีประมาณ 6 จังหวัด อันดับแรก ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น ระยอง หาดใหญ่- สงขลา (จะไปสุราษฎร์ธานีก่อน เพราะหาดใหญ่การขนส่งค่อนข้างไกล) เพราะคนจาก3 จังหวัดชายแดนใต้โยกมาอยู่มาก

ใน 6 จังหวัดนี้ ระยองมีการเติบโตมากที่สุด เป็นจังหวัดดาวรุ่ง ส่วนฉะเชิงเทรา แม้จะเป็นจังหวัดในกลุ่มอีอีซี ปัจจุบันรายได้ในภาพรวมยังไม่ถึง 5,000 ล้านบาท แต่ก็น่าสนใจเพราะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และจะมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจากดอนเมือง ถึงสุวรรณภูมิ ถึงสนามบินอู่ตะเภา

แผน5ปี (2560-64) พีทีทีจีซี จะใช้เงินลงทุน 1.8 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในอีอีซี'

'ลงทุนต่อเนื่องใต้แนวคิดดิจิตอล เซนทราลิตี้ ปี2561 นี้ ลงทุนระบบไอที 1 หมื่นล้าน'

'เชื่อมั่นเศรษฐกิจดีขึ้น มุ่งวิชัน 2020 ลงทุนต่อเนื่องถึง 2563 ปีละ 5 พันล้าน'

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ