ชงโมโนเรลภูเก็ต-เชียงใหม่เข้าครม.-ขอนแก่นส่อยื้อติดPPP
สนข.เร่งชง ครม.อนุมัติโมโนเรลแก้รถติดหัวเมืองใหญ่ ประเดิม "ภูเก็ตเชียงใหม่" ดึงเอกชน PPP ส่วนขอนแก่น รอนโยบายรัฐเคาะ งง! เอกชนท้องถิ่นเดินหน้าประมูล เผยหากสนใจต้องเข้ากระบวนการกฎหมายร่วมทุนเท่านั้น
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นประธาน ได้รับทราบผลการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะใน 5 เมืองภูมิภาค ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมาและหาดใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาจราจร คิดเป็นเงินลงทุนรวม 131,525 ล้านบาท
ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายให้เร่งโครงการที่ภูเก็ตและเชียงใหม่ โดยให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP ระยะเวลา 30 ปี 40 ปี และ 50 ปี โดยรัฐจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเอกชนลงทุนงานระบบ ซึ่งโครงการถูกบรรจุไว้ใน PPP Fast Track ปี 2560 แล้ว
"จะเดินหน้าภูเก็ตก่อน กระทรวงมอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหรือ รฟม.เป็นผู้ดำเนินการ อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบ PPP จะเป็นรูปแบบไหน Net Cost (สัมปทาน) หรือ Gross Cost (จ้าง) เพราะ สนข.ศึกษาแค่แผนแม่บทให้เป็นระบบไหนถึงจะเหมาะสมกับพื้นที่ ที่เหลือเป็นหน้าที่ของ รฟม.ทางรองนายกฯ สมคิดต้องการจะให้ได้ผู้ลงทุนภายในปี 2561"
เนื่องจากภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวมากกว่า 12 ล้านคน ผลการศึกษาความเหมาะสมที่ออกมาเป็นรถไฟฟ้ารางเบาหรือไลต์เรล เป็นเส้นทางสายใหม่จากสุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต ระยะทาง 58.25 กม. เงินลงทุนทั้งโครงการ 39,406.06 ล้านบาท
จุดเริ่มต้นอยู่สถานีรถไฟท่านุ่น จ.พังงา เชื่อมกับระบบรถไฟสายใหม่เส้นทาง จ.สุราษฎร์ธานี ถึง จ.พังงา ส่วนจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ทางเหนือของห้าแยกฉลอง บน ถ.เจ้าฟ้าตะวันออก ห่างจากห้าแยกฉลอง ประมาณ 200 เมตร มี 24 สถานี เป็นสถานียกระดับ 1 สถานีที่สนามบินภูเก็ต เป็นสถานีใต้ดิน 1 สถานี ที่สถานีถลาง และมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง บริเวณ อ.ถลาง
แบ่งสร้าง 2 เฟส ระยะแรกจาก ท่านุ่น-สนามบินภูเก็ต และระยะที่ 2 จากสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง
สำหรับเชียงใหม่ ผลการศึกษาเสร็จแล้วและเสนอไปที่กระทรวงคมนาคมแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบและวงเงินลงทุนโครงการ เนื่องจากเงินลงทุนโครงการแตกต่างกันมากถึง 3 เท่า ระหว่างการก่อสร้างระดับดินผสมใต้ดินและใต้ดินทั้งหมด เมื่อกระทรวงได้ข้อสรุปแล้ว จะนำเสนอให้ คจร.พิจารณาต่อไป ก่อนจะเริ่มขั้นตอน PPP
รูปแบบที่เหมาะสมเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา สร้างอยู่ในพื้นที่เขตเมือง มี 3 เส้นทางให้เลือก ระหว่าง เป็นทางวิ่งบนดิน และใต้ดินร่วมกัน เงินลงทุนรวม 106,895 ล้านบาท และทางวิ่งบนดินทั้งหมด เงินลงทุน 28,419 ล้านบาท
ได้แก่ 1.สายสีแดงโรงพยาบาลนครพิงค์-ศูนย์ราชการเชียงใหม่-สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี-ศูนย์ประชุมนานาชาติ-สถานีตำรวจช้างเผือก-แยกข่วงสิงห์-มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่สถานีขนส่งช้างเผือก-โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม-โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่-ร.ร.วัฒโนทัยพายัพ-สนามบินเชียงใหม่-สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่-ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีหางดง
2.สายสีเขียวแยกรวมโชค-แยกแม่โจ้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล-สถานีขนส่งอาเขต-โรงพยาบาลแมคคอร์มิคเชียงใหม่-ร.ร.ดาราวิทยาลัย-ร.ร.ปรินส์รอแยลส์วิทยาลัย-ตลาดวโรรส (กาดหลวง)-เทศบาลนครเชียงใหม่-ย่านเชียงใหม่ไนท์บาซาร์-ร.ร.เรยีนาเชลีวิทยาลัย-ร.ร.พระหฤทัย-ร.ร.มงฟอร์ตวิทยาลัย-เชียงใหม่แลนด์-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา-เชียงใหม่แอร์พอร์ต-มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น-สนามบินเชียงใหม่
และ 3.สายสีน้ำเงิน สวนสัตว์เชียงใหม่-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แยกตลาดต้นพยอม-รพ.มหาราชนครเชียงใหม่-วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร-ประตูท่าแพ-ย่านเชียงใหม่ไนท์บาซาร์ตลาดสันป่าข่อย-สถานีรถไฟเชียงใหม่-แยกหนองประทีป-ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีดอนจั่น-ห้างสรรพสินค้าพรอมเมนาดา
ส่วนขอนแก่น ผอ.สนข.กล่าวว่า ผลการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ ซึ่ง สนข.ศึกษาเป็นแผนแม่บทอย่างเดียว ส่วนการลงทุนอยู่ที่นโยบายของรัฐบาล หากเอกชนท้องถิ่นสนใจจะลงทุนจะต้องดำเนินการตามขั้นตอน PPP
รูปแบบโครงการเป็นรถไฟฟ้ารางเบา แนวเส้นทางเชื่อมการเดินทางแนวเหนือ-ใต้ จากบ้านสำราญ-บ้านท่าพระ ระยะทางประมาณ 22.8 กม. มี 16 สถานี เงินลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท
"การที่เอกชนท้องถิ่นยื่นประมูลโครงการยังไม่ทราบรายละเอียด แต่ สนข.ศึกษาแผนแม่บทไว้ เมื่อเสร็จแล้วเสนอไปที่กระทรวงคมนาคม คาดว่าจะเสนอกลางเดือน ม.ค.นี้ เพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาโครงการ อาจจะให้ รฟม.ดำเนินการเหมือนที่ภูเก็ต และให้เอกชนร่วม PPP งานระบบและจัดหารถ"
ด้าน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล เริ่มจากคลองหวะ-สถานีรถตู้ ระยะทาง 12.54 กม. มีสถานี 12 สถานี มูลค่าลงทุน 16,100 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับแก้รายงานอีไอเอ
ขณะที่นครราชสีมา ผลศึกษาใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเบา เป็นระบบหลักในการเดินทางและมีระบบรถโดยสาร เป็นระบบรอง เงินลงทุน 32,600 ล้านบาท
แบ่งเป็น 3 เฟส ระยะแรก เงินลงทุน 14,000 ล้านบาท ระยะที่ 2 เงินลงทุน 4,900 ล้านบาท และระยะที่ 3 เงินลงทุน 13,600 ล้านบาท