รฟท.กางแผนลุย9เส้นทาง คงทีโออาร์1เส้น1สัญญา เริ่มไฮสปีดกรุงเทพฯ-ระยอง
Loading

รฟท.กางแผนลุย9เส้นทาง คงทีโออาร์1เส้น1สัญญา เริ่มไฮสปีดกรุงเทพฯ-ระยอง

วันที่ : 10 มกราคม 2561
รฟท.กางแผนลุย9เส้นทาง คงทีโออาร์1เส้น1สัญญา เริ่มไฮสปีดกรุงเทพฯ-ระยอง

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวถึงแผนการดำเนินโครงการต่างๆ ของ รฟท.ว่า โครงการรถไฟทางคู่อีก 9 เส้นทาง คือ 1.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กิโลเมตร (กม.) 2.ช่วงสุราษฎร์ธานี-สงขลา ระยะทาง 339 กม. 3.ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. 4.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. 5.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 217 กม. 6.ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. 7.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กม. 8.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กม. และ 9.ช่วงบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 กม. ที่ผ่านมา รฟท.ได้นำเสนอรายละเอียดเพิ่มเติมให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว 2 เรื่อง และอยู่ระหว่างนำเสนออีก 3 เรื่อง

นายอานนท์กล่าวว่า ในส่วนรายละเอียดการแบ่งสัญญาก่อสร้างแต่ละเส้นทางออกมามากกว่า 1 สัญญา เหมือนการประกวดราคารถไฟทางคู่ 5 เส้นทางแรกหรือไม่ นั้น เป็นเรื่องที่คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (ซุปเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง) พิจารณา โดยเบื้องต้นจะเสนอรูปแบบการประกวดราคาเดิมให้ 1 เส้นทาง มี 1 สัญญาให้ซุปเปอร์บอร์ดพิจารณาไปก่อน หากผ่านขั้นตอนการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว จะใช้เวลา3 เดือน เริ่มออกเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) ได้

นายอานนท์กล่าวว่า สำหรับรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง เชื่อม 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 260 กม.ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ ซึ่งบอร์ด รฟท.ได้อนุมัติโครงการไปแล้ว อยู่ระหว่างเสนอขอความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดได้ครบภายในสัปดาห์หน้า

"ตอนนี้รูปแบบการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนที่ รฟท.ศึกษาชัดเจนแล้ว รอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร เมื่อได้มาแล้วจะใช้เวลา 2 สัปดาห์สรุปข้อมูลที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งตามแผนงานจะออกทีโออาร์ได้ในไตรมาส 1/2561 และได้ตัวผู้รับสัมปทานเข้ามาดำเนินโครงการได้แน่นอนภายในปีนี้" นายอานนท์กล่าว

นายอานนท์กล่าวว่า สำหรับเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เมื่อผ่านการพิจารณาแล้ว จะตั้งคณะกรรมการมาตรา 35 ขึ้นมาร่างทีโออาร์ หากเปรียบเทียบการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.-ระยอง กับ กทม.-หัวหิน พบว่า กทม.ระยอง เดินหน้าได้เร็วกว่า เพราะไม่จำเป็นต้องเข้าคณะกรรมการพีพีพี แต่เข้าคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (คณะกรรมการอีอีซี) เสร็จก็จบแล้ว ไม่ต้องเข้า สคร.ด้วย เพราะ สคร.เป็นกรรมการในอีอีซีอยู่แล้ว สรุปจะเร็วกว่าแน่นอน" นายอานนท์กล่าว

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ