ที่ดินพุ่งเท่าตัวมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำวุ่น
Loading

ที่ดินพุ่งเท่าตัวมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำวุ่น

วันที่ : 15 มกราคม 2561
ที่ดินพุ่งเท่าตัวมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำวุ่น

ที่ดินพุ่งป่วนมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ ค่าเวนคืนเพิ่มเท่าตัวเป็น 1.8 หมื่นล้าน ทางหลวงเร่งทบทวน หวั่นซ้ำรอย "บางใหญ่-กาญจน์" คาดต้นปีหน้าเปิด PPP ดึงเอกชนลงทุน ด้าน รฟม.เคลียร์ ตอม่อรถไฟฟ้าส้ม-ชมพู-เหลือง สำรวจสายสีม่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ กดปุ่มก่อสร้างปี'62

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภายในปีนี้กรมจะเริ่มการเวนคืนที่ดินก่อสร้างมอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กม. ใช้เงินลงทุน 80,600 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 62,600 ล้านบาท ค่าเวนคืน 18,000 ล้านบาท โดยโครงการนี้จะให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cross รัฐจะเวนคืนที่ดิน และให้เอกชนก่อสร้างงานโยธา ติดตั้งงานระบบ และรับสัมปทานบริหารโครงการ 30 ปี

ปัจจุบันโครงการได้รับอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว ปีนี้จะเริ่มเวนคืน และ ก.พ. 2562 จะเปิดประมูลก่อสร้าง ต่อเชื่อมกับมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ จ.นครปฐม เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มปริมาณการจราจรมากขึ้น จากการประเมินปริมาณการจราจรในปี 2563 อยู่ที่กว่า 11,000 คันต่อวัน

ค่าที่ดินนครปฐม-ชะอำพุ่งเท่าตัว

"ปีนี้กรมได้งบฯ 100 ล้านบาท เพื่อลงพื้นที่สำรวจยอดเวนคืนที่ดินที่แท้จริง รวมถึงทบทวนวงเงินชดเชยด้วยว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 18,000 ล้านบาทหรือไม่ เพราะปัจจุบันราคาประเมินที่ดินปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ชะอำ จากนั้นจะทำรายละเอียดเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนออก พ.ร.ฎ.เวนคืนฯ เนื่องจากผลศึกษาเดิมทำไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เกรงจะเกิดปัญหาเหมือนมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ราคาสูงขึ้นกว่า 2 เท่าตัว ต้องขอขยายกรอบวงเงินภายหลัง ทำให้โครงการล่าช้า"

ลุย PPP โทลล์เวย์-พระราม 2

นายธานินทร์กล่าวว่า นอกจากนี้จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP งานก่อสร้าง ติดตั้งระบบและรับสัมปทานบริหาร อีก 2 โครงการ ได้แก่ มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯวังมะนาว ระยะทาง 75 กม. เงินลงทุน 89,000 ล้านบาท จะเริ่มสร้างเฟสแรกจากกรุงเทพฯ (วงแหวนรอบนอกตะวันตก)- มหาชัย ระยะทาง 38 กม. เงินลงทุน 45,000 ล้านบาท

อีกโครงการส่วนต่อขยายโทลล์เวย์ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กม. เงินลงทุน 30,538 ล้านบาท ผลการศึกษาแล้วเสร็จอยู่ระหว่างหารือข้อกฎหมายเรื่องการติดขัดกับสัมปทานโครงการอื่น จะใช้เวลาอีก 1 ปี แนวเส้นทางเริ่มต้นที่จุดสิ้นสุดของโทลล์เวย์ปัจจุบัน จากนั้นสร้างบนถนนพหลโยธินไปจุดสิ้นสุดโครงการ บริเวณแยกต่าง ระดับบางปะอิน สร้างเป็นทางยกระดับ 6 ช่องจราจร มีจุดขึ้น-ลง 7 จุด ได้แก่ ด่านโรงกษาปณ์ คลองหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นวนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ประตูน้ำพระอินทร์ และบางปะอิน

"บริเวณบางปะอินจะเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทาง เพราจะเชื่อมกับถนนสายเอเชีย วงแหวนตะวันตก และมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช"

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงเปิดเผยว่า ในส่วนของค่าเวนคืนมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ 18,000 ล้านบาทนั้น กรมได้ปรับกรอบวงเงินไปแล้วเมื่อปี 2560 จากเดิมบริษัทที่ปรึกษากำหนดไว้ 9,488 ล้านบาท หลังราคาซื้อขายที่ดินปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่เปิดใหม่ตลอดแนว แยกเป็นที่ดิน 3,416 แปลง วงเงิน 16,000 ล้านบาท สิ่งปลูกสร้าง 1,700 หลัง 1,361 ล้านบาท และต้นไม้ 735 ต้น 611 ล้านบาท

เปิดโผแนวเวนคืน 4 จังหวัด

ตาม พ.ร.ฎ.จะเวนคืนเขตทางกว้าง 200-1,000 เมตร พาดผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด รวม 41 ตำบล 13 อำเภอ จุดเริ่มจาก จ.นครปฐม มี 7 ตำบล 3 อำเภอ จ.ราชบุรี มี 17 ตำบล 5 อำเภอจ.สมุทรสงคราม มี 2 ตำบล 1 อำเภอ และ จ.เพชรบุรี มี 15 ตำบล 4 อำเภอ

ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นจะเชื่อมกับมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ต่างระดับนครชัยศรี อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ผ่าน จ.ราชบุรี สมุทรสงคราม บรรจบกับถนนเพชรเกษม กม.ที่ 188 ใน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ผ่านพื้นที่สำคัญ ทั้งนิคมอุตสาหกรรม แหล่งเกษตรกรรม และแหล่งท่องเที่ยว

ก่อสร้างเป็นถนนใหม่ 4 ช่องจราจร มี 9 ด่าน ได้แก่ นครชัยศรี ตลาดจินดา บางแพ ราชบุรี วัดเพลง ปากท่อ 1 ปากท่อ 2 เขาย้อย และท่ายาง ทางแยกต่างระดับ 8 แห่ง ประกอบด้วย นครชัยศรี ตลาดจินดา บางแพ ราชบุรี วัดเพลง ปากท่อ เขาย้อย และท่ายาง มีที่พักริมทางหลวง 5 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการทางหลวงราชบุรี ทางหลวงนครชัยศรี บ้านลาด บางแพ และเขาย้อย

รฟม.เร่งส่งมอบพื้นที่ 3 รถไฟฟ้า

ด้านนายฤทธิกา สุภารัตน์ รองผู้ว่าการ ฝ่ายบริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รักษาการแทนผู้ว่าการ รฟม.เปิดเผยว่า กำลังเร่งเวนคืนที่ดินเพื่อส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง ได้แก่ สีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) สีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) จะเร่งส่งมอบพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อเปิดบริการได้ตามแผนในปี 2564-2566

ทุ่ม 1.6 หมื่นล.เวนคืนรับสีม่วงใต้ และจะเร่งออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน สายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) 23.6 กม. วงเงินลงทุน 101,112 ล้านบาท เพื่อเปิดประมูลก่อสร้างทันกำหนดในเดือน ก.พ.นี้ และคาดว่าเซ็นสัญญาก่อสร้างได้ต้นปี 2562 ล่าสุด ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินแล้ว รอคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบร่าง คาดว่าใช้เวลา 2-3 เดือน จากนั้นจะเริ่มสำรวจยอดเวนคืนที่ดิน

"โครงการนี้จะใช้เงินลงทุน 101,112 ล้านบาท เป็นงานโยธา 77,385 ล้านบาท ค่าเวนคืน 15,913 ล้านบาท มีที่ดินถูกเวนคืน 480 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 288 หลังคาเรือน จุดใหญ่เป็นช่วงทางยกระดับบริเวณเตาปูน รวมถึงด่านเก็บเงินสุขสวัสดิ์ พื้นที่วงแหวนกาญจนาภิเษก จะใช้สร้างเดโป้ 50 ไร่ และจุดขึ้น-ลง 17 สถานี"

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ