ชะลอรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ลำลูกกา-บางปู-บางแค-สาย4
"ไพรินทร์" เร่ง รฟม.สร้างรถไฟฟ้าสารพัดสี คืนผิวถนนรับมือรถติด กทม. สั่งปรับแผนดึงเอกชนลงทุน ลดภาระรัฐ ลุยเปิดประมูล 2 สี "ม่วงใต้และส้มตะวันตก" เฉียด 2 แสนล้าน ส่วนน้ำเงินต่อขยายบางแค-สาย 4 และเขียวต่อขยายไปลำลูกกาและบางปู รอวัดดวงปีหน้า ปีนี้เดินหน้าโมโนเรลภูเก็ตประเดิมโครงการ PPP ภูมิภาค
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เร่งรัดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก่อสร้างรถไฟฟ้าให้ครบตามแผนงาน ยังเหลือประมูล 2 เส้นทางที่จะเร่งในปีนี้ ส่วนที่กำลังก่อสร้างหากโครงการไหนใกล้แล้วเสร็จให้เร่งส่งคืนผิวถนนเพื่อบรรเทาการจราจรพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งสายสีน้ำเงินต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค คืบหน้า 97.52% สายสีเขียวต่อขยายหมอชิต - คูคต คืบหน้า 53.31%
เนื่องจากปีนี้จะเริ่มก่อสร้างอีก 3 สายทางได้แก่ สายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม- มีนบุรี คืบหน้า 4.66% สายสีชมพูแคราย -มีนบุรี และสายสีเหลืองลาดพร้าวสำโรง อยู่ระหว่างเตรียมการรื้อย้ายสาธารณูปโภคใต้ดินตามแนวสายทาง จะเริ่มต้นนับหนึ่งก่อสร้างอย่างจริงจังในเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้เป็นต้นไป
"รฟม. นับเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีภารกิจชัดเจนและทำงานได้ดี ที่ผ่านมาพัฒนารถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะครบทุกโครงการแล้ว ก็ขอให้ รฟม.ไปพัฒนาพื้นที่ภูมิภาค ที่ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา"
นายฤทธิกา สุภารัตน์ รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร รฟม. เปิดเผยว่า ปีนี้จะเปิดประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง เงินลงทุนรวม 198,273 ล้านบาท ได้แก่ สายสีม่วงใต้เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 23.6 กม. วงเงิน 101,112 ล้านบาท คาดว่าจะประกาศประกวดราคางานโยธาในเดือน ก.พ.นี้ วงเงิน 77,385 ล้านบาท แยกเป็น 6 สัญญามีงานใต้ดิน 4 สัญญา ทางยกระดับ 1 สัญญา และระบบราง 1 สัญญา คาดว่าปลายปีนี้จะเซ็นสัญญาและเริ่มงานก่อสร้างในปี 2562
"อยู่ระหว่างขอยกเว้นเงื่อนไขใน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง เพราะกระทรวงการคลังเสนอให้ใช้เงินกู้ธนาคารพัฒนาเอเชียหรือเอดีบี 10% ของวงเงินก่อสร้าง หรือ 7,700 ล้านบาท สำหรับจ่ายค่าก่อสร้างช่วงแรก ที่เหลือจะกู้ในประเทศ ภายในก.พ.นี้จะเสนอให้คณะกรรมการ รฟม.พิจารณา สิ้นเดือน ก.พ.จะประกาศทีโออาร์"
และสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม- บางขุนนนท์ 12.9 กม. วงเงิน 97,271 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการลงทุน จะให้เอกชนลงทุน PPP ทั้งก่อสร้างและเดินรถ หรือ รฟม.จะลงทุนงานโยธาให้เอกชนลงทุนงานระบบ หรือ รฟม.ลงทุนเอง 100% ส่วนงานเดินรถจะรวมกับสายสีส้มตะวันออกศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี โดยให้เอกชนร่วมลงทุน PPP วงเงิน 30,000 ล้านบาท
สำหรับส่วนต่อขยายสายสีเขียวช่วงสมุทรปราการ-บางปูและช่วงคูคต-ลำลูกกา รวมถึงสายสีน้ำเงินต่อขยายช่วงบางแคพุทธมณฑลสาย 4 จะชะลอการขออนุมัติโครงการออกไปเป็นในปี 2562 เนื่องจากสายสีเขียวต่อขยายต้องรอความชัดเจนการโอนหนี้จากกรุงเทพมหานคร (กทม.) กว่า 6 หมื่นล้านบาท ของสายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการและหมอชิต-คูคต หาก กทม.เป็นผู้บริหารโครงการจะต้องรับผิดชอบการก่อสร้างส่วนต่อขยายนี้เอง
ส่วนสายสีน้ำเงินต่อขยาย รฟม.จะจัดลำดับความสำคัญโครงการใหม่ เนื่องจากภาครัฐต้องการให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการลงทุนมากขึ้น ล่าสุด รฟม.กำลังศึกษารูปแบบ PPP ให้เอกชนเข้ามาลงทุน เพื่อเป็นการลดภาระ รฟม.และรัฐบาลในอนาคต
ด้านรถไฟฟ้าในภูมิภาค พร้อมดำเนินการ คือ รถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ต อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบ PPP จะแล้วเสร็จภายใน 4 เดือนนี้ จากนั้นจะเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ถัดมาเป็นโมโนเรลเชียงใหม่ ทางกระทรวงกำลังพิจารณาจะเป็นใต้ดินหรือยกระดับ จากนั้นถึงจะเป็นโมโนเรลขอนแก่น