ดันรถไฟ2.1แสนล. เข้า'บอร์ดอีอีซี'รฟท.ลุ้นประมูลมิย.
Loading

ดันรถไฟ2.1แสนล. เข้า'บอร์ดอีอีซี'รฟท.ลุ้นประมูลมิย.

วันที่ : 29 มกราคม 2561
ดันรถไฟ2.1แสนล. เข้า'บอร์ดอีอีซี'รฟท.ลุ้นประมูลมิย.

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่าทาง คณะกรรมการ(บอร์ด) การรถไฟฯได้มีการพิจารณาการจัดทำข้อมูลของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินช่วงกรุงเทพฯ-ระยอง วงเงิน 2.15 แสนล้านบาทเพิ่มเติม ก่อนเสนอที่ประชุม คณะกรรมการนโยบาย การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก(บอร์ด EEC) ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ก่อนเสนอต่อที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยในส่วนของการจัดทำเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง (TOR) ขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อดำเนินการเปิดประมูลโครงการภายในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2561

นอกจากนี้ ยังได้มีการพิจารณาการขยายระยะเวลาก่อสร้างสัญญาที่ 2 ในโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ตามที่เอกชนได้เสนอมา เนื่องจากติดปัญหาเรื่องจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณจุดก่อสร้างสถานีดอนเมือง ซึ่ง ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ยังไม่ย้ายออกจากพื้นที่ทำให้ผู้รับเหมาไม่สามารถเข้าพื้นที่เปิด หน้างานได้ จึงได้เสนอให้การรถไฟฯพิจารณาขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีก 200 วัน

"ไม่ใช่ความผิดของผู้รับเหมาที่ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ โดยทาง คณะกรรมการการรถไฟฯได้พิจารณาแล้วเห็นว่าควรขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไป 150 วัน จึงได้เสนอให้ผู้เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่า สามารถขยายเวลาตามที่บอร์ดเสนอ ได้หรือไม่"

นอกจากนี้รายงานความคืบหน้าของการจ่ายค่าชดเชยรถไฟสายสีแดงให้กับเอกชนภายหลังจากที่การรถไฟฯไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด ภายหลังจากที่ขยายระยะเวลางานบริการที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา (CSC) สัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต โดยจะขยายระยะเวลาสัญญาออกไปอีก 800-1,000 วัน และขณะนี้อยู่ระหว่างการคิดค่าชดเชยตามความเสียหายจริงยังไม่สามารถสรุปได้

ส่วนลงทุนโครงการพัฒนา ท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 3 วงเงิน 12,000 ล้านบาท นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)(ทอท.)ได้รายงานความคืบหน้าว่า งานก่อสร้างจะเริ่มในปีงบประมาณ 2566 เพื่อให้แล้วเสร็จในปี 2568 โดยการลงทุนในเฟส 3 จะเพิ่มการรองรับผู้โดยสารของสนามบินเป็น 25 ล้านคน โดยในปี 2561 นี้ จะเร่งย้ายบ้านพักพนักงานออกจากพื้นที่ให้แล้วเสร็จในปีนี้ พร้อมหาบริษัทออกแบบโครงการ โดยจะเน้นไปที่การพัฒนาพื้นที่ทางการบิน(Air Side) ทั้งการสร้างหลุมจอดอากาศยานเพิ่มขึ้น การก่อสร้างทางขับ (Taxi Way) ระบบสาธารณูปโภค

นอกจากนี้ มีแผนก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคารจอดรถ 1,500 คัน และการก่อสร้างสะพานเชื่อมระยะทาง 150 เมตร เพื่อเชื่อมต่อผู้โดยสารไปยังสถานีรถไฟฟ้า รางเบาของ จ.ภูเก็ต อีกด้วย

 
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ