ลุยสร้างรถไฟเชื่อม3สนามบิน สั่งศึกษาเพิ่มขยายไปถึงตราด-เชิญชวนลงทุนมาบตาพุด
รฟท.เผยนายกฯ สั่งศึกษารถไฟเชื่อม 3 สนามบินระยะที่ 2 ต่อไปถึงจันท์-ตราด คาดใช้เวลา 1 ปีครึ่ง ด้าน กนอ.จ่อพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดดึงเอกชนลงทุนตั้งงบ 1.1 หมื่นล้าน ส่วน ครม.อนุมัติปรับอัตราค่าภาระขนส่งตู้สินค้าท่าเรือแหลมฉบัง
นายอานนท์ เหลืองบริ บูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง คมนาคม และรักษาการผู้ว่า การการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในการประชุม คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ได้มติเห็น ชอบให้การรถไฟฯ กลับไปศึกษา ความเหมาะสมในโครงการรถ ไฟฟ้าความเร็วสูง กทม.-ระยอง หรือรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าอากาศยานดอน เมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะ ที่ 2 โดยให้ต่อเชื่อมไปยังจันท บุรีและตราด โดยอนุมัติงบกลาง จำนวน 200 ล้านบาท ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยนำไปศึกษา เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลา ประมาณ 1 ปีครึ่ง
"ในการประชุมสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐ กิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) เสนอให้รถไฟฯ ศึกษาการต่อขยายไฮสปีดเทรนจากระยองไปที่จันทบุรีและตราดด้วย ซึ่งจะศึกษาคู่ขนานไปกับรถไฟทางคู่ที่จะต่อขยายด้วย ซึ่งที่ประชุม กนศ.ก็เห็นด้วย จึงมีมติให้รถไฟฯ ไปศึกษาต่อขยายไฮสปีดออกไปอีก โดยให้งบกลางมา 200 ล้านบาท" นายอานนท์กล่าว
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ในปี 2561 นี้ กนอ.ได้เตรียมการพัฒนาพื้นที่สำหรับก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ไว้ประมาณ 1,000 ไร่ รวมถึงแผนดำเนินการที่จะเชิญชวนให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาท่าเทียบเรือในช่วงกลางปี 2561 ภายใต้งบประมาณ 11,000 ล้านบาท เพื่อให้การพัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นไปอย่างราบรื่น
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าภาระโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบังของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) โดยมีกรอบอัตราค่าภาระขั้นต่ำขั้นสูง ในอัตรา 376-835 บาทต่อตู้ขนสินค้าทุกขนาดและทุกสถานภาพ โดยให้เรียกเก็บในอัตรา 376 บาท เมื่อเริ่มเปิดดำ เนินการ และให้ กทท.สามารถปรับอัตราค่าภาระในการยกขนตู้สินค้าได้ภายในกรอบอัตราค่าภาระขั้นต่ำ-ขั้นสูงดังกล่าว
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรม การพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ มองว่าการดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับสมมติ ฐานอัตราค่าภาระที่ใช้ในการศึกษาความเหมาะสมของโครง การ และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญกับการกำกับติดตามการกำหนดอัตราค่าภาระที่ใช้ในการยกขนตู้สินค้าขึ้น-ลงทางรถไฟในภาพรวม โดยเฉพาะค่าภาระตู้สินค้าที่มีขนาด 40 ฟุตขึ้นไป ที่มีความต้องการขนส่งตู้สินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันการขนส่งทางถนนได้ และให้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ให้รถบรรทุกสินค้าที่มีน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด