รฟท.ศึกษาเดินรถไฟ 4สายวงเงิน แสนล้าน
Loading

รฟท.ศึกษาเดินรถไฟ 4สายวงเงิน แสนล้าน

วันที่ : 17 กุมภาพันธ์ 2561
รฟท.ศึกษาเดินรถไฟ 4สายวงเงิน แสนล้าน

การรถไฟฯ ศึกษาการเดินรถด้วยระบบไฟฟ้า 4 เส้นทาง วงเงินลงทุน 1 แสนล้าน ผลการศึกษาชี้ สายใต้-อีสานคุ้มสุด เตรียมชงครม.ของบ 200 ล้านออกแบบรายละเอียด ก่อนจัดทำ ลำดับความสำคัญของการลงทุน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย หลังเดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบาย ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) วานนี้ (16 ก.พ.) ว่า การรถไฟฯ ได้ศึกษา การเดินรถไฟด้วยระบบไฟฟ้าเพิ่มเติม 4 เส้นทาง จากปัจจุบันมีแผนลงทุนเพียง 1 เส้นทางคือ เส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ในโครงการรถไฟทางคู่เฟสที่ 2

เส้นทางที่ศึกษาเพิ่มเติม ได้แก่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, กรุงเทพฯ-หัวหิน, กรุงเทพฯ-นครสวรรค์ และกรุงเทพฯ- ฉะเชิงเทรา โดยหลังจากนี้ การรถไฟฯ จะเสนองบประมาณออกแบบรายละเอียด วงเงิน 100-200 ล้านบาทให้ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ก่อนจัดลำดับ ความสำคัญในการลงทุนเส้นทางต่างๆ

นายอาคม กล่าวต่อว่า โครงการ รถไฟทางคู่เฟสแรก 7 เส้นทาง เริ่ม ก่อสร้างหมดแล้ว ยกเว้นเส้นทาง มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 70 กิโลเมตร ที่อยู่ระหว่าง การปรับแบบและจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือน ส.ค. นี้

นอกจากนี้ การรถไฟฯ อยู่ระหว่าง การผลักดันโครงการรถไฟทางคู่เฟสที่ 2 จำนวน 7 เส้นทางและรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง รวมเป็น 9 เส้นทาง โดยรถไฟ ทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย- เชียงของ ระยะทาง 326 กิโลเมตร วงเงิน 71,696 ล้านบาท และช่วงบ้านไผ่- มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร วงเงิน 54,684 ล้านบาท วงเงิน รวม 1.3 แสนล้านบาทจะเสนอให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบได้ก่อนในเดือน มี.ค.นี้

โครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 ที่เหลือ อีก 7 เส้นทาง อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล เพิ่มเติม คาดว่าจะทยอยเสนอให้ ครม. เห็นชอบได้เร็วที่สุดในเดือน เม.ย.-พ.ค. นี้ ด้านโครงการทางรถไฟสายใหม่เชื่อมต่อ จังหวัดสำคัญ หรือรถไฟทางคู่เฟสที่ 3 จำนวน 14 เส้นทาง วงเงินลงทุน 5 แสน ล้านบาท ได้ขอให้เร่งศึกษาและออกแบบ รายละเอียดให้แล้วเสร็จภายในปี 2562

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจ ราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมจะประสาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ เพื่อขอให้จัดประชุม และเร่งพิจารณาโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และช่วง บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ในต้นเดือน มี.ค. ก่อนเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณา ในปลายเดือน มี.ค.นี้

ขณะเดียวกันการรถไฟฯ จะเสนอ โครงการจัดหาหัวรถจักรใหม่ด้วยวิธีซื้อ 50 คัน วงเงิน 6,500 ล้านบาท ให้ที่ประชุม บอร์ดพิจารณาในเดือน มี.ค. เพื่อเร่ง เปิดประมูล เพื่อให้ทันกับการเปิดบริการรถไฟ ทางคู่เฟส 1 ที่จะเริ่มตั้งแต่ปี 2562-2565

รายงานข่าวจากการรถไฟ แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การศึกษา "โครงการการเดินรถไฟด้วยระบบไฟฟ้า บนทางคู่ 4 เส้นทาง รางกว้าง 1 เมตร" ครอบคลุมระยะทาง 885 กิโลเมตร ประกอบด้วย สายเหนือ ช่วงชุมทาง บางซื่อ-ชุมทางบ้านภาชี-ปากน้ำโพ, สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงชุมทาง บ้านภาชี-ชุมทางแก่งคอย-ชุมทาง ถนนจิระ, สายใต้ ชุมทางบางซื่อ-ชุมทาง หนองปลาดุก-หัวหิน และสายตะวันออก ชุมทางบางซื่อ-มักกะสัน-ฉะเชิงเทรา-พัทยา

ผลการศึกษาชี้ว่า การรถไฟฯ ต้อง ลงทุนเรื่องจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน, ก่อสร้าง งานโยธา, วางราง, ระบบอาณัติสัญญาณ และโทรคมนาคม, ระบบไฟฟ้า, ล้อเลื่อน, โรงซ่อมบำรุงและที่พัก รวมวงเงิน ประมาณ 100,907 ล้านบาท ผลตอบแทน ทางการเงิน (FIRR) รวมอยู่ที่ 9%และ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 13.84%

สำหรับการลงทุนระบบไฟฟ้าสายเหนือ อยู่ที่ราว 2.9 หมื่นล้านบาท, สายตะวันออก เฉียงเหนือ 3 หมื่นล้านบาท, สายตะวันออก  1 หมื่นล้านบาท, สายใต้ 3.4 หมื่นล้านบาท โดยสายตะวันออกเฉียงเหนือมี FIRR สูงสุดอยู่ที่ 10.84%ด้าน EIRR สูงสุด เป็นของสายใต้อยู่ที่ 13.64% และรองลงมา เป็นสายตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 13.19%

ข้อดีของระบบไฟฟ้าคือ ค่าซ่อมบำรุง ถูกกว่ารถดีเซลไฟฟ้า, มีค่าใช้จ่ายด้าน พลังงานถูกกว่า, เครื่องยนต์มีน้ำหนักเบากว่า ส่งผลให้ค่าซ่อมรางถูกลง 2-5%, ความเร็ว เพิ่มขึ้น, มลพิษทางอากาศลดลง 20-30%

โครงการรถไฟทางคู่เฟสแรก 7 เส้นทาง เริ่มก่อสร้างหมดแล้ว

ยกเว้นเส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระจะเสนอให้ครม. ในเดือน ส.ค. นี้

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ