รับพื้นที่จุดตัดรถไฟฟ้า แนะกคช.-ธนารักษ์สร้างบ้านผู้มีรายได้น้อย
Loading

รับพื้นที่จุดตัดรถไฟฟ้า แนะกคช.-ธนารักษ์สร้างบ้านผู้มีรายได้น้อย

วันที่ : 21 กุมภาพันธ์ 2561
รับพื้นที่จุดตัดรถไฟฟ้า แนะกคช.-ธนารักษ์สร้างบ้านผู้มีรายได้น้อย

สนข.ชะลอส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า พร้อมเร่งดำเนินการเฟสแรกทั้ง 10 สายให้เสร็จในปี 72 สายสีม่วงส่วนต่อขยายพร้อมกว่า แต่ยังมีลุ้นสายสีน้ำตาล ส่วน M-Map2 เร่งหารือไจก้า ด้านนักประเมินอิสระเสนอรัฐเร่งปรับโฉมผังเมืองรับรถไฟฟ้า แนะกคช.-ธนารักษ์สร้างบ้านรองรับผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางใกล้จุดอินเตอร์เชนจ์

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าตามที่รัฐบาลมีแผนดำเนินโครงการรถไฟฟ้าในหลายเส้นทางนั้นซึ่งตามแผนปฏิบัติการ (แอกชันแพลน) กำหนดให้ทั้ง 10 เส้นทางก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2572 โดยในปี 2561 รถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยาย (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) มีความพร้อมในการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ดำเนินการมากที่สุด ส่วนสายสีน้ำตาล(แคราย-บึงกุ่ม) จะเร่งสรุปผลการศึกษาก่อนนำเสนอครม. อนุมัติ "อยู่ระหว่างการเร่งเฟสแรกให้แล้วเสร็จตามแผนในปี 2572

ส่วนต่อขยายทั้งหมดคงต้องเลื่อนการนำเสนอครม.ออกไปก่อนเนื่องจากจะดูปริมาณผู้ใช้บริการและการเติบโตของเมืองในโซนนั้นๆ อีกครั้งแต่ยังบรรจุไว้ในแผนให้แล้วเสร็จในปี 2572 โดยจะนำไปประกอบการพิจารณาของแผนการพัฒนาระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าระยะที่ 2 (M-Map2) เอาไว้ด้วย ล่าสุดนั้นอยู่ระหว่างการร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(ไจก้า) ในการศึกษา M-Map2 ดังกล่าว" ด้านนายวสันต์  คงจันทร์ นักประเมินอิสระ และกรรมการผู้จัดการบริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้าจำนวน 10 สายในกรุงเทพฯ- ปริมณฑล กำลังขยายเส้นทาง

จากในเมืองออกไปยังนอกเมืองหลายสายทำให้มีจุดตัด จุดเชื่อมต่อสำคัญ (Interchange) ของการเดินทางในอนาคต ซึ่งกระทรวงมหาดไทยควรเร่งกำหนดผังเมืองให้ชัดเจนและการเคหะแห่งชาติ ตลอดจนกรมธนารักษ์ควรเร่งลงทุนสร้างที่อยู่อาศัยรองรับผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางไว้ตั้งแต่วันนี้โดยเฉพาะพื้นที่ทำเลที่อยู่ไม่ไกลจากจุดอินเตอร์เชนจ์ดังกล่าว

สำหรับจุดตัด จุดเชื่อมต่อสำคัญขนาดใหญ่โดยเฉพาะในเขตชั้นกลางและชั้นนอก โดยไม่นับรวมจุดเชื่อมต่อในใจกลาง เมืองที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่

1.จุดตัดย่านพหลโยธิน บางซื่อ สวนจตุจักร ห้าแยกลาดพร้าว ทำเลนี้จะเป็นศูนย์กลางสำคัญของการเดินทางในอนาคต และเป็นสถานีต้นทางของรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ ที่สถานีบางซื่อ ส่วนราคาที่ดินโดยรอบทำเลย่านนี้ ที่ดินติดถนนพหลโยธิน ถนนลาดพร้าว ถนนวิภาวดีรังสิต จากเดิมเมื่อ 4-5 ปีก่อนตารางวาละ 1-1.5 แสนบาท ปัจจุบันราคาปรับเพิ่มเป็นตารางวาละ3-4 แสนบาท หรือบางแปลงประกาศขาย 6-7 แสนบาทในอนาคตคาดว่าจะมีศักยภาพสูงขึ้นยิ่งไปอีก

2.จุดย่านถนนอโศก และรัชดาภิเษกช่วงต้น ที่มีรถไฟฟ้าใต้ดินปัจจุบัน ตัดกับแอร์พอร์ตลิงก์ และในอนาคตยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมฯ (หรืออาจเป็นแยกพระราม9)-มีนบุรี ที่เป็นศูนย์ธุรกิจแห่งใหม่ ส่วนราคาที่ดินก็ยังต่ำเพียงครึ่งหนึ่งของเขตธุรกิจชั้นในที่ปัจจุบันราคาตารางวาละ 1.5-1.9 ล้านบาท แต่ราคาย่านนี้ตารางวาละ 5-6 แสนบาทเท่านั้น ดังนั้นโอกาสของราคาที่ดินจะเพิ่มเป็นตารางวาละล้านบาทน่าจะได้เห็นกันในทำเลนี้

3.จุดตัดย่านเพชรเกษม บางหว้า บางแค จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หัวลำโพงบางแค รถไฟฟ้าบีทีเอส ตากสินบางหว้า ด้านราคาที่ดิน รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้พลิกฟื้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ฝั่งธนบุรีชั้นในที่ซบเซามานานนับ 10 ปี ให้คึกคักอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ดินริมถนนจากตารางวาละ 1 แสนบาท ปรับเพิ่มเป็น 2-3 แสนบาทในวันนี้ อนาคตน่าจะไปได้ถึง 4-5 แสนบาท

เช่นเดียวกับ 4.จุดตัดฝั่งเหนือตอนบนของกรุงเทพฯ คือ ทำเลจุดตัดรถไฟฟ้าสายสีชมพู ปากเกร็ด-สุวินทวงศ์ กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิตคูคต ย่านสี่แยกหลักสี่ กับจุดตัดรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อรังสิตย่านหลักสี่-แจ้งวัฒนะ ทำเลบริเวณนี้ที่ดินโดยรอบเหลือน้อยเป็นสถานศึกษา สถานที่ราชการต่างๆ

ส่วนย่านแจ้งวัฒนะ-หลักสี่ ก็ในทำนองเดียวกัน คนส่วนใหญ่น่าจะเดินทางไปยังดอนเมือง รังสิต หรือย่านถนนแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ดมากกว่า และ 5.จุดตัดฝั่งตะวันออกที่สำคัญของกรุงเทพฯ คือ ย่านบางกะปิ ลำสาลี หัวหมาก ที่เป็นจุดตัดรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าวสำโรง กับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี และจุดใกล้เคียงบริเวณ หัวหมาก รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ตัดกับแอร์พอร์ตลิงก์ ทำเลย่านนี้บริเวณโดยรอบเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหนาแน่น ราคาที่ดินย่านนี้ก็นับว่ายังต่ำในหลัก 2-3 แสนบาท สำหรับที่ดินติดถนน ส่วนที่ดินในซอยยังมีราคาไม่เกิน 1 แสนบาท

10 เส้นทางรถไฟฟ้าจะแล้วเสรจปี2572 โดยในปี 2561 สายสีม่วงส่วนต่อขยายพร้อมเสนอครม.

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ