จี้เพิ่มรถ7ขบวนวิ่งแอร์พอร์ตลิงค์เม.ย.นี้ต้องชัดเจน
Loading

จี้เพิ่มรถ7ขบวนวิ่งแอร์พอร์ตลิงค์เม.ย.นี้ต้องชัดเจน

วันที่ : 28 กุมภาพันธ์ 2561
จี้เพิ่มรถ7ขบวนวิ่งแอร์พอร์ตลิงค์เม.ย.นี้ต้องชัดเจน

สหภาพฯแอร์พอร์ตลิงค์ เผย 5 มี.ค.นี้หารือสรส.จัดเวทีสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนประชาชนที่ใช้บริการหลังยื่นนายกฯให้จัดซื้อรถไฟฟ้าฯเพิ่มอีก 7 ขบวน ยังไร้การตอบรับตั้งเป้าเม.ย.ต้องมีความชัดเจนชี้เสียงสะท้อนปชช.ต้องการให้เพิ่มจำนวนรถขึ้น

นายชิตพล พรหมดนตรี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฟ้า (สร.รฟฟ.) หรือสหภาพฯ แอร์พอร์ต ลิงค์ เปิดเผยว่าสหภาพฯจะหารือกับสมาพันธ์ แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) วันที่ 5 มี.ค.นี้ เพื่อปรึกษาหาแนวทางการเคลื่อนไหวแสดงให้รัฐบาลเห็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ใช้บริการรถขนส่งสาธารณะของรัฐ จากจำนวนขบวนโดยสารของรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต ลิงค์ ที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชาชนที่เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น โดยจะจัดเวทีเสวนาให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความเห็นถึงปัญหาในการใช้บริการโดยจะใช้สถานที่บริเวณรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ สถานีพญาไท เชิญนักวิชาการ ประชาชน หรือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมแสดงความคิดเห็น

ที่ผ่านมาสร.รฟฟ.เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาจัดซื้อรถไฟฟ้าฯ เพิ่ม 7 ขบวนตามมติ ครม.ปี 2553 แต่ได้เริ่มทำหนังสือมาแต่ปี 2558ยื่นไปถึงกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และมีหนังสือทวงถามอยู่เป็นระยะในการประชุมสามัญประจำปีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฟ้า วันที่ 22 มี.ค.นี้จะรายงานให้ที่ประชุมทราบถึงการขับเคลื่อนที่ผ่านมา รวมถึงจะหารือกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) เพื่อกำหนดแนวทาง ขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างนี้ สร.รฟฟ.จะศึกษารายละเอียดต่างๆที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมด้วย และประมาณเดือนเม.ย.นี้จะไปติดตามความคืบหน้าภายหลังยื่นหนังสือต่อไป

เขากล่าวว่าบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัดให้บริการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์แก่ประชาชนมาเป็นเวลา 7 ปีเต็มครบรอบเมื่อวันที่ 23 ก.พ.แต่ไม่สามารถรองรับและให้บริการประชาชนได้เต็มศักยภาพ โดยปัจจุบันรถไฟฟ้าฯที่มีอยู่ 9 ขบวนๆละ 3 ตู้ แต่ใช้งานจริง 6 ขบวน สำรองกรณีฉุกเฉิน 1 ขบวน และอีก 2 ขบวนอยู่ระหว่างซ่อมบำรุง ทำให้ผู้โดยสารต้องรอรถนานอย่างน้อย 2-3 ขบวน เฉลี่ยเวลา 10-12 นาทีและเกิดความแออัดโดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน รถไฟฟ้าฯถูกนำมาใช้งานอย่างหนักเริ่มตั้งแต่เวลา 03.30-24.00 น. ใน 7 ขบวนวิ่ง ระยะทางไป-กลับรวม 56 กิโลเมตรต่อเที่ยว เฉลี่ยขบวนละ 12 ชั่วโมง รวม 84 เที่ยว ต่อวันส่งผลให้เกิดความเสื่อมสภาพเร็วกว่ากำหนด

ซึ่งจากจำนวนรถไฟฟ้าฯที่ให้บริการได้จริงรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 72,000 คน ต่อวัน แต่สถิติเดือนเม.ย.2560 พบว่ามีผู้ใช้บริการสูงสุดถึง 85,000 คนต่อวัน ยังมีข้อมูลปัญหาและการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการของแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ระหว่างเดือนมิ.ย.-ส.ค.2560 จำนวน 217 คน พบว่า 66.36% ร้องเรียนปัญหารถไฟฟ้าฯล่าช้า ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และเสนอให้เพิ่มความถี่การให้บริการและขบวนรถไฟ

อย่างไรก็ตามจากการปฏิบัติงาน การลงพื้นที่สอบถามประชาชนที่ใช้บริการเห็นผลชัดเจนว่าเกิดความเดือดร้อนจริง และถ้าสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงจะเกิดประโยชน์อย่างมาก ทั้งในแง่การให้บริการที่มีประสิทธิภาพรับผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น ช่วยลดโอกาสการสูญเสียรายได้ ผลการทำงานของการเดินรถไฟฟ้าฯยังเป็นข้อมูลให้รัฐนำไปเจรจาต่อรองระหว่างรัฐและเอกชนในการเดินรถไฟฟ้าสายอื่นๆ

ก่อนหน้านี้วันที่ 7 ก.พ.สร.รฟฟ.ได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เร่งจัดซื้อรถไฟฟ้าฯเพิ่มอีก7 ขบวนตามมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 3 ธ.ค.2553เพื่อแก้ไขปัญหาพร้อมกันนี้ได้แนบรายชื่อผู้สนับสนุนการจัดซื้อรถไฟฟ้าฯที่ได้รวบรวมจำนวน 3,313 รายชื่อ พร้อมกับได้เสนอจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีของการเดินรถ/ขนส่งรถไฟฟ้าระบบรางสำหรับนักเรียน นักศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เพื่อรองรับการผลิตบุคลากรรองรับการเติบโตรถไฟฟ้าระบบรางในอนาคต

ซึ่งปัจจุบันบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด มีความร่วมมือกับสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) จัดตั้งสถาบันฝึกอบรมรถไฟฟ้าระบบราง อีกทั้งแอร์พอร์ตลิงค์ จะเป็น เส้นทางขนส่งสินค้าไปสนามบินสุวรรณภูมิ ที่สำคัญ ช่วยลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในประชาคมอาเซียนด้วย

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (อีอีซี)ได้แถลงความ คืบหน้าว่า รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ จะรวมอยู่ในโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมโยง 3 สนามบิน โดยร่างทีโออาร์ จะนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีในช่วงเดือน มี.ค.นี้ แต่ สหภาพฯ แอร์พอร์ต ลิงค์ มองว่า โครงการอีอีซี คือการพัฒนาในเชิงบวกที่ต้องติดตาม เพราะยังไม่เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนว่า รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์จะอยู่ในส่วนใดของอีอีซี หรือต่อให้มีการลงนามในเดือน มี.ค. กับเอกชนที่เข้าร่วมพัฒนาโครงการ แต่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี แต่หากการก่อสร้างล่าช้า จำนวนประชาชนที่ใช้บริการแอร์พอร์ตลิงค์เพิ่มขึ้นทุกวัน

นายชิตพล กล่าวอีกว่า โครงการอีอีซี เป็นการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่การใช้บริการแอร์พอร์ตลิงค์ของประชาชนเกิดขึ้นจริง มีผลการศึกษารองรับถึงการเติบโตของจำนวนผู้โดยสาร การขยายตัวของเมืองรอบสถานี ข้อมูลมีความชัดเจน ประชาชนจะต้องเผชิญคือ ความปลอดภัย จากที่เปิดให้บริการมากว่า 7 ปี แล้วไม่มีการเพิ่มขบวนรถให้เพียงพอจนทำให้ขบวนรถต้องใช้งานหนัก ถ้ามีการจัดขบวนเพิ่มจะทำให้การบริการดีขึ้น ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากบริการของรัฐก็จะดีขึ้น

 
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ