ธ.รัฐฟรีค่าธรรมเนียมโอนเงิน
Loading

ธ.รัฐฟรีค่าธรรมเนียมโอนเงิน

วันที่ : 10 เมษายน 2561
ธ.รัฐฟรีค่าธรรมเนียมโอนเงิน

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ยกเว้นค่าธรรมเนียม สำหรับการโอนเงินข้ามเขต โอนเงินต่างธนาคารไม่จำกัดจำนวน และการโอนเงินระบบพร้อมเพย์ให้กับลูกค้าที่ใช้บริการกับธนาคารผ่านระบบ ธ.ก.ส. เอ-โมบาย เป็นช่องทางในการให้บริการทางอินเทอร์เน็ต แบงกิ้ง ของ ธ.ก.ส. มีผลตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.นี้

"การให้บริการฟรีค่าธรรมเนียมครั้งนี้ จะดำเนินการเฉพาะในส่วนของการทำธุรกรรมทางการเงินบน ธ.ก.ส. เอ-โมบาย เท่านั้น ไม่รวมการให้บริการผ่านเครื่องเอทีเอ็ม และบริการที่เคาน์เตอร์ของธนาคาร ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกค้าเห็นประโยชน์จากการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือที่มีทั้งความสะดวก รวดเร็ว และยังประหยัดค่าใช้จ่าย"

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้บริการธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งโมบาย แบงกิ้ง มายโม และอินเทอร์เน็ต แบงกิ้ง ให้แก่ลูกค้ากว่า 2.6 ล้านราย ทั้งการถอนเงินสดที่ตู้เอทีเอ็ม โดยบริการมายโม มาย คาร์ด การจ่ายเงินชำระค่าสินค้าและบริการ โอนเงินภายในธนาคาร ข้ามเขต และต่างธนาคาร เติมเงินโทรศัพท์มือถือ เตือนความเคลื่อนไหวทุกบัญชี และฟรีบริการจีเอสบี พร้อมเพย์ ค่าธรรมเนียมเช็คเรียกเก็บทุกประเภท รวมถึงลูกค้าที่ใช้บัญชีกระแสรายวันจะได้รับดอกเบี้ย 0.50 %

นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังได้จัดโปรโมชั่นพิเศษ สำหรับลูกค้าใหม่ซึ่งไม่เคยใช้บริการกับธนาคารออมสินมาก่อน โดยสมัครใช้บริการมายโม ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 30 มิ.ย. 61 ธนาคารจะคืนเงินเข้าบัญชี ให้ทุกเดือน เดือนละ 10 บาท เป็นเวลา 1 ปี โดยการยกเว้นค่าธรรมเนียม และคืนเงินเข้าบัญชีสำหรับลูกค้ารายใหม่ จะทำให้ธนาคารออมสินสามารถรักษาฐานลูกค้าและยังสามารถขยายเป้าหมายขยายฐานลูกค้าใหม่ได้อีกไม่น้อยกว่า 2 ล้านรายในปีนี้

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ได้ประกาศยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม ทั้งการโอนเงินข้ามสาขา การถอนเงินต่างสาขา ผ่านตู้เอทีเอ็ม เคาน์เตอร์สาขา และอินเทอร์เน็ต แบงกิ้ง ไปแล้ว ยอมรับว่าอาจทำให้ธนาคารสูญเสียรายได้บ้าง 50 กว่าล้านบาท แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ภาพรวมของธ.อ.ส. เนื่องจากช่องทางรายได้หลักของธนาคาร มาจากรายได้ดอกเบี้ยของสินเชื่อเป็นหลัก อย่างไรก็ตามในส่วนค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชี และการทำบัตรเอทีเอ็มยังคงเก็บเหมือนเดิม

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ