ปลุกลงทุนรถไฟฟ้าภูธร 2 แสนล้าน แจก 50 ปีนำร่อง ภูเก็ต-เชียงใหม่-โคราช
Loading

ปลุกลงทุนรถไฟฟ้าภูธร 2 แสนล้าน แจก 50 ปีนำร่อง ภูเก็ต-เชียงใหม่-โคราช

วันที่ : 16 เมษายน 2561
ปลุกลงทุนรถไฟฟ้าภูธร 2 แสนล้าน แจก 50 ปีนำร่อง ภูเก็ต-เชียงใหม่-โคราช

การประชุม "คจร.-คณะกรรมการจัดระบบการจราจร" นัดแรกของปี 2561 วันที่ 21 ก.พ. 2561 มี "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" นั่งหัวโต๊ะ ได้เร่งรัดกระทรวงคมนาคมลงทุนระบบขนส่งมวลชนในภูมิภาคตามแผนแม่บท ที่ "สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร" ศึกษาไว้ 5 จังหวัด ในภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ เพื่อให้รัฐและเอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP ระยะเวลา 30 ปี 40 ปีและ 50 ปี มูลค่าลงทุนรวม 211,234 ล้านบาท

มี "รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย" เป็นเจ้าภาพศึกษารูปแบบลงทุน PPP การเปิดประมูลโครงการ คาดว่าสิ้นปีนี้จะประเดิม "ภูเก็ต" เป็นจังหวัดแรก

ฟาสต์แทร็กภูเก็ต 4 หมื่นล้าน

จากผลศึกษาพัฒนาเป็น "ระบบรถไฟฟ้ารางเบา" ได้ทั้งไลต์เรลและแทรม เงินลงทุน 39,406 ล้านบาท มีโครงสร้างทางวิ่งระดับดินตลอดเส้นทาง ยกเว้นบริเวณสนามบินภูเก็ตจะเป็นสถานียกระดับ มีทั้งหมด 24 สถานี เป็นยกระดับ 1 สถานี ที่สนามบินภูเก็ต และใต้ดิน 1 สถานีที่สถานีถลาง มีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณ อ.ถลาง

จุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณสถานีรถไฟท่านุ่น จ.พังงา จะเชื่อมต่อกับระบบรถไฟสายใหม่เส้นทาสุราษฎร์ธานี-พังงา จุดสิ้นสุดโครงการอยู่ทางเหนือของห้าแยกฉลอง ห่างจากห้าแยก 200 เมตร รวมระยะทาง 58.525 กม.

ปัจจุบันโครงการได้ถูกบรรจุไว้ในโครงการตามมาตรการ PPP Fast Track 2560 ของกระทรวงคมนาคม ล่าสุด "รฟม." อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบ PPP ที่ให้เอกชนร่วมลงทุน คาดว่า จะแล้วเสร็จและเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในปีนี้

เชียงใหม่อัดแสน ล.มุดดิน-บนดิน

จากนั้นเป็นคิวของ "เชียงใหม่" ที่ สนข.เร่งดำเนินการต่อ ซึ่งผลศึกษาแล้วเสร็จเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา เงินลงทุน 105,735 ล้านบาท เนื่องจากโครงสร้างมีทั้งอุโมงค์ใต้ดินช่วงผ่านพื้นที่ในเมืองและยกระดับในช่วงนอกเมือง

มี 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 36 กม. 1.สายสีแดง รพ.พิงค์-ศูนย์ราชการเชียงใหม่-สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี-ศูนย์ประชุมนานาชาติ-สถานีตำรวจช้างเผือก-แยกข่วงสิงห์-ม.ราชภัฏเชียงใหม่-สถานีขนส่งช้างเผือกรพ.เชียงใหม่ราม-รพ.มหาราชนครเชียงใหม่-ร.ร.วัฒโนทัยพายัพ-สนามบินเชียงใหม่-ขนส่งทางบก-บิ๊กซีหางดง

2.สายสีเขียว แยกรวมโชค-แยกแม่โจ้-เซ็นทรัลเฟสติวัล-สถานีขนส่งอาเขต-รพ.แมคคอร์มิคเชียงใหม่ร.ร.ดาราวิทยาลัย-ร.ร.ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย-ตลาดวโรรส-เทศบาลนครเชียงใหม่-เชียงใหม่ไนท์บาซาร์-ร.ร.เรยีนาเชลีวิทยาลัย-ร.ร.พระหฤทัย-ร.ร.มง ฟอร์ตวิทยาลัย-เชียงใหม่แลนด์-เซ็นทรัลพลาซา-เชียงใหม่แอร์พอร์ต-ม.ฟาร์อีสเทอร์น-สนามบินเชียงใหม่

3.สายสีน้ำเงิน สวนสัตว์เชียงใหม่ม.เทคโนโลยีราชมงคล ล้านนา-ม.เชียงใหม่-แยกตลาดต้นพยอมรพ.มหาราชนครเชียงใหม่-วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร-ประตูท่าแพ-ย่านเชียงใหม่ไนท์บาซาร์ตลาดสันป่าข่อย-สถานีรถไฟเชียงใหม่-แยกหนองประทีป-บิ๊กซีดอนจั่น- ห้างพรอมเมนาดา

สำหรับการลงทุนมี 3 ทางเลือก ได้แก่ รัฐลงทุน 100% เปิด PPP โดยรัฐลงทุนงานโยธา เอกชนลงทุนงานระบบเครื่องกลและระบบไฟฟ้าและจัดหาขบวนรถไฟฟ้า และ PPP รัฐร่วมเอกชน จัดตั้งบริษัท และระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

เร่งลงทุนโคราชรับไฮสปีด

ตามมาด้วย "นครราชสีมา" กำลังเร่งเครื่องไม่แพ้จังหวัดอื่น ๆ สร้างเป็นรถไฟฟ้ารางเบา วงเงิน 32,600 ล้านบาท มี 3 เฟส ระยะแรก 14,000 ล้านบาท มีสายสีส้มเข้ม แยกประโดก-ถนนช้างเผือก-คูเมืองเก่า 9.81 กม. 17 สถานี สีเขียวเข้ม ตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ 11.17 กม. 18 สถานี

ระยะที่ 2 ลงทุน 4,900 ล้านบาท สายสีม่วงเข้ม ตลาดเซฟวัน-ถนนมิตรภาพ-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ 11.92 กม. 9 สถานี ระยะที่ 3 ลงทุน 13,600 ล้านบาท สายสีส้มอ่อน ร.ร.เทศบาล 1-หัวทะเล-ดูโฮม 5.37 กม. 4 สถานี สายสีเขียวอ่อนสถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 3 (ห้วยบ้านยาง)-ตลาดเซฟวัน และสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์-สำนักงานขนส่ง จ.นครราชสีมาสาขา 2 ระยะทาง 12.12 กม. 13 สถานี สายสีม่วงอ่อน ม.วงษ์ชวลิตกุล-แยกจอหอ-ค่ายสุรนารายณ์ 4.48 กม. 3 สถานี

"ระยะแรก" เร่งลงทุนสายสีเขียวพร้อมกับสายสีส้ม จากนั้นเป็น "สายสีม่วง" จะมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีหรือจุดจอดของระบบขนส่งสาธารณะ 2 บริเวณ ที่ย่านสถานีรถไฟนครราชสีมา  และย่านสถานีขนส่ง ผู้โดยสารจ.นครราชสีมาแห่งที่ 2

ขอนแก่นเลือกไลต์เรล

ขณะที่ "ขอนแก่น" ที่ประชุมรับทราบผลการศึกษาโครงการ ซึ่งผลศึกษาเลือก "ระบบไลท์เรล" เป็นระบบที่เหมาะสม ส่วนการลงทุนรัฐจะเวนคืนที่ดินแล้วให้เอกชนร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน งานระบบและจัดหาตัวรถ ตลอดจนซ่อมบำรุงรักษาโครงการตลอดอายุสัญญา

จะนำร่องเส้นทางในแนวเหนือ-ใต้ จากบ้านสำราญตำบลสำราญ - ต.ท่าพระ อ.เมืองขอนแก่น ระยะทาง 22.8 กม.เป็นโครงสร้างระดับดิน 15.07 กม.และทางวิ่งยกระดับ 7. 27 กม. มี 16 สถานี เป็นระดับดิน 10 แห่ง ยกระดับ 6 แห่ง เงินลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท

พิษณุโลกแบ่งพัฒนา2เฟส

ด้าน "พิษณุโลก" จังหวัดในแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก  และฮับสี่แยกอินโดจีน จากการศึกษาพบว่าเทคโนโลยีระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเหมาะสมกับแนวเส้นทาง และมีความเป็นไปได้มี 3 รูปแบบ ได้แก่ รถโดยสารขนาดปกติ รถโดยสาร ขนาดเล็ก (ไมโครบัส) และรถรางล้อยาง (Tram)

มีระยะทางรวม 114.65 กม. มูลค่าการลงทุนรวม 13,493 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะที่1 ปี 2565-2573 มี 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 83.05 กม. มูลค่าก่อสร้าง 2,607 ล้านบาท มูลค่าการบำรุงรักษาตลอดอายุโครงการ 8,190 ล้านบาท ระยะที่ 2 ปี 2574-2584 มี 2 เส้นทางและ 3 ส่วนต่อขยาย ระยะทาง 31.6 กม. มูลค่าการก่อสร้าง 643 ล้านบาทและมูลค่าการบำรุงรักษาตลอดอายุโครงการ 2,171 ล้านบาท

ด้านอัตราค่าโดยสารกำหนดไว้ 3 ลักษณะ คือ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้สูงอายุและผู้พิการ 10 บาท ประชาชนทั่วไป 20 บาท และนักท่องเที่ยว 30 บาท

นอกจากนี้กำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี (TOD)  3 แห่ง ได้แก่ 1.สถานีขนส่งพิษณุโลก แห่งที่ 1 พื้นที่ 6 ไร่ รองรับกิจกรรมเชิงพาณิชย์เป็นหลักมีความพร้อมค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยง ระบบขนส่งสาธารณะ

2. ศูนย์การค้าโลตัสท่าทอง พื้นที่ 25 ไร่ รองรับกิจกรรมที่พักอาศัยเป็นหลัก ความพร้อมค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางการเชื่อมโยงระหว่างศูนย์การค้าชานเมืองและขั้วความเจริญมหาวิทยาลัยนเรศวร

และ 3. สถานีขนส่งพิษณุโลก แห่งที่ 2 พื้นที่ 50 ไร่ รองรับกิจกรรมเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ความพร้อมค่อนข้างสูง เนื่องจากทำเลที่ตั้งใกล้กับศูนย์พัฒนาสี่แยกอินโดจีน และสถานีขนส่งสาธารณะแห่งใหม่และรองรับการบริการขนส่งสาธารณะและบริการด้านโลจิสติกส์

เป็นความก้าวหน้าล่าสุด ส่วนจะเป็นจริงได้แค่ไหน คงต้องดูกันต่อไปยาวๆ

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ