แบงก์ลุยปล่อยกู้ รถไฟความเร็วสูง
Loading

แบงก์ลุยปล่อยกู้ รถไฟความเร็วสูง

วันที่ : 29 เมษายน 2561
แบงก์ลุยปล่อยกู้ รถไฟความเร็วสูง

เมกะโปรเจ็กต์ดันยอดค้ำประกันพุ่ง

แบงก์ประกาศพร้อมปล่อยกู้ ออกแบงก์การันตี เอกชนประมูล ไฮสปีดเทรน 2.2 แสนล้านบาท มั่นใจไม่กระทบสภาพคล่อง ไทยพาณิชย์ เผยลูกค้าหลายรายแสดงความสนใจ "ทีเอ็มบี" ชี้เมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐ ดันอานิสงส์หนังสือค้ำประกันโต

นางสาววิศาลศรี นิโลดม รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจลูกค้ารายใหญ่ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณาการปล่อยกู้โครงการรถไฟความเร็วสูง วงเงินลงทุนรวม 2.24 แสนล้านบาท เพราะเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล เชื่อว่าทุกธนาคารก็กำลังจับตาดูอยู่เช่นกัน แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดออกมาเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน แต่ก็ถือว่า เป็นเรื่องดีที่มีการประกาศความชัดเจนในการเดินหน้าโครงการ เพราะจะเป็นใบเบิกทางต่อการลงทุนของภาคเอกชน

ส่วนความกังวลในเรื่องของสภาพคล่องที่จะรองรับโครงการขนาดใหญ่นั้น ธนาคารมองว่าปัจจุบันสภาพคล่องในระบบมีอยู่ค่อนข้างสูง และโครงการลงทุนที่ออกมา ก็ไม่ได้ออกมาพร้อมกันทีเดียวในวงเงินก้อนใหญ่ แต่จะออกมาเป็นเฟสๆ และทยอยทำเป็นโครงการๆ หากเป็นโครงการวงเงินลงทุนสูง ก็จะเป็นโครงการที่หลายธนาคารให้ความร่วมมือปล่อยกู้แบบ Syndicated Loan ไม่ได้รับแค่ 1-2 ธนาคาร จึงไม่น่ามีปัญหาในเรื่องของสภาพคล่อง

"เรากำลังดูอยู่ แต่ยังไม่ได้เคาะ แต่เชื่อว่าแบงก์อื่นก็จับตาเช่นกัน เพราะเป็นโครงการใหญ่และเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทุกคนให้ความสนใจ แต่จะมีส่วนร่วมยังไงอาจจะต้องรอรายละเอียดให้ออกมาชัดเจนมากกว่านี้ก่อน"

นายวศิน ไสยวรรณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด Multi-Corporate Segment และผู้บริหารสูงสุด Corporate Segment ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทต่างๆ ให้ความสนใจโครงการดังกล่าวจำนวน มาก ส่วนจะมีลูกค้าเข้ามากี่ราย และเงื่อนไขการปล่อยกู้ ระยะเวลาโครงการ หรืออัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่เท่าไรนั้น ตอนนี้ยังต้องรอเงื่อนไขของ TOR ก่อน คาดว่าจะออกมาภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะนี้ก็มีลูกค้าหลายรายแสดงความสนใจ และธนาคารไทยพาณิชย์เองก็พร้อมปล่อยสินเชื่อหรือสนับสนุนลูกค้าเข้าร่วมโครง การนี้อยู่แล้ว

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า ยังเร็วไปที่จะให้คำตอบเกี่ยวกับการออกแบงก์การันตีในโครงการไฮสปีดเทรน เพราะต้องรอดูรายละเอียดต่างๆ เช่น ทีโออาร์ หรือลักษณะของการประมูลหรือจะแบ่งเส้นทางกันอย่างไร แต่กรุงไทยยังให้น้ำหนักเป็นอันดับ 1 เกี่ยวกับการสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอยู่แล้ว ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็เป็นฐานลูกค้าของกรุงไทยไม่ว่าจะเป็นทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์

นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ บมจ.ธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี กล่าวว่า ธนาคารพร้อมเข้าไปสนับสนุนสินเชื่อให้กับเอกชนที่จะเข้าประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอย่างเต็มที่ เพราะเป็นโครงการที่น่าสนใจ ซึ่งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าภาครัฐประกาศลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และเริ่มมีโครงการบางโปรเจ็กต์ทยอยออกมา ทำให้ความต้องการหนังสือค้ำประกันก็เติบโตไปตามปริมาณธุรกรรมการลงทุน ส่วนสภาพคล่องของธนาคารหรือของระบบสถาบันการเงินขณะนี้ไม่มีปัญหา ยังคงมีเพียงพอต่อการปล่อยกู้

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีที่จะร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยองนั้นยังอยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดแต่ยังไม่สรุป ส่วนการร่วมกับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนค์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) นั้นได้ร่วมกันมาตั้งแต่รถไฟสายสีชมพูและสายสีเหลืองแล้ว รถไฟความเร็วสูงโครงการนี้ก็เช่นกัน

การเจรจากับพันธมิตร บีทีเอส ไม่ได้เจาะจงกับปตท.เท่านั้นยังอยู่ระหว่างการเจรจากับอีกหลายรายเนื่องจากโครงการดังกล่าวนี้มีมูลค่าโครงการสูงมากจึงต้องระดมหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ส่วนกรณีปตท.นั้นเพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพเนื่องจากปตท.มีโครงการทางธุรกิจรูปแบบต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกจำนวนมากจึงน่าจะมีประชากรจำนวนมากในแต่ละสาขาธุรกิจ

"ประการสำคัญปตท.ยังมีเงินลงทุนจำนวนมาก อีกทั้งมีบุคลากรที่มีคุณภาพคงจะนำเข้ามาช่วยทำงานได้ดี ยืนยันว่าการเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากการยื่นซองยังมีระยะเวลาอีกราว 4-5 เดือนจึงยังมีระยะเวลาการเจรจาและตัดสินใจร่วมกัน เช่นเดียวกับงานระบบอาณัติสัญญาณที่มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศก็จะต้องเจรจากับอีกหลายราย จึงจะต้องดูเรื่องข้อเสนอว่ารายไหนให้ข้อเสนอที่ดีกว่าก่อนที่จะยื่นซองเอกสารประกวดราคาตามที่กำหนดไว้ในรายละเอียดของเอกสารประกวดราคา"

สำหรับกลุ่มทุนที่สนใจเข้าประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่เริ่มมีความชัดเจนในขณะนี้มี 3 กลุ่ม กลุ่มแรกได้แก่ การร่วมมือกันระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) BTS บริษัท ซิโน-ไทยฯ และบริษัทราชบุรีโฮลดิ้งฯ กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มซีพี ร่วมกับ บริษัท ไชน่า เซาเธิร์น เรลเวย์ฯจากประเทศจีน และกลุ่ม ITOCHU จากประเทศญี่ปุ่นกลุ่มสุดท้ายคือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) ร่วมมือกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ หรือ BEM ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ

 
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ