ผุดรถไฟฟ้าสายใหม่ 131 กิโลเมตร เชื่อมย่านซีบีดี-บูม 13 เมืองใหม่
Loading

ผุดรถไฟฟ้าสายใหม่ 131 กิโลเมตร เชื่อมย่านซีบีดี-บูม 13 เมืองใหม่

วันที่ : 7 พฤษภาคม 2561
ผุดรถไฟฟ้าสายใหม่ 131 กิโลเมตร เชื่อมย่านซีบีดี-บูม 13 เมืองใหม่

เดินหน้าไปกว่า 80% สำหรับแผนแม่บทขนส่งมวลชนระบบรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ระยะที่ 2 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "M-MAP 2"หลังเส้นทางขีดไว้ใน M-MAP ปัจจุบัน กำลังทยอยผลิดอกออกผลจนเกือบครบ 10 เส้นทาง รวมระยะทาง 464 กม.

"อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ภายในเดือน ส.ค.นี้ แผนแม่บทระยะที่ 2 ที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ศึกษาให้จะเสร็จ จากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ โดยจะพยายามผลักดันให้ได้รับอนุมัติภายในรัฐบาลนี้ เพื่อส่งมอบให้รัฐบาลถัดไปนำไปสานต่อ

"รถไฟฟ้าระยะที่ 2 จะเป็นเส้นทางต่อขยายกับเส้นทางหลักเดิม ที่ยังขาดการเชื่อมโยง หรือ missing link รวมถึงโครงข่ายใหม่ที่เป็นระบบรอง เพื่อทำหน้าที่เป็นฟีดเดอร์คนจากชานเมืองป้อนคนเข้าสู่ระบบหลัก 10 เส้นทาง เช่น โมโนเรล หรือไลต์เรล"

นอกจากนี้ ยังต้องศึกษาโครงข่ายให้สอดคล้องกับการจัดวางผังเมืองระดับภาคในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่วางจุดที่เป็นเมืองรอง (subcenter) 13 แห่ง ที่อยู่รายล้อมพื้นที่กรุงเทพฯ ในรัศมี 40 กม. มี 5 แห่ง ได้แก่ รังสิต มีนบุรี ลาดกระบัง สมุทรสาคร และศาลายา ส่วนในรัศมี 20 กม. มี 8 แห่ง ได้แก่ บางขุนเทียน สมุทรปราการ บางใหญ่ แคราย บางซื่อ มักกะสัน วงเวียนใหญ่ และสถานีแม่น้ำ

รวมถึงวางการเชื่อมต่อกับ 3 สถานีหลัก ได้แก่ 1.สถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์กลางระบบขนส่งมวลชนในอนาคต 2.สถานีมักกะสัน จะเป็นเกตเวย์ของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และ 3.สถานีแม่น้ำ เพื่อเสริมศักยภาพการพัฒนาพื้นที่สถานีแม่น้ำของการรถไฟแห่งประเทศไทย

สำหรับแนวเส้นทางใหม่ ในเบื้องต้นไจก้ากับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำหนดไว้มี 5 เส้นทาง รวมระยะทาง 131 กม. ประกอบด้วย 1.สายสถานีแม่น้ำ-บางนาสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 33 กม.

รองรับกับการเติบโตของเมืองฝั่ง จ.สมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง จะเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการ และการพัฒนาบริเวณสถานีแม่น้ำ รวมไปถึงรองรับนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ และยังช่วยลดความ แออัดของผู้โดยสารแอร์พอร์ตลิงก์ด้วย

2.ส่วนต่อขยายสายสีเทา ช่วงรามอินทรา-ลำลูกกา ระยะทาง 14 กม. รองรับการเติบโตของ จ.ปทุมธานี มีเส้นทางต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเทา (วัชรพล-ทองหล่อ) และสายสีเขียว (หมอชิต-ลำลูกกา)

3.สายรังสิต-ธัญบุรี ระยะทาง 12 กม. รองรับการเติบโตพื้นที่โซนเขตเทศบาลนครรังสิต และ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย 4 แห่งได้แก่ ม.ธรรมศาสตร์, ม.เทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี, ม.กรุงเทพ และ ม.รังสิต อีกทั้งยังเชื่อมกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์)

4.สายสถานีขนส่งสายใต้จากบรมราชชนนี-หลักสี่ แนวเส้นทางจะพาดผ่านพื้นที่ที่ยังไม่มีระบบขนส่งทางรางเข้าสู่ตัวเมือง ระยะทาง 30 กม. รองรับเส้นทางคมนาคมที่มีหลากหลาย และรองรับผู้โดยสารจากสถานีขนส่งผู้โดยสารสายใต้

และ 5.สายบางหว้า-ตลิ่งชัน-นนทบุรีบางกะปิ แนวเส้นทางจะเป็นลักษณะวงแหวน มีระยะทาง 42 กม. จะรองรับพื้นที่ที่ยังไม่มีระบบรถไฟฟ้าเข้าไปถึง และเป็นระบบสายรองที่รองรับโครงข่ายหลักทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีส้ม และสายสีม่วง

ตามแผนในปี 2562 ทั้งไจก้า-สนข.จะทำรายละเอียดแต่ละพื้นที่เพิ่มเติม คาดว่าจะเริ่มโครงการในปี 2563 จะดำเนินการควบคู่กับการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

หากเป็นไปตามนี้ ประเทศไทยจะมีรถไฟฟ้าเปิดบริการ 595 กม.

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ