ลุยประมูลจุดเชื่อม สายสีแดง4หมื่นล.
จ่อเปิดประมูลจุดเชื่อมต่อสายสีแดง 4 หมื่นล้าน ลั่นเปิดบริการปี 2563 คืนทุนใน 6 ปี
นายกำพล บุญชม ผู้อำนวยการโครงการรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีแดงจุดเชื่อมต่อ (Missing Link) ที่ประกอบด้วย สายสีแดงอ่อน (ช่วงบางซื่อ-พญาไทมักกะสัน-หัวหมาก) และสายสีแดงเข้ม (ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง) ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร วงเงิน 4.41 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ใกล้แล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ก่อนเร่งเสนอกระทรวงคมนาคมและที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเร็วๆ นี้เพื่อให้สามารถเปิดประมูลโครงการได้ตามเป้าหมายภายในปีนี้
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2563 เมื่อเปิดให้บริการแล้ว คาดว่าในปีแรกจะมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 5 หมื่นคน โดย รฟท.มีค่าปริมาณการเติบโตมากกว่า 100% ภายในเวลา 5 ปี เฉลี่ยที่ 1 แสนคน/วัน ส่งผลให้โครงการดังกล่าวจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 6-7 ปี
"ค่าโดยสารสายสีแดงจะอยู่ที่ 14-45 บาท เริ่มต้นค่าแรกเข้าที่ 14 บาท และคิดราคา 45 บาท สำหรับค่าโดยสารตลอดสาย ทั้งนี้รัฐบาลได้ให้โอกาส รฟท.ดำเนินงานในระยะ 5 ปี ให้เป็นไปตามเป้าหมาย หากไม่สามารถทำได้จะยกให้เอกชนเข้ามา บริหารแทน" นายวรวุฒิ กล่าว
ด้านความคืบหน้าการก่อตั้งบริษัทลูกด้านการเดินรถเพื่อรองรับการบริหารงานเดินรถไฟสายสีแดงนั้น จะเสนอเข้าสู่กระทรวงคมนาคมและเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน มิ.ย. ทั้งนี้จะใช้เงินกู้ 3,000 ล้านบาท เพื่อจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท ก่อนทำการรับบุคลากรล็อตแรก 600 คน และคัดเลือกสรรหาบุคลากรระดับผู้บริหารภายในเดือนก.ค.-ส.ค.นี้ต่อไป
สำหรับกรณีการที่ รฟท.จะเสนอโครงสร้างราคาค่าโดยสารใหม่นั้น ต้องไปตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ต้องลดรายจ่าย ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง ซึ่ง ปัจจุบัน รฟท.มีรายรับต่อปีทั้งค่าขนส่งคน และสินค้าอยู่ที่ราว 9,000 ล้านบาท ขณะที่ รายจ่ายต่อปีกว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็น ค่าซ่อมบำรุงรถไฟเก่าและค่าบุคลากร ดังนั้น จึงต้องเร่งดำเนินการตามแผนฟื้นฟูโดยการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ ทั้งที่ดินสถานีกลางบางซื่อ ที่ดินสถานีแม่น้ำและมักกะสัน ซึ่งหากพัฒนาได้ทั้งหมด จะสร้างรายได้เพิ่มให้ รฟท.ปีละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท