ปลดล็อกที่ดินในซอย ผุดไอเดีย ขนส่งมวลชนระบบรอง ทั่วเมืองนนท์
Loading

ปลดล็อกที่ดินในซอย ผุดไอเดีย ขนส่งมวลชนระบบรอง ทั่วเมืองนนท์

วันที่ : 3 มิถุนายน 2561
ปลดล็อกที่ดินในซอย ผุดไอเดีย ขนส่งมวลชนระบบรอง ทั่วเมืองนนท์

ผู้ว่าฯนนทบุรีขานรับผังเมืองใหม่ "ไร้รอยต่อ" เตรียมวางโครงข่ายขนส่งมวลชนระบบรองทั่วจังหวัด เสริมศักยภาพที่ดินและเมืองใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง นำร่องศึกษา 3 เส้นทาง สถานีรถไฟฟ้าศูนย์ราชการนนทบุรี, แยกนนทบุรี 1, บางรักน้อยท่าอิฐ เอกชนเห็นดีช่วยอสังหาฯ ในซอยคึก แต่ติดปัญหาผังเมือง

นับจากรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม ช่วงบางใหญ่-เตาปูน หรือสายสีม่วง ตั้งแต่ระหว่างก่อสร้างจนเปิดให้บริการ กลายเป็นปัจจัยให้จังหวัดนนทบุรีมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและกระจายในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จนผังเมืองจังหวัดมีการจัดทำผังเมืองใหม่เพื่อจัดระเบียบการเติบโตของเมืองในจังหวัดนนทบุรี ให้สอดคล้องกับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครที่กำลังจัดทำ ซึ่งเป็นผังไร้รอยต่อ ระหว่างกทม.กับปริมณฑล

นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ตามที่ได้รับการร้องเรียนกรณีผังเมืองจังหวัดนนทบุรีเข้มงวดส่งผลให้กระทบต่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่ปัจจุบันมีแนวโน้มการเติบโตของเมืองในหลายพื้นที่นั้น จะขอเวลาศึกษาข้อมูลรายละเอียดการปรับเปลี่ยนผังเมืองจังหวัดนนทบุรีปัจจุบันนี้ให้ชัดเจนก่อนที่จะเข้าร่วมหารือกับกรมโยธาธิการและผังเมืองที่มีนโยบายรวมการพิจารณาผังเมืองกรุงเทพมหานครและปริมณฑลก่อนที่จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี 2562 ต่อไป

"ผังเมืองใหม่ของนนทบุรีต้องการให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของจังหวัด ที่เบื้องต้นได้มอบหมายให้ บริษัท รีเจียนนอลทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด ไปศึกษา 3 แนวเส้นทางก่อนจะทดลองให้บริการ หลังจากนั้นจะมอบหมายให้สำนักงานขนส่งจังหวัดนนทบุรีเร่งผลักดันต่อไป"

นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล รองประธานกรรมการ บริษัท รีเจียนนอลทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด (RTC) กล่าวว่า สำหรับเส้นทางเดินรถขนส่งมวลชนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีสนใจเร่งให้ RTC ศึกษาทั้ง 3 เส้นทาง(ตามภาพคือ R4 R5 R6) นั้นมีความสำคัญอย่างมาก หากสามารถเดินรถขนส่งมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วมีโอกาสพัฒนาศักยภาพที่ดินและเมืองควบคู่กันไปได้ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของย่านหรือศูนย์เศรษฐกิจต่างๆ เกิดศูนย์เศรษฐกิจใหม่ สร้างงาน สร้างรายได้ตามมาให้กับคนในพื้นที่โซนนั้นๆ โดยไม่ต้องเดินทางเข้าไปทำงานในเขตกรุงเทพ มหานคร ทั้งนี้รถที่นำมาให้บริการจะเป็นรถเมล์ชานต่ำ

"จะมีแหล่งรายได้จากภาษีเกิดขึ้นให้กับจังหวัดมากขึ้น เพราะปัจจุบันแม้จะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยแต่ยังไม่มีรายได้เกิดขึ้น จึงไม่สมดุลกัน อีกทั้งการจัดทำป้ายหรือจุดอ่อนจะต้องมีความเป็นมาตรฐานมากขึ้นเพื่อดึงดูดใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการ โดยควรเปิดทดลองวิ่งให้บริการเพื่อให้ประชาชนค่อยๆปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทาง พร้อมกับเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มเพศวัยได้เข้าถึงการใช้บริการมากขึ้นผ่านสื่อต่างๆพร้อมเทคโนโลยีทันสมัยของการใช้บริการ อาทิ ตั๋วร่วม หรือการรู้ล่วงหน้าว่ารถจะเข้าสู่สถานีในอีกกี่นาทีเพื่อสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างสอดคล้องกับเวลา"

ด้านนายสุทธิรักษ์ เสถียร ภาพอยุทธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนาสิริ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทพัฒนาที่อยู่อาศัยชั้นนำในพื้นที่นนทบุรี กล่าวว่า การจัดการขนส่งระบบรองถือเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค อำนวยความสะดวก ซึ่งการขนส่งระบบรองหรือฟีดเดอร์เป็นสิ่งจำเป็น ส่งคนเข้าเมืองด้วยระบบรถไฟฟ้า สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะทำให้การรุกพัฒนาโครงการในซอยทำได้มากขึ้น เพราะมีตัวช่วย แต่ก็มีปัญหาใหญ่คือผังเมืองใหม่ ที่กำหนดว่าการพัฒนาโครงการต้องมีความกว้างของถนน 12 เมตร ซึ่งหมายถึงถนนใหญ่ ดังนั้นต่อไปการพัฒนาโครงการทาวน์เฮาส์ในซอย แทบจะไม่มีพื้นที่ที่สามารถทำได้ ถ้าเป็นทาวน์เฮาส์ติดถนนใหญ่ก็ต้องมีราคาแพงมาก ทำให้คนที่มีกำลังซื้อน้อยๆ ต้องไปหาซื้อในพื้นที่ที่ไกลออกไปอีก

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงของผังเมืองจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดมีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก อาจจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ดังนั้น ต้องวางผังเมืองให้สอดคล้องกับการเติบโตของโครงข่ายคมนาคม ซึ่งในอนาคตจะมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูมาเพิ่ม ส่วนกรณีมาตรการเข้มงวดกว่าผังเมืองกรุงเทพฯมีเพียงบางส่วนเท่านั้น โดยเฉพาะส่วนรอยต่อกับกรุงเทพฯ อาทิ ตลิ่งชัน แจ้งวัฒนะ เป็นต้น

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ