ชมพู-เหลืองโมเดลรถไฟฟ้าภูเก็ต รฟม.เปิดเอกชนร่วมทุน
Loading

ชมพู-เหลืองโมเดลรถไฟฟ้าภูเก็ต รฟม.เปิดเอกชนร่วมทุน

วันที่ : 11 มิถุนายน 2561
ชมพู-เหลืองโมเดลรถไฟฟ้าภูเก็ต รฟม.เปิดเอกชนร่วมทุน

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ ไทย (รฟม.) แจ้งว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟรางเบา (LightRail Transit หรือ Tramway) หรือแทรม จ.ภูเก็ตช่วงท่านุ่น-ท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง วงเงิน  3.94 หมื่นล้านบาท หนึ่งในแพ็กเกจร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลกับเอกชนระยะเร่งด่วน (PPP Fast Track) ที่คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ดพีพีพี) ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ ได้สั่งการให้ รฟม.เร่งดำเนินการนั้น

ขณะนี้ได้คัดเลือกสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (บริษัทหลัก) ร่วมกับบริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด และบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาศึกษาและวิเคราะห์แนวทางให้เอกชนร่วมลงทุนวงเงิน 40 ล้านบาทแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาราว 4 เดือน ก่อนเสนอผลการศึกษาให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.เห็นชอบก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปีนี้  หากได้รับอนุมัติจะต้องดำเนินการตั้งคณะกรรมการมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ56) เพื่อเข้ามาคัดเลือกเอกชนต่อไป

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า แนวทางการร่วมทุนคาดว่าจะใช้รูปแบบคล้ายกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง)และรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)  เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและสนับสนุนวงเงินลงทุนบางส่วน และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบและขบวนรถไฟฟ้า และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการรวมทั้งให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง แต่ต้องรอสรุปผลการศึกษาที่ชัดเจนอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามรฟม.ยินดีเปิดกว้างให้เอกชนท้องถิ่นที่มีศักยภาพและสนใจเข้ามาร่วมประมูลโครงการโดยรฟม.จะไปศึกษาแนวทางการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา จ.ขอนแก่น ว่าเอกชนท้องถิ่นมีแนวทางความร่วมมือลงทุนกันอย่างไร จำเป็นต้องจดทะเบียนเพื่อก่อตั้งบริษัทที่ประกอบด้วยผู้ถือหุ้นจากเทศบาลและนักลงทุนแบบบริษัท ขอนแก่น ทรานซิทซิสเท็มส์ฯ หรือ เคเคทีเอส (KKTS) หรือไม่

สำหรับรถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ตคาดว่าจะมีผู้โดยสารเมื่อเปิดบริการราว 70,000 คนต่อวัน มีจุดเริ่มต้นบริเวณสถานีรถไฟท่านุ่น  จ.พังงา เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟและมีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณห้าแยกฉลองจ.ภูเก็ต(บนถนนเจ้าฟ้าตะวันออก ห่างจากห้าแยกฉลอง 200 เมตร) มี 24 สถานี รวมระยะทาง 58.5 กม. คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างเฟสแรกช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยก ฉลอง ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี มี 6 ทางลอดและ 1 สถานี ยกระดับ ที่สนามบินนานาชาติภูเก็ต

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ