ประมูลโซนเอไตรมาส3 16ไร่ผุด มิกซ์ยูส หมื่นล.
รฟท.เตรียมเปิดพีพีพี เอกชนร่วมทุน กิจการรัฐ พัฒนาสถานีกลางบางซื่อ ไตรมาส 3 นี้ นำร่อง โซน A พื้นที่เชิงพาณิชย์ 16 ไร่ เงินลงทุนหมื่นล้าน มั่นใจ กลุ่มห้างสรรพสินค้าสนใจประมูลหลายราย เล็งประมูลพื้นที่โซน E ระยะต่อไปรองรับพัฒนาอาคารหน่วยงานราชการ
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศ (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ไตรมาส 3 ปีนี้ ร.ฟ.ท.จะเปิดประมูลการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีกลางบางซื่อ นำร่อง ในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการรัฐ (พีพีพี) บริเวณ พื้นที่โซน A เฟสแรก ครอบคลุมพื้นที่ 16 ไร่ จากพื้นที่ ทั้งหมด 32 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่นห้างสรรพสินค้า รวมถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในรูปแบบผสมผสาน(มิกซ์ยูส) โดยกำลังตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เพื่อยกร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์)
"รฟท.ตั้งเป้านำพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อนมาเปิด ประมูลเลย ไม่รอผลการศึกษาครบทั้งโครงการแล้ว เพราะจะทำให้แผนงานล่าช้าออกไปอีก โดยพื้นที่โซน A ที่จะนำมาเปิดประมูลเป็นส่วนแรกนั้น ถือเป็นไฮไลท์สำคัญของโครงการนี้ เพราะเป็นพื้นที่ในส่วนของการก่อสร้างงานประเภทการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และสิ่งอำนวยความสะดวก อย่างห้างสรรพสินค้า ประเมินมูลค่าโครงการเบื้องต้น 10,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะเข้าร่วมประมูล คือผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า"
สำหรับขั้นตอนดำเนินการหลังจากเปิดประมูลแล้ว ร.ฟ.ท.คาดว่าจะประกาศผู้ชนะประมูลได้สิทธิ์ลงทุน และ ลงนามสัญญาพัฒนาพื้นที่ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 โดยหลังจากการประมูลนำร่องประมูลในพื้นที่โซน A แล้วยังเตรียมนำพื้นที่โซน E บริเวณตึกแดงออกมาประมูลเป็นส่วนต่อไป เพื่อพัฒนาขึ้นเป็นพื้นที่สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ รวมทั้งบ้านพักพนักงานด้านปฏิบัติการของ ร.ฟ.ท. ที่ย้ายมาจากพื้นที่แปลง G หรือ กม.11
ส่วนแผนพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ ที่ ร.ฟ.ท. จะนำมาเป็นแบบอย่างในการวางแผนงานนั้น เป็นแผนที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ช่วยศึกษา และผ่านการเห็นชอบจาก คณะกรรมการ ร.ฟ.ท. เมื่อเดือน ก.ค. ปีที่ผ่านมา ใช้เวลาในการพัฒนา 15 ปี ซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป
ดัน"สมาร์ทซิตี้"แห่งแรก
ส่วนรายละเอียดของแผนพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว จะพัฒนาสถานีขนส่งสาธารณะเป็นศูนย์กลาง หรือ Transit Oriented Development (TOD) เพื่อ ใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสานจาก ศักยภาพของสถานีกลางบางซื่อที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการขนส่งกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ แห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
1.ระยะสั้นหรือระยะที่ 1 ดำเนินการภายในปี 2567 ช่วงที่สถานีกลางบางซื่อเปิดให้บริการ โดยในช่วงนี้จะเน้นพัฒนาย่านการค้าและสำนักงานเป็นหลัก เช่น การพัฒนาพื้นที่ โซน A ที่อยู่ติดกับสถานีกลางบางซื่อ 50-100 เมตร เป็นพื้นที่กิจกรรมพาณิชยกรรม มีห้างสรรพสินค้า ร้านค้า และร้านอาหาร
2.ระยะกลางหรือระยะที่ 2 ดำเนินการ ภายในปี 2572 เน้นการพัฒนาธุรกิจที่ เกี่ยวกับการจัดประชุมบริษัทนานาชาติ ย่านศูนย์การค้าและทางเดินเท้า และ 3.ระยะยาวหรือระยะที่ 3 ดำเนินการภายในปี 2577 พัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรม และ พื้นที่อยู่อาศัยที่เหลือ
ขณะที่เป้าหมายของการพัฒนาพื้นที่ตามหลัก TOD ร.ฟ.ท. มีเป้าหมายการพัฒนาเพื่อรองรับการใช้ชีวิต ธุรกิจ และการคมนาคมขนส่ง ผ่าน 4 เป้าหมายหลัก คือ 1.International Community เพื่อ สร้างศูนย์กลางชุมชน และเป็นจุดหมาย ปลายทางที่สำคัญของต่างชาติ 2.New Central District Full of Various Attractive หรือเป็นศูนย์กลางเมือง แห่งใหม่ ที่มีการพัฒนาอย่างสมดุล 3.Visitor Friendly พัฒนาระบบคมนาคมเพื่อความสะดวกแก่ผู้มาเยือน และ 4.Step wisely by both public and private sector เป็นอีกหนึ่งโครงการ สำคัญที่ใช้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
ตั้งเป้าฮับคมนาคมแห่งใหม่
นายวรวุฒิ กล่าวว่า ไจก้ายังศึกษาแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ แห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะเป็น ผู้เข้ามาศึกษาการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ โดยจะเป็นผู้วางระบบสาธารณูปโภคทั้งหมดครอบคลุมพื้นที่ 8 โซนของ รฟท. ประกอบด้วย 1.พื้นที่โซน A พื้นที่รวม 35 ไร่ มีศักยภาพในการพัฒนากิจกรรมเชิง พาณิชย์ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับระบบขนส่ง 2.พื้นที่โซน B พัฒนาเป็นพื้นที่มิกซ์ยูสศูนย์กลางการค้า
3.พื้นที่โซน C พัฒนาเป็นฮับการจัดประชุมสัมมนา 4.พื้นที่โซน D ติดรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีเขียว มีศักยภาพใน การพัฒนากิจกรรมเชิงพาณิชย์ดึงดูด นักท่องเที่ยว 5.พื้นที่โซน E พัฒนาเป็นสำนักงานหน่วยงานราชการ 6.พื้นที่โซน F พัฒนาเป็นย่านศูนย์การค้า 7. พื้นที่โซน G พัฒนาเป็นย่านที่พักอาศัย และ 8.พื้นที่ โซน H พัฒนาเป็นพื้นที่มิกซ์ยูส
ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ตั้งเป้าว่าจากแผนพัฒนาทั้งหมด ประกอบกับโครงข่ายระบบรางที่อยู่ระหว่างพัฒนามากกว่า 10 เส้นทาง จะทำให้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลาง การคมนาคมแห่งใหม่ ที่เป็นทั้งศูนย์กลาง การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการเดินทาง เชื่อมต่อไปยังทุกภาคของประเทศ เชื่อมโยงระหว่างประเทศไปยังลาว จีน และ มาเลเซีย