บีทีเอสจ่อตอกเข็มชมพู-เหลืองก.ค.นี้ คุยพันธมิตรจบส.ค.ชิงรถไฟ3สนามบิน
Loading

บีทีเอสจ่อตอกเข็มชมพู-เหลืองก.ค.นี้ คุยพันธมิตรจบส.ค.ชิงรถไฟ3สนามบิน

วันที่ : 27 มิถุนายน 2561
บีทีเอสจ่อตอกเข็มชมพู-เหลืองก.ค.นี้ คุยพันธมิตรจบส.ค.ชิงรถไฟ3สนามบิน

กลุ่ม BSR เตรียมเข้าพท.ตอกเข็ม รถไฟฟ้า "ชมพู-เหลือง" ปลายก.ค.นี้ ระบุหลังรฟม.ส่งหนังสือให้เริ่มงานจะต้องส่งแบบและแผนจราจรให้อนุมัติก่อนคาดใช้เวลาอีก 1 เดือน ขณะที่ บีทีเอส เผยเจรจาพันธมิตรไทย-เทศ ร่วมทุนชิงรถไฟเชื่อม 3 สนามบินกว่า 2 แสนล. จบในส.ค.นี้

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา  กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอส แกนนำกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR Joint Venture (BTS บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC) ซึ่งเป็นผู้รับงานสัญญาสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 53,519.50 ล้านบาท และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 51,931.15 ล้านบาท เปิดเผยว่า หลังจากที่การ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ส่งหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) ในวันที่ 29 มิ.ย. 2561 ซึ่งถือเป็นการนับเริ่มต้น สัญญาอย่างเป็นทางการแล้วนั้น

กลุ่ม BSR จะจัดส่งแบบก่อสร้างและแผนการจัดจราจร ให้ รฟม.อนุมัติก่อนจึงจะเริ่มเข้าพื้นที่ลงมือก่อสร้างได้จริง โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนหลังจากวันที่ 29 มิ.ย. 2561 ในการพิจารณาอนุมัติแบบและแผนการจัดจราจร โดยจะเริ่มก่อสร้างได้จริงตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค.-ต้นเดือน ส.ค. ซึ่งรูปแบบก่อสร้างไปออกแบบควบคู่การก่อสร้าง (Design & Build) มีเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน (39เดือน)

ส่วนโครงการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง- สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท รูปแบบ PPP net cost 50 ปี ซึ่งบีทีเอสได้เข้าซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชน Request for Proposal (RFP) แล้ว นั้น จะร่วมกับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และบริษัท ซิโน-ไทย พันธมิตรเดิมแน่นอน ส่วนพันธมิตรรายที่ 4 หรือ 5 นั้น อยู่ในการเจรจายังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งมีทั้งนักลงทุน ผู้ประกอบการ ไทยและต่างชาติ หลายรายให้ความสนใจในการร่วมลงทุน ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือน ส.ค.นี้

ทั้งนี้ เงื่อนไขในการลงทุน จะต้องจ่ายค่าระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์กว่า 1 หมื่นล้านบาทโดยต้องปรับปรุงระบบและซื้อขบวนรถเพิ่ม และรับโอนภายใน 2 ปี แม้จะยากแต่มั่นใจว่าทำได้ เพราะเป็นงานที่บีทีเอสทำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า บีทีเอสต้องการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในการกลุ่ม ไม่ต่ำกว่า 25% และได้เตรียมพร้อมทางการเงินไว้สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไว้แล้ว

 
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ