TPIPLร่วมซื้อเอกสารประมูล ไฮสปีดเทรนเชื่อม3สนามบิน
TPIPL มาล่าสุด เข้าซื้อเอกสารประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2.24 แสนล้านบาท สรุปยอดเปิดขายเอกสาร 10 วัน มีผู้เข้าซื้อแล้ว 14 ราย
รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL ได้เข้าซื้อเอกสารประกวดราคา Request for Proposal (RFP) โครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่าการลงทุนรวม 224,544.36 ล้านบาท ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เปิดจำหน่ายเอกสาร RFP ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา และจนถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2561 รวม 10 วัน มีผู้เข้าซื้อเอกสารรวมแล้ว 14 ราย โดย TPIPL เป็นรายที่ 14 ส่วนอีก 13 ราย คือ 1.บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เข้าซื้อเอกสารวันที่ 27 มิถุนายน 2561, 2.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK, 3.China Railway Construction Corporation Limited เข้าซื้อเอกสารวันที่ 25 มิถุนายน 2561
4.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, 5.Fujita Corporation (Thailand) Ltd. เข้าซื้อเอกสารวันที่ 21 มิถุนายน 2561, 6.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เข้าซื้อเอกสารวันที่ 20 มิถุนายน 2561, 7.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (มหาชน) หรือ BTS 8.บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (CP), 9.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD, 10.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ, 11.บริษัท เอนเนอร์ยี คอมเพล็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT, 12. บริษัท อีโตชู คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ 13.Sinohydro Corporation Limited โดยเข้าซื้อเอกสารวันที่ 18 มิถุนายน 2561
ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.จะเปิดจำหน่ายเอกสารประกวดราคาไปจนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 กำหนดยื่นเอกสารวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 และเปิดข้อเสนอวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 สำหรับขอบเขตการลงทุนโครงการ คือ ผู้รับงานต้องออกแบบและก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระบบ ตัวรถ วงเงิน 161,507 ล้านบาท ก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง วงเงิน 7,210.67 ล้านบาท รับบริหารโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ปัจจุบัน โดยชำระเงินให้ ร.ฟ.ท. 10,671 ล้านบาท ขณะที่ ร.ฟ.ท.จะส่งมอบแอร์พอร์ตเรลลิงก์ให้หลังจากลงนามในสัญญารถไฟความเร็วสูง 2 ปี รวมตลอดสายทางมี 15 สถานี 220 กิโลเมตร ก่อสร้าง 5 ปี บริหารและเดินรถ 45 ปี
นอกจากนี้ผู้รับงานต้องลงทุนและเป็นผู้พัฒนาที่ดิน 2 แห่ง ตามแนวสายทางรถไฟความเร็วสูง คือ ที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ และที่ดินสถานีศรีราชา 25 ไร่ รวม 45,155.27 ล้านบาท ระยะเวลา 50 ปี โดยทั้งหมดนี้รัฐบาลไทยจะให้การอุดหนุนไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท