ประมูล บางซื่อ หมื่นล้าน บีทีเอส-เซ็นทรัล ชิงพัฒนามิกซ์ยูส
วรรณิกา จิตตินรากร
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) พ่วงเอาพื้นที่ทำเลทองมักกะสันให้สิทธิเอกชนพัฒนาในรูปแบบมิกส์ยูส ก็ถึงคราวเร่งสานต่อบิ๊กโปรเจคเนรมิต ที่ดิน 1 หมื่นล้าน "สถานีกลางบางซื่อ"ที่ร.ฟ.ท.เตรียมเข็นออกมาประมูล ต.ค.นี้
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.เปิดเผยถึง ความคืบหน้าของการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์กลางการคมนาคม หรือ Transit Oriented Development (TOD) โดยระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เพื่อยกร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ซึ่ง รฟท.ตั้งเป้า นำพื้นที่โซน A เฟสแรก ขนาด 16 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 35 ไร่ออกมานำร่อง เปิดประมูลก่อน คาดว่าจะได้ข้อสรุปของทีโออาร์ และเข้าสู่ขั้นตอนเปิดประมูลได้ภายในเดือน ต.ค.2561 สำหรับบริเวณพื้นที่โซน A อยู่ห่างจากสถานีรถไฟราว 50-100 เมตร ส่วนใหญ่ จะเป็นพื้นที่พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงานและธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม 3-4 ดาว หรือที่เรียกว่า การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบมิกซ์ยูสโดยพื้นที่ส่วนนี้ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของโครงการ ประเมินมูลค่าโครงการเบื้องต้น 10,000 ล้านบาท ส่วนกลุ่ม เป้าหมายเข้าร่วมประมูลเนื่องจากเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบมิกซ์ยูส จึงคาดว่าเอกชนที่สนใจจะอยู่ในกลุ่มรีเทล ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า และอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ทั้งนี้แผนพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ โดยภาพรวมของแผนพัฒนาแบ่งเป็น 8 พื้นที่ รวม 2,325 ไร่ มูลค่าไม่น้อยกว่า 1.5 แสนล้านบาท (ไม่รวมการพัฒนาระบบรถไฟ) และใช้เวลาในการพัฒนา 15 ปี ซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการตั้งแต่ ปี 2565 เป็นต้นไป
โดยสถานีกลางบางซื่อ ประกอบไปด้วย 1.พื้นที่โซน A พื้นที่รวม 35 ไร่ มีศักยภาพในการพัฒนากิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับระบบขนส่ง 2.พื้นที่โซน B พัฒนาเป็นพื้นที่มิกซ์ยูสศูนย์กลางการค้า3.พื้นที่โซน C พัฒนาเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมสัมมนา
4.พื้นที่โซน D ติดรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีเขียว มีศักยภาพในการพัฒนากิจกรรมเชิงพาณิชย์ดึงดูดนักท่องเที่ยว 5.พื้นที่โซน E พัฒนาเป็นสำนักงานหน่วยงานราชการ 6.พื้นที่โซน F พัฒนาเป็นย่านศูนย์การค้า 7. พื้นที่โซน G พัฒนาเป็นย่านที่พักอาศัย และ 8.พื้นที่โซน H พัฒนาเป็นพื้นที่ มิกซ์ยูส
ในฟากของภาคเอกชนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)กล่าวถึงโอกาสในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อว่า บริษัทมีความสนใจ และติดตามข้อมูลโครงการอยู่ ส่วนจะเข้าไปร่วมประมูลหรือไม่ต้องขอรอดูรายละเอียดเงื่อนไขการประมูลก่อน ซึ่งแน่นอนว่า หากบีทีเอสมีความสนใจที่จะเข้าไป ร่วมประมูล คงจะส่งเป็นทางบริษัทลูก อย่างบริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็น ผู้เข้าประมูลแทน
ขณะที่นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เคยกล่าวว่า เซ็นทรัลมองโอกาสที่จะเข้าร่วมประมูลพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ ในพื้นที่โซน A ที่รัฐบาลเตรียมจะนำมาเปิดประมูลในปีนี้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างวิเคราะห์อัตรา ผลตอบแทน รวมทั้งประเมินความต้องการของตลาด กลุ่มลูกค้าที่จะเข้าไปใช้พื้นที่ เนื่องจากแนวคิดการพัฒนาที่กำหนดเป็นอสังหาริมทรัพย์แบบมิกซ์ยูส มีทั้งโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และออฟฟิศ "ขณะนี้ได้ให้ทีมรวบรวมข้อมูลทำการศึกษาโครงการอย่างละเอียด ทุกด้าน แต่แน่นอนว่าเรื่องดูว่าคุ้มไม่คุ้ม เป็นปกติของการลงทุนแต่แมสทรานสิท ถือเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งบางซื่อจะเป็นฮับขนส่งของประเทศ เมื่อพัฒนาที่มักกะสันด้วยแล้ว ก็จะลิงค์เชื่อมกัน แต่ก็อาจจะไม่เหมือนต่างประเทศ เพราะไม่ได้อยู่ใจกลางเมือง เหมือนฮ่องกง โตเกียว นิวยอร์ก"