ประเคนที่มักกะสัน ให้ทุนรถไฟเชื่อม3สนามบิน
จับตารัฐบาลเตรียมยกกิจการการรถไฟในส่วนกำไรให้เอกชนมาร่วมทุนและบริหาร ส่วนระบบรางที่ต้องใช้งบประมาณ จะเก็บไว้ให้การรถไฟฯ ดูแล และลงทุนเอง เห็นได้จากความไม่ชอบมาพากล ผนวกเอาที่ดินมักกะสันให้กับกลุ่มทุนใหญ่ ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แถมตั้งราคาเช่าที่ดินต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมหาศาล จี้รัฐบาลทบทวน TOR
น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีตส.ว. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "รสนา โตสิตระกูล" หัวข้อ "จับตาการล็อกสเปกที่ดินมักกะสัน ให้กับกลุ่มทุนใหญ่ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน"
การรถไฟฯ เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการสาธารณะด้านคมนาคมต่อประชาชนด้วยราคาย่อมเยา อันเป็นพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และเป็นเจตนารมณ์ ในการก่อตั้งรัฐวิสาหกิจเพื่อให้รัฐจัดทำกิจการด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน
แม้การรถไฟไทยจะขาดทุน มีหนี้เป็นแสนล้าน ส่วนหนึ่งเพราะเจตนารมณ์ของรถไฟไทย คือเป็นบริการสาธารณะให้ประชาชนในราคาถูก จึงไม่เคยปรับราคาค่ารถไฟ ตั้งแต่ปี 2528 แม้การรถไฟฯ จะขาดทุนเป็นแสนล้านบาท แต่ก็มีทรัพย์สินที่เป็นที่ดินทำเลทองจำนวนมาก ที่มีมูลค่ารวมๆ แล้วกว่า 6 แสนล้านบาท ดังตัวอย่างที่ดินมักกะสัน ที่เป็นที่หมายปองของกลุ่มทุน รายใหญ่ในประเทศ
รัฐบาล คสช.เข้ามาจัดการกับรัฐวิสาหกิจหลายๆ แห่งในลักษณะการจะแยกทรัพย์สิน และผ่องถ่ายกิจการที่สามารถหากำไรได้ ไปให้เอกชน ใช่หรือไม่
กรณีการรถไฟฯ รัฐบาล คสช. มีแนวทางจะแยกเป็น 3 บริษัท คือ บริษัทบริหารทรัพย์สิน บริษัทเดินรถ และบริษัทระบบราง มีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะให้ 2 บริษัทแรก ที่สามารถทำกำไรได้ จะให้เอกชนมาร่วมทุนและบริหาร อาจเป็น กระบวนการแปรรูปที่หลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ใช่หรือไม่ ส่วนระบบรางที่ต้องใช้งบประมาณ จะเก็บไว้ให้การรถไฟฯ ดูแล และลงทุนเอง ใช่หรือไม่
ข้ออ้างของรัฐบาลคือ รัฐวิสาหกิจบริหารขาดทุน ไม่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นเหตุผลที่จะยกกิจการส่วนกำไรให้เอกชนบริหาร ใช่หรือไม่
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย เล่าว่า "ผมไปเจออาจารย์ท่านหนึ่ง นั่งรถไฟจากกรุงเทพฯไปดอนเมือง เขาบอกว่า ค่าโดยสาร 4 บาท ตั้งแต่เป็นอาจารย์ จนแต่งงาน มีภรรยา ก็ยัง 4 บาท ผมมีลูก จนลูกผมโตก็ 4 บาท ลูกเรียนจบ ทำงานแล้วก็ยัง 4 บาท อยู่อย่างนี้ นี่ไงครับ ผมถึงบอกรถไฟเป็นบริการสาธารณะ จะขึ้นค่าโดยสารทียากมากๆ"
กิจการอย่างการรถไฟ เป็นการบริการสาธารณะ รัฐบาลในอดีตจึงมีนโยบายรับภาระขาดทุนเพื่อให้ค่าเดินทางมีราคาต่ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนคนรายได้น้อย จึงไม่มีการปรับราคามากว่า 30 ปี
หากรัฐบาลอ้างว่าการรถไฟฯ ขาดทุน จึงต้องแยกกิจการเดินรถให้เอกชนบริหาร เอกชนก็ทำได้ทางเดียวคือ ขึ้นราคาค่าโดยสารเอากับประชาชนอย่างเป็นธรรม วิธีแก้ปัญหาแบบนี้ไม่ต้องให้เอกชนทำ เพราะการรถไฟฯ ก็ทำได้ หากรัฐมีนโยบายไม่ให้กิจการรถไฟขาดทุนดังที่เป็นอยู่และรายได้ทุกบาททุกสตางค์ ก็จะยังตกอยู่กับรัฐซึ่งก็คือกลับคืนไปสู่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจตัวจริงนั่นเอง
ทางที่เหมาะสม รัฐบาลควรกำหนดนโยบายหารายได้อย่างยั่งยืนจากทรัพย์สินที่มีอยู่ เพื่อมาจุนเจือการขาดทุนในส่วนของบริการเพื่อให้การรถไฟฯ อยู่ได้ และให้บริการสาธารณะที่มีมาตรฐานแก่ประชาชนต่อไป ด้วยราคาที่เป็นธรรม มิใช่ยกทรัพย์สินที่ดินไปให้เอกชนทำกำไร รวมทั้งยกกิจการการเดินรถให้เอกชนผูกขาดค้ากำไร เพราะประชาชนจะเดือดร้อนจากการคิดราคาค่าโดยสารแบบธุรกิจเอกชน
รัฐบาล คสช.มีแนวโน้มถ่ายโอนทรัพย์สินและกิจการของรัฐวิสาหกิจในส่วนของการเดินรถที่หากำไรได้ไปให้กลุ่มทุนใหญ่ ใช่หรือไม่ ดังจะเห็นได้จากการผนวกเอาที่ดินมักกะสัน ไป เชื่อมโยงกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ที่เตรียมเปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลแข่งขันกัน ในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
การโยงโครงการรถไฟความเร็วสูงเข้ากับกิจกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว มีความไม่ชอบมาพากล ซึ่งอาจทำให้ตั้งข้อสังเกตได้หรือไม่ว่า เป็นการล็อกสเปกให้กับกลุ่มทุนระดับชาติเพียงไม่กี่ราย ที่สามารถจับมือกับผู้ประกอบกิจการรถไฟความเร็วสูงในต่างประเทศที่จะเข้าครอบครองที่ดินแปลงนี้ และยังมีการตั้งราคาเช่าที่ดินต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงอย่างมหาศาล ยิ่งกว่านั้น ยังมีแผนจะโอนกิจการแอร์พอร์ตลิงก์ให้เอกชนบริหาร โดยให้เอกชนจ่ายชดเชยให้การ รถไฟฯ เพียง 1.3 หมื่นล้านบาท ทั้งๆ ที่ในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว การรถไฟฯ ใช้เงิน งบประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาท และการรถไฟฯ ยังมีหนี้ที่ต้องผ่อนชำระอีก 3 หมื่นล้านบาท
การดำเนินการดังกล่าว จึงถูกตั้งคำถามว่าเป็นโครงการที่อาจทำให้รัฐและประชาชนเสียประโยชน์อย่างมโหฬารหรือไม่ หรือมิฉะนั้นอาจมีการตั้งคำถามว่า นี่เป็นการทุจริตคอร์รัปชันขนาดใหญ่หรือไม่ ที่เปิดให้มีการถ่ายโอนทรัพย์สินและกิจการของรัฐไปให้เอกชน โดยยอมให้รัฐได้รับเงินชดเชยต่ำกว่าเงินที่รัฐลงทุน เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนโดยไร้เหตุผลหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีการตีมูลค่าที่ดินมักกะสันเพื่อให้เช่า 50+49 ปี ในราคาเพียงตารางวาละ 6 แสนบาท ทั้งๆ ที่ที่ดินในบริเวณใกล้เคียงมีมูลค่า 1.8-2 ล้านบาทต่อตารางวา
โดยที่โครงการแอร์พอร์ตลิงก์ เป็นโครงการที่รัฐลงทุนเอง บริหารเอง ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมที่รัฐทำเองครบทุกเรื่องเกี่ยวกับระบบราง รัฐบาลจึงควรส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจบริหารกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดการทุจริตคอร์รัปชัน ให้เป็นต้นแบบในการที่รัฐจะบริหารระบบขนส่งทางรางให้สมบูรณ์แบบดังพระราชปณิธานที่พระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงริเริ่มการรถไฟไทยขึ้น พร้อมให้ทรัพย์สินที่ดินเพื่อการพัฒนารัฐวิสาหกิจไทยด้านการคมนาคมทางรางอย่างทันสมัยเป็นที่พึ่งของประชาชน รัฐบาลเป็นเพียงผู้บริหาร มิใช่เจ้าของทรัพย์สินสาธารณะ ดังนั้นจึงไม่ควรยกกิจการและทรัพย์สินสาธารณะมูลค่ามหาศาลเหล่านี้ให้แก่เอกชนง่ายๆ ดังที่กำลังทำอยู่ โดยไม่ไถ่ถามประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินตัวจริง
โครงการรวบหัวรวบหางทรัพย์สิน และกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการของรัฐให้เอกชนทำแทนรัฐวิสาหกิจ ย่อมทำให้เกิดคำถามในความโปร่งใสของรัฐบาล คสช.หรือรัฐบาลใดก็ตามที่มีนโยบายเกี่ยวกับกิจการรัฐวิสาหกิจในลักษณะดังกล่าว จนอาจขาดความชอบธรรมในการที่รัฐบาลจะเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของประชาชนต่อไป ใช่หรือไม่ ??
จี้รัฐบาลทบทวน TOR
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ออกแถลงการณ์ ขอให้นายกฯ สั่งการให้ทบทวน และแก้ไขทีโออาร์ โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ที่ส่อมีการทุจริต และประพฤติมิชอบ เนื่องจากเงื่อนไขการประมูล (TOR) โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งมีการผนวกเอาที่ดินกว่า 140 ไร่ บริเวณมักกะสัน ของการรถไฟฯ เข้าไปรวมอยู่ในโครงการฯด้วย ถือว่าเป็นการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริต ที่นำทรัพย์สินของรัฐ ไปเอื้อประโยชน์ให้เอกชน จงใจขัดพระบรมราชโองการ ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ที่ทรงเมตตาพระราชทานที่ดินบริเวณมักกะสัน ให้เป็นของการรถไฟฯ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อความสุขของประชาชนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ให้นายทุนนำไปแสวงหากำไร
การนำที่ดินกว่า 140 ไร่ดังกล่าว ไปให้เอกชนพัฒนา จึงถือได้ว่าจงใจที่จะให้ที่ดิน ดังกล่าวตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน ตลอดระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี (+49 ปี) อันส่อไปในทางขัดต่อ รธน. มาตรา 56 ประกอบมาตรา 164 (1)(3) อย่างชัดแจ้ง อีกทั้งจงใจที่จะประเมินราคาที่ดินดังกล่าวให้ต่ำกว่าความเป็นจริง 3-4 เท่า ทำให้รัฐเสียประโยชน์ด้านมูลค่าที่ดินไปกว่า 2.8 แสนล้านบาท
โครงการฯ ดังกล่าว ยังจงใจเขียน "ล็อกสเปก" เพื่อ "ฮั้วประมูล" ให้เอกชนบางรายเป็นการเฉพาะ เข้าข่ายความผิดตาม "พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542" เนื่องจากเป็นการผูกโยงโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน กับกิจกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในพื้นที่โดยรอบสถานีเข้าด้วยกัน ทำให้จะมีเพียงกลุ่มนายทุนระดับชาติเพียงไม่กี่รายที่สามารถจับมือกับผู้ประกอบการรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากต่างประเทศได้ จึงเป็นการเขียน TOR แบบล็อกสเปก เพื่อกีดกันนักลงทุนขนาดกลาง และเล็ก ที่จะหมดสิทธิ์ในการเข้าร่วมประมูล
ดังนั้น หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการฯ โดยไม่มีการทบทวน หรือแก้ไข TOR ตามข้อเรียกร้องนี้ ถือว่า นายกรัฐมนตรี และรักษาการผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. จงใจที่จะใช้อำนาจไปในทาง มิชอบ และมีเจตนาที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนบางรายเป็นการเฉพาะ ซึ่งทางสมาคมฯ จำเป็นต้องใช้สิทธิในการนำความขึ้นร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อหาข้อยุติในเรื่องนี้ โดยตนจะไปยื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อนายกรัฐมนตรี ณ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาล ในวันนี้ (6 ส.ค. 61) เวลา 10.30 น.