ดันรถไฟฟ้าขอนแก่นลงทุน3หมื่นล้าน/ลุ้น คจร.ไฟเขียว
นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO เปิดเผยเกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา(LRT) จ.ขอนแก่น ลงทุน3หมื่นล้านบาทว่า ขณะนี้ โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างรอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.) อนุมัติภายในเดือนสิงหาคม 2561 พร้อมคาดว่าจะหาผู้รับจ้างก่อสร้างภายใน 2-3 เดือน และจะเริ่มก่อสร้างภายในช่วงปลายปี 2561 ซึ่งด้านการลงทุนนั้นจะเป็นงบลงทุนของส่วนเทศบาลทั้งหมด
ส่วนการจัดหาขบวนรถนั้นขณะนี้ มีบริษัทต่างชาติให้ความสนใจด้านงานระบบ เช่น จีน เยอรมนี และเช็ก โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของเทศบาลว่า จะมีการใช้ขบวนรถจำนวน 15 ขบวน โดยมี ขบวนละ 3 ตู้ ซึ่งใน 1 ขบวน สามารถบรรจุผู้โดยสารได้ 180 คน นอกจากนี้ ทางเทศบาลเมืองขอนแก่นได้ระบุใน รายละเอียดร่างเอกสารประกวดราคา(TOR) ว่าหากบริษัทต่างชาติที่มาลงทุนงานระบบและขบวนรถนั้นต้องตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าในไทยเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านรถไฟฟ้าให้แก่คนไทยด้วยก็จะได้คะแนนเพิ่มมากเป็นพิเศษ ซึ่งบริษัทหลายรายก็ยอมรับและคาดว่าจะได้ตัวภายในปี 2561
ในส่วนของเรื่องโครงสร้างราคาค่าโดยสาร นั้น ทางบริษัท ขอนแก่น ทรานซิทซิสเท็มส์ (KKTS) ได้ขอให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ศึกษาโครงสร้างราคาโดยเปรียบเทียบ การศึกษาราคาของระบบขนส่งภายในจังหวัดเพื่อให้ประชาชาสามารถใช้บริการได้อย่างเหมาะสม โดยเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าราคาจะอยู่ที่ประมาณ 17-20 บาท คาดการณ์ปริมาณผู้ใช้อยู่ที่ 60,000 คนต่อวัน
ทั้งนี้เส้นทางแรกจะดำเนินการก่อสร้างสายเหนือ-ใต้ช่วงบ้านสำราญ-บ้านท่าพระ จังหวัดขอนแก่น 18 สถานี ระยะทาง 26 กิโลเมตร วงเงิน 15,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในส่วนเส้นทางที่ 2 เชื่อมต่อตะวันออกตะวันตกของเมืองขอนแก่น งบประมาณ 15,000 ล้านบาท จะเริ่มดำเนินการเปิดประกวดราคาภายในปี 2563
นายองอาจ ปัณฑุยากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออลล่า จำกัด (มหาชน) หรือALLA ผู้ผลิต จำหน่าย และติดตั้งอุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุ อาทิ เครนและรอกไฟฟ้า กล่าวว่าบริษัทตั้งเป้าหมายจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อสร้างรถไฟฟ้าในทุกสาย เนื่องด้วยมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ประกอบการรับเหมาชั้นนำ ที่ผ่านมา บริษัทมีประสบการณ์เข้าไปมีส่วนร่วม ในงานรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีน้ำเงิน
ทั้งนี้ได้รับช่วงงานรถไฟฟ้าจากบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ในส่วนของ โรงซ่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง และการขนถ่ายอุปกรณ์เพื่อใช้ในการก่อสร้างของรถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่ารวม 33 ล้านบาท ในส่วนของสายสีแดงนั้น จะเริ่มส่งมอบ และทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปลายปี 2561 นี้ จนถึงปี 2562
"ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2561 พบว่าลูกค้าเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาหนาตา นับเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจว่า ภาคเอกชนเริ่มขยับการลงทุน และอาจเพิ่มการลงทุนขนาดใหญ่ตามมา" นายองอาจกล่าว