ปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย คือ ตัววัดความเชื่อมั่นของบริษัทผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยแบ่งเป็นความเชื่อมั่นในปัจจุบันและความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เก็บข้อมูลจากผลประกอบการ ยอดขาย สถานการณ์การลงทุน การจ้างงาน ต้นทุนการประกอบการ และการเปิดโครงการใหม่ของบริษัท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวเลขสถิติที่ที่มีความสำคัญมากต่อการวางแผนการลงทุนอสังหาฯ เพราะทำให้ทราบถึงแนวโน้มสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในมุมมองของผู้ประกอบการว่าเป็นไปในทิศทางใด และเหมาะกับการเข้าลงทุนตามกลยุทธ์การลงทุนของเราหรือไม่
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้แก่
-
สภาพเศรษฐกิจ
ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ เพราะหากเศรษฐกิจไม่ดี ย่อมหมายถึงกำลังในการซื้อของผู้คนหดหาย ความเสี่ยงในการขายโครงการที่อยู่อาศัยไม่ได้ก็จะมีมากขึ้น จึงทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการต่อตลาดอสังหาฯ ลดต่ำลง อาจนำมาซึ่งการลดจำนวนโครงการเปิดใหม่ และเน้นการเร่งระบายสต็อกเดิมที่มีอยู่ให้หมดเร็วที่สุด ซึ่งในแง่หนึ่งก็อาจเป็นโอกาสดีของนักลงทุนก็ได้ ที่หากผู้ประกอบการเร่งระบายสต็อก นั่นย่อมหมายความว่าจะมีโปรโมชั่นพิเศษเพื่อกระตุ้นการขายออกมาโดยเฉพาะ
-
สภาพสังคม
นอกจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แล้ว สภาพสังคมทั้งในและต่างประเทศก็มีส่วนสำคัญโดยตรงเช่นกัน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนที่สุดคือ ในช่วงที่เกิดวิกฤตโรคระบาด ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ สภาพจิตใจ ของผู้คนย่ำแย่ สภาพสังคมก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกันกับสภาพเศรษฐกิจ ส่งผลทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการทั้งปัจจุบันและในอีก 6 เดือนข้างหน้าลดต่ำลง ซึ่งตราบที่สถานการณ์สภาพสังคม วิกฤตปัญหาการเมืองต่าง ๆ ยังไม่คลี่คลาย ผู้ประกอบการก็จะยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์ตลาดต่อไป และส่งผลทำให้ตลาดอสังหาฯ ชะลอตัวลงไปเรื่อย ๆ
-
ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยและลงทุนอสังหาฯ
แน่นอนว่าถ้าผู้คนไม่มีกำลังซื้อ นักลงทุนไม่อยากลงทุนซื้ออสังหาฯ หรือมีความต้องการอสังหาฯ ลดน้อยลงไป ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการย่อมลดลงไปโดยปริยาย เพราะความสำเร็จของผู้ประกอบการก็คือสามารถขายอสังหาฯ ได้ตามเป้าหมาย ดังนั้น ความต้องการที่อยู่อาศัยและอสังหาฯ ของนักลงทุนและผู้บริโภคจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งความต้องการซื้อของผู้คน กำลังซื้อ ความอยากลงทุนจะมากขึ้นหรือน้อยลงนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนสถานการณ์การเมืองและนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
หลาย ๆ คนอาจมองว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อาศัยนั้นเป็นเรื่องไกลตัว ไม่สำคัญหรือไม่มีผลต่อการลงทุนมากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วตรงกันข้าม เพราะดัชนีความเชื่อมั่นเป็นหนึ่งในตัวสะท้อนสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ที่มีประสิทธิภาพ โดยเราอาจประเมินได้ง่าย ๆ เลยว่า ยิ่งผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากเท่าไร ก็มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะดี กำลังซื้อจะดี โอกาสในการลงทุนอสังหาฯ ให้ทำกำไรได้ตามเป้าหมายก็จะยิ่งมีมากขึ้น ในขณะที่หากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการต่ำ ก็เหมือนเป็นสัญญาณเตือนว่าในช่วงเวลานี้มีความเสี่ยงต่อการลงทุน แต่ก็อาจเป็นโอกาสของนักลงทุนที่มีความพร้อมที่มีโอกาสได้อสังหาฯ ในราคาที่ต่ำกว่าปกติเนื่องจากมีการเร่งระบายสต็อกจากทางฝั่งของผู้ประกอบการเพราะกังวลในสถานการณ์ตลาดนั่นเอง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
สมัครเป็นสมาชิกเว็บ REIC
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
รู้ข้อมูลอสังหาฯ ก่อนใคร
สมัครได้ฟรี ไม่มีเงื่อนไข
เพื่อให้การซื้อ-ลงทุนที่อยู่อาศัย
เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด
.
.
สมัครเลยที่
https://www.reic.or.th/Member/RegisterGeneral
.
.
------------------------
ติดตามศูนย์ข้อมูลฯ เพิ่มเติมได้ที่
Website : www.reic.or.th
Twitter : www.twitter.com/REICFan
Youtube : www.youtube.com/user/REICPR
Line : @REICFan
#ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ #REIC