Loading

สรุปสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย ไตรมาส 3 ปี 2564 และ 9 เดือนแรกของปี 2564 ทั่วประเทศ

วันที่ : 1 ธันวาคม 2564
                       จากสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาส 3 ปี 2564 ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.6 ในไตรมาสที่สองของปี 2564 เนื่องจากได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นระลอกที่สี่ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จากสายพันธุ์เดลต้า และส่งผลให้ทางด้านสาขาก่อสร้างปรับตัวลดลงร้อยละร้อยละ -4.1 เช่นกัน เมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นการลดลงทั้งในการก่อสร้างภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปิดแคมป์คนงานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการก่อสร้างภาครัฐลดลงร้อยละ -6.2 เมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.0 ในไตรมาสก่อนหน้า และการก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ -0.5 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ โดยเป็นผลมาจากการลดลงต่อเนื่องของการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยทั่วประเทศมีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3 ปี 2564 ทั้งด้านอุปทานด้านการออกใบอนุญาตสรรที่ดินลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่หก การออกใบอนุญาตก่อสร้างลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่เจ็ด และอุปสงค์ด้านการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจำนวนหน่วยลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่เจ็ด และมูลค่าลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่แล้ว
                      ในภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม - กันยายน) เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19  สี่ระลอกด้วยกัน มีอัตราการขยายตัวติดลบในไตรมาส 1 ร้อยละ -2.6 แต่ไตรมาส 2 มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 แต่เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ต่ำผิดปกติในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน  และไตรมาส 3 กลับมาติดลบอีกครั้งร้อยละ -0.3 ส่งผลให้ทั้งอุปทานและอุปสงค์ของตลาดที่อยู่อาศัยหดตัวลง โดยเฉพาะตลาดอาคารชุด ซึ่งได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อชาวต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ 
                      ทั้งนี้ ยอดโอนกรรมสิทธิ์ใน 9 เดือนแรกปี 2564 (มกราคม - กันยายน) มีการหดตัวลงร้อยละ -29.8 ของจำนวนหน่วย ขณะที่มูลค่าหดตัวร้อยละ -15.5 ซึ่งมูลค่ามีการหดตัวน้อยกว่าจำนวนหน่วย และพบว่าในช่วงระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไปมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 และเป็นการเพิ่มขึ้นในที่อยู่อาศัยแนวราบ ส่วนอาคารชุดมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ในระดับราคา 1.51 – 2.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8
                       ส่วนด้านอุปทานหน่วยที่อยู่อาศัยจากการขอใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน และ การขอใบอนุญาตปลูกสร้างที่อยู่อาศัยหดตัวลงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม - กันยายน)  ร้อยละ -31.0 และ -9.5 ตามลำดับ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยอาคารชุดหดตัวลงมากกกว่าที่อยู่อาศัยแนวราบ จากข้อมูลการขอใบอนุญาตก่อสร้างมีการหดตัวลงมาของอาคารชุดถึงร้อยละ -25.0 ในขณะที่แนวราบมีการหดตัวเพียงร้อยละ -4.3 นับว่าเป็นการปรับตัวเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของตลาดที่อยู่อาศัย และเป็นการปรับตัวของผู้ประกอบการที่มีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจไปพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรเข้ามาสู่ตลาดมากกว่าอาคารชุด อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 ยังมีปัจจัยเสี่ยง  ต่าง ๆ ที่จะต้องติดตามและเฝ้าระวัง อาทิ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ที่มีข่าวการกลายพันธุ์ของไวรัสในแอฟริกาใต้ ความล่าช้าของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชน และต่อตลาดที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ 


อ่านต่อฉบับเต็ม .... Download PDF         
 
สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่