พิษ NPL สินเชื่อบ้าน ธปท. ถกมาตรการใหม่ Q4
Loading

พิษ NPL สินเชื่อบ้าน ธปท. ถกมาตรการใหม่ Q4

วันที่ : 1 ตุลาคม 2561
ประเด็นหนี้เสียสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ออกมาส่งสัญญาณเตือน บวกกับล่าสุด บจ.ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ระบุว่า ยอดหนี้ค้างชำระ สินเชื่อบ้านและคอนโดฯ ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบขณะนี้อยู่ที่ 4% หรือคิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท เทียบกับข้อมูลของ ธปท.ที่ชี้ว่า ช่วงไตรมาส 1/2562 ที่ผ่านมา NPLs สินเชื่อบ้านอยู่ในระดับ 3.38%
          ประเด็นหนี้เสียสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ออกมาส่งสัญญาณเตือน บวกกับล่าสุด บจ.ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ระบุว่า ยอดหนี้ค้างชำระ สินเชื่อบ้านและคอนโดฯ ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบขณะนี้อยู่ที่ 4% หรือคิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท เทียบกับข้อมูลของ ธปท.ที่ชี้ว่า ช่วงไตรมาส 1/2562 ที่ผ่านมา NPLs สินเชื่อบ้านอยู่ในระดับ 3.38%

          ยิ่งตอกย้ำถึงความสุ่มเสี่ยงจากปมปัญหาที่แบงก์ชาติวิตกกังวลและจับตาสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่ด้อยลง ปล่อยเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด การซื้อคอนโดฯเก็งกำไร ปัญหาซัพพลายล้น จนน่าห่วงว่าจะบานปลายกลายเป็นฟองสบู่ซ้ำรอยอดีต แม้คนในวงการอสังหาฯและแวดวงการเงินส่วนใหญ่จะมองต่างมุม แต่การส่งสัญญาณเตือนอย่างน้อยน่าจะทำให้นายแบงก์ ดีเวลอปเปอร์ปรับตัวรับความเสี่ยงได้ล่วงหน้า

          คลังหนุน ธปท.คุมสินเชื่ออสังหา

          นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า การคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ถือเป็นหน้าที่ของ ธปท.อยู่แล้ว เพราะเป็นผู้กำกับสถาบันการเงินและดูเรื่องความมั่นคงของสินเชื่อทั้งระบบ ธปท. จึงต้องดำเนินการทุกอย่างด้วยความรวดเร็ว เมื่อพบปัญหาก็ควรมีมาตรการออกมา

          "ฝ่ายอื่น ๆ จะไปว่า ธปท.ไม่ได้ เรื่องนี้กระทรวงการคลังไม่มีตัวเลขสินเชื่ออสังหาฯ แต่ ธปท.เป็นผู้เก็บตัวเลขและเก็บได้รวดเร็วมาก อย่างไรก็ตาม ถ้าหากผู้ประกอบการเกรงว่ามาตรการที่ ธปท. จะออกมาอาจกระทบกับการขายอสังหาฯ ก็สามารถเข้าไปชี้แจงหรือหารือกับ ธปท.ได้โดยตรง" นายอภิศักดิ์กล่าว

          พอร์ตอสังหา 2 ล้านล้านน่าห่วง

          นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST เปิดเผยว่า สัญญาณจาก ธปท.สะท้อนถึงความกังวลมากและต้องการปรามกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังงหาฯ เพราะข้อมูลปัจจุบัน ยอดคงค้างการปล่อยสินเชื่อให้ภาคอสังหาฯ รวมที่ดินอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท เป็นพอร์ตขนาดใหญ่พอ ๆ กับพอร์ตสินเชื่อภาคธุรกิจ

          "ที่ ธปท.เข้ามาคุม แสดงว่าเห็นอะไรอยู่ และหากมีปัญหาเกิดขึ้นจะกระทบต่อแบงก์ ขณะที่พอร์ตสินเชื่อเพื่อที่อยู่ อาศัย (รายย่อยกู้ซื้อบ้าน) มีสัดส่วนสูงถึง 30% ของพอร์ตสินเชื่ออุปโภคบริโภค"

          สอดคล้องกับที่นายศรพล ตุลยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า เรื่องดังกล่าวเป็นข้อสังเกตจาก กนง. แต่หากมีการออกมาตรการคุมเข้มมากขึ้นจะทำให้แบงก์ปล่อยสินเชื่ออสังหาฯยากขึ้น ซึ่งภาคอสังหาฯเป็นเซ็กเตอร์ใหญ่ที่มีผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ธปท. อาจมีข้อมูลเชิงลึก จึงต้องรอดูว่านโยบายจะออกมาอย่างไร

          กรุงไทย NPL สินเชื่อบ้าน 1%

          นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การส่งสัญญาณของแบงก์ชาติเป็นเพราะห่วงเรื่องการปล่อยสินเชื่อเมื่อเทียบกับมูลค่าหลักประกัน (LTV) สูงเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด แต่ในส่วนของแบงก์กรุงไทยเกณฑ์การพิจารณาให้สินเชื่อใช้เกณฑ์ปกติ ไม่ได้มีการหย่อนเกณฑ์ ทั้งนี้ ช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 61 กรุงไทยมีหนี้ NPLs ทั้งระบบกว่า 1 แสนล้านบาท หรือเท่ากับ 4.4% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่สามารถตัดขายหนี้เสียในราคาต่ำกว่าราคาบุ๊กได้ แต่ในส่วนของสินเชื่อบ้านมีหนี้เสียต่ำสุด 1%

          จับตามาตรการใหม่ไตรมาส 4

          นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บจ.ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า สถานการณ์อสังหาฯขณะนี้ถือว่าท้าทายและยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม แต่ยังไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการนำไปสู่ความเสี่ยงเชิงระบบ เหมือนที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตปี 2540 เชื่อว่าสถานการณ์อสังหาฯในปัจจุบันแตกต่างจากช่วงวิกฤตปี 2540 โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจส่วนใหญ่มีประสบการณ์เยอะกว่าในอดีต

          สำหรับข้อกังวลต่อความต้องการซื้อที่อาจไม่ได้เป็นความต้องการซื้อที่แท้จริง พบว่าส่วนใหญ่จำนวนที่อยู่อาศัยที่ขายได้ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในปี 2560 มีผู้ซื้อที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 70% โดยผ่านกระบวนการตรวจสอบสินเชื่อตามเกณฑ์มาตรฐาน ผู้ซื้อต่างชาติอยู่ที่ 12% และผู้ซื้อด้วยเงินสดหรือซื้อผ่านตัวแทนอยู่ที่ 15-20%

          "ที่น่าจับตามองคือช่วงไตรมาส 4 ปี 2561 ธปท.มีแผนเรื่องเตรียมหารือกับผู้ประกอบการภาคอสังหาฯ มีความเป็นไปได้ที่จะหารือกันเรื่องมาตรการดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน (Macro-Prudential) หรืออาจมีมาตรการออกมา ซึ่งน่าจะช่วยให้ตลาดอสังหาฯปรับตัวในทิศทางที่มีคุณภาพมากขึ้น"

          อย่างไรก็ตาม จากที่คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเริ่มปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2562 ซึ่งจะส่งผลให้แนวโน้มภาพรวมตลาดอสังหาฯเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง จากภาวะตลาดที่ตึงตัวและจำนวนที่อยู่อาศัยค้างสะสมที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการระบายที่นานขึ้น
 
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ