'พิชัย' ดึงแบงก์รัฐช่วยธุรกิจรับผลกระทบนโยบายทรัมป์
Loading

'พิชัย' ดึงแบงก์รัฐช่วยธุรกิจรับผลกระทบนโยบายทรัมป์

วันที่ : 16 พฤษภาคม 2568
"พิชัย" ดึงแบงก์รัฐช่วย 6 ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ ทั้งธุรกิจส่งออกและซัพพลายเชน อสังหา ท่องเที่ยว ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าจีน และเอสเอ็มอีรายย่อย
     นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวระหว่างมอบนโยบายแก่ผู้บริหารแบงก์รัฐว่า ขอให้แบงก์รัฐได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจส่งออกและซัพพลายเชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายตอบโต้ภาษีของสหรัฐอเมริกา เชื่อว่า ไทยจะได้รับกระทบจากนโยบายทรัมป์ไม่มากไปกว่าประเทศอื่น ในทางกลับกันถ้าเราทำดีๆ เราจะได้รับประโยชน์ในระยะยาว อย่างไรก็ดี ผลกระทบ ที่เกิดขึ้นในระยะสั้นหรือจากนี้ไปอีก 2 ปี จะทำให้เศรษฐกิจสะดุด โดยเฉพาะภาคการส่งออก ดังนั้น กล่มธุรกิจนี้ จึงเป็นเป้าหมายที่เราต้องเข้าไปดูแล

    "เรายังต้องดูแลคู่ค้าของผู้ส่งออกด้วย โดยเฉพาะซัพพลายเชน ดังนั้น เราต้องหามาตรการเข้าไปช่วยเหลือทั้ง 2 กลุ่ม"
นอกจากนี้ เรายังต้องมีมาตรการ เข้าไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ได้รับ กระทบในวงกว้างด้วย โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแบงก์รัฐควรเข้าไปดูเรื่องการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการและรวมถึงผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีรายย่อย ธุรกิจท่องเที่ยว และรวมถึงเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าจีนด้วย

    "เราต้องเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ที่ผ่านมา การปล่อยสินเชื่ออยู่ในระดับคงที่และน้อยลง แปลว่า เศรษฐกิจชะลอตัว แบงก์เองขาดความมั่นใจ แต่ในส่วนแบงก์รัฐเรายังทำหน้าที่ได้ แปลว่า แบงก์รัฐตอบสนองต่อนโยบายทั้งเรื่องการปล่อยสินเชื่อและการช่วยเหลือลูกหนี้"

     ทั้งนี้ ล่าสุดหนี้ครัวเรือนได้ลดลงจาก 91% ต่อจีดีพีในปีที่แล้ว เหลือ 86% ต่อจีดีพี แต่จำนวนหนี้ไม่ได้ลดลง หมายความว่า จีดีพีหรือตัวหารเราขยายตัวมากขึ้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลก็จะเร่งแก้ไขหนี้เสียให้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มหนี้รายย่อยที่มีมูลหนี้ต่ำกว่า 1 แสนบาท

     ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนที่เป็นหนี้เสีย (NPL) อยู่ 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 65% ของหนี้ครัวเรือน ทั้งหมด คิดเป็น 5.4 ล้านราย เป็นหนี้เสียที่มูลหนี้ ต่ำกว่า 1 แสนบาท คิดเป็น 3 ล้านราย โดยในส่วนนี้ ธนาคารออมสินได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว 5.4 แสนราย และมีแผนจะแก้ไขอีก 4 แสนราย ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้แก้ปัญหาในส่วนนี้ไปแล้ว 2.5 แสนราย และมีแผนจะทำเพิ่มอีก 7 หมื่นราย ซึ่งจะช่วยทำให้หนี้เสียในส่วนนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจำนวนวงเงินจะลดลงไม่มากคิดเป็น 10% ของ NPL