ตลาดอสังหาฯปี 67 ชะลอตัวตามกำลังซื้อ ปัจจัยลบรอบด้านเป็นตัวแปร
Loading

ตลาดอสังหาฯปี 67 ชะลอตัวตามกำลังซื้อ ปัจจัยลบรอบด้านเป็นตัวแปร

วันที่ : 13 มกราคม 2568
นายกสมาคมอาคารชุดไทย วิเคราะห์ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 ว่าเป็นปีที่ต้องเผชิญปัจจัยลบหลากหลายด้าน ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่สูง ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้น และนโยบาย Loan-to-Value (LTV) ที่จำกัดการเข้าถึงสินเชื่อของผู้บริโภค
     ตลาดอสังหาริมทรัพย์ตลอดปี 2567 ไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามที่หลายฝ่าย คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ปลายปี 2566 เนื่องจากผู้บริโภคยังคงเผชิญกับความท้าทายทางการเงินมีภาวะหนี้สินครัวเรือน หนี้นอกระบบ และขาดความเชื่อมั่น ขณะที่สถาบันการเงินปฏิเสธอนุมัติสินเชื่อ แม้ภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ออกมาเพิ่มเติม แต่ก็ไม่แรงพอที่จะขับเคลื่อนการเติบโตอย่างชัดเจน ท่ามกลางปัจจัยลบรอบด้าน

     ในรอบปี 2567 มีข่าวไม่น้อยแต่ "ดอกเบี้ยธุรกิจ" คัดเลือกเฉพาะข่าวเด่น ข่าวดัง ข่าวที่สะท้อนภาพรวมของตลาดมาทบทวนก้น

     รัฐบาลเศรษฐาหนุน ออกมาตรการกระตุ้นฯ

      เข้าปี 2567 รัฐบาลเศรษฐาพยายามที่จะกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น จากปี 2566 พยายามอยากให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่เป็นผล ในที่สุดในเดือนเมษายน 2567 จึงใช้วิธีออกมาตรการอื่นแทน โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้

       1. ลดค่าธรรมเนียมการโอน จาก 2% เหลือ 0.01% 2. ลดค่าจดจำนอง จาก 1% เหลือ 0.01% 3. มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ที่สร้างบ้านบนที่ดินเปล่า 4. สินเชื่อพิเศษของธนาคารรัฐ สำหรับผู้มีรายได้น้อย และบุคคลทั่วไป 5. ส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผ่านมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี สำหรับโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

       มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์กระตุ้นกำลังซื้อ ทำให้ได้ประโยชน์จากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน เหลือ0.01% สำหรับอสังหาริมทรัพย์ ประเภท บ้านเดี่ยว บ้านแฝดทาวน์เฮาส์ ที่ดินพร้อมอาคาร และห้องชุด ที่มีราคาซื้อและราคาประเมิน ไม่เกิน 7 ล้านบาท และกรณีที่ขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยก็จะได้ประโยชน์จากการลดค่าจดจำนองเหลือ 0.01% ด้วยเช่นกันทั้งนี้ภาคธุรกิจต่างขานรับและรู้สึกเพิ่มความหวังในการขับเคลื่อนอสังหาฯ ปี 2567 มากขึ้น.

        นายกสมาคมอาคารชุดไทยชี้ ปี 2567 ปีมรสุมอสังหาฯ

        นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต

        นายกสมาคมอาคารชุดไทยวิเคราะห์ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 ว่าเป็นปีที่ต้องเผชิญปัจจัยลบหลากหลายด้าน ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่สูง ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้น และนโยบาย Loan-to-Value (LTV) ที่จำกัดการเข้าถึงสินเชื่อของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ค่าเงินบาทแข็งตัวในช่วงกลางปี และภาวะวะเศรษฐกิจเค ที่ไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะในตลาดกลางล่างที่ผู้บริโภคไม่มีโอกาสเข้าถึงการซื้อบ้าน ปี 2567 ถือเป็นปีที่ยากลำบากที่สุดสำหรับธุรกิจอสังหาฯเรียกได้ว่าเป็นปีแห่ง Perfect Storm โดยเฉพาะในไตรมาส 3 ที่เป็นจุดต่ำสุดของปี อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 4 เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวจากโครงการใหม่ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ยอดขายพรีเซลเมื่อสิ้นปีคาดว่าติดลบประมาณ 25% สินค้าหลายประเภทถือว่าเป็นนิวโลว์ในรอบหลายสิบปี ซึ่งถือเป็นปีมรสุมสำหรับธุรกิจอสังหาฯ

       ด้านยอดโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะช่วง 9 เดือนแรก ติดลบ 8% แต่ในไตรมาสสุดท้ายของปีมีตึกใหม่ๆ ที่ขายเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เสร็จพร้อมโอนค่อนข้างมากเทียบได้กับ 3 ไตรมาสแรกของปี 2567 รวมกัน มูลค่าประมาณ 87,000 ล้านบาท จะส่งผลให้เมื่อสิ้นปียอดโอนกรรมสิทธิ์จะติดลบน้อยลงมาอยู่ที่ 5-7% แต่ก็ทำให้ยอดการก่อ สินเชื่อใหม่ลดลงตามยอดโอนราว 7% เช่นเดียวกัน

      นายประศาสน์ ตั้งมติธรรม กรรมการที่ปรึกษา บริษัท ศุภาลัยกล่าวว่า ในปี 2567 สิ่งที่โจษจันกันเกี่ยวกับตลาดที่อยู่อาศัยคือ ยอดขายที่ลดลง ซึ่งตัวเลข 10 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามประมาณการที่ 246,000 ล้านบาท "ลดลง" จาก 272,000 ล้านบาท ในปีก่อนหน้า ราว 9.5 % ขณะที่สถาบันการเงินต่างปฏิเสธการให้สินเชื่อผ่อนชำระที่อยู่อาศัยทำให้ยอดสินเชื่อผ่อนชำระที่อยู่อาศัยที่ปล่อยใหม่ปี 2567 ลดลง 8%จาก Random Effects สถิติต่างๆ เมื่อดูจากยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ที่สูงขึ้นถึงระดับ 440,000 ล้านบาท ในปี2565 ปฏิเสธไม่ได้ว่าสินเชื่อผ่อนชำระที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ยอดขายที่อยู่อาศัยทั้งจำนวนเงิน และจำวนหน่วยขึ้นถึงระดับสูงสุดในช่วง 4-5 ปี มานี้

      สำหรับประมาณการจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยที่ขายได้ในช่วงปี2567 ใกล้เคียงกับปี 2563 ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 อย่างกะทันหัน และรุนแรง ประมาณการนี้อยู่บนฐานของข้อมูล 3 ไตรมาส แต่ภาวะการขายน่าจะมีการฟื้นตัวในช่วงปลายปี อีกตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการขายคือ เปอร์เซ็นต์ของ Total Supply ที่ขายได้ ซึ่งลดลงตั้งแต่ปี 2561 ที่ 38% จนเหลือ 24% ในปี 2567 นี่คือ เปอร์เซ็นต์ที่ขายได้จากสินค้าทั้งหมดที่นำเสนอ ซึ่งมีทั้งสินค้าค้างมาจากปีก่อนหน้า และสินค้าที่เปิดขายใหม่ในปี 2567 ซึ่งเปอร์เซ็นต์การขายจากสินค้าเปิดขายใหม่ก็มีแนวโน้ม "ลดลง"ในลักษณะใกล้เคียงกัน.

      ออมสิน-ธอส.นำร่อง ลดดอกเบี้ยให้คนซื้อบ้านง

       หลังจากคนเป็นหนี้ โดยเฉพาะหนี้บ้านต้องโหนดอกเบี้ยสูงมายาวนาน ในที่สุด แบงก์ชาติ กนง.ได้ยอมลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาให้ 1ครั้งในการประชุมวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ซึ่งตามปกติแบงก์ เอกชน แบงก์รัฐจะลดดอกเบี้ยตามอย่างว่องไว แต่คราวนี้ยังไม่มีทีท่าว่าแบงก์พาณิชย์จะขยับลดดอกเบี้ยตามในเร็ววัน ดังนั้นแบงก์รัฐอย่างออมสินและ ธอส.ต้องนำร่องให้ก่อน โดยวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ธนาคารออมสินประกาศดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทลง 0.25% ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ประกอบด้วย ดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา (MLR) ลดลงเหลือ 6.900% ต่อปี และดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ลดลงเหลือ 6.745% ต่อปี ส่วน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สถาบันการเงินหลักที่ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยทำให้คนไทยมีบ้านได้ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% โดยมีผล 1 พฤศจิกายน 2567 เช่นกัน ซึ่งเป็นแรงส่งที่ดีในช่วงสินเชื่อใหม่และคนผ่อนบ้านและต่อยอดการเดินหน้ามาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลออกมา

       นายอิสระ บุญยัง ประธานกรรมการ บริษัท กานดาพร็อพเพอร์ตี้ และประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่ม อสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยของ กนง.เป็นเรื่องที่ดี ส่งสัญญาณบวกต่อภาคส่งออกท่องเที่ยว รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ที่การลดดอกเบี้ยมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนทำให้มีการกลับมาโอนคอนโดมิเนียมของลูกค้าต่างชาติและลดภาระการผ่อนชำระค่างวดสินเชื่อบ้าน ซึ่งการลดดอกเบี้ยของแบงก์รัฐทำให้แบงก์พาณิชย์ทยอยลดดอกเบี้ยลง อย่างไรก็ตามยังคงมีปัญหาเรื่องการปล่อยกู้สินเชื่อใหม่ของทั้งแบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์

      นายวิชัย วิรัตกพันธ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์อสังหาริมทรัพย์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ตั้งข้อสังเกตว่า การลดดอกเบี้ยช่วยเป็นแรงส่งกระตุ้นเศรษฐกิจ-ต่อยอดมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ เพิ่มยอดขาย

      รถไฟฟ้าสายสีส้มคืบหน้า BEM เร่งรื้อย้ายสาธารณูปโภค

       การลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ที่มีมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่จะเชื่อมกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกันโดยสายสีส้มฝั่งตะวันออกดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้วและกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพหรือ BEM ผู้รับสัมปทาน เร่งรัดการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าในส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าในส่วนตะวันออกได้ก่อนภายในต้นปี 2571 และเร่งเปิดให้บริการตลอดทั้งเส้นทางทั้งส่วนตะวันออกและตะวันตกให้แล้วเสร็จก่อนกำหนดการในเดือนพฤศจิกายน 2573

      โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มขณะนี้ทางเอกชนผู้รับสัมปทาน คือ BEM ได้เริ่มดำเนินงานเข้าไปสำรวจสาธารณูปโภคแล้ว โดยภาพรวมมีความก้าวหน้า ณ สิ้นเดือน ตุลาคม 2567 อยู่ที่ 1.90% BEM เริ่มงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งทราบว่าตามแผนจะทยอยดำเนินการ 5 สถานีแรก ประกอบด้วยสถานีบางขุนนนท์ สถานีศิริราช สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสถานียมราช และสถานีประตูน้ำ โดยจะดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรชิดทางเท้า 1 ช่องจราจร ยกเว้นสถานีศิริราชจะเป็นการจัดการจราจรในพื้นที่ก่อสร้างที่ไม่ส่งผลกระทบต่อช่องจราจร สำหรับ สถานีส่วนที่เหลือได้ดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2567

      คาดว่าในช่วงต้นปี 2568 จะสามารถนำเครื่องจักรเข้าพื้นที่เพื่อเริ่มเตรียมก่อสร้างโครงการได้ โดยจะทยอยก่อสร้างส่วนของ 5 สถานีแรก ซึ่งงานโยธาส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาภายใน 6 ปี โดย BEM คาดว่าจะเร่งรัดงานดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อนกำหนด เพื่อเปิดให้บริการได้ ภายในปี 2573.

      SC กางแผนภารกิจ SCero Mission

      บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น เร่งภารกิจสำคัญในปี 2567 คือ SCero Mission เพื่อดูแลด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ และการสานภารกิจให้ไปถึง Net Zero โดยขอร่วม เป็นส่วนหนึ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG หรือ Greenhouse Gases) ให้มากที่สุด จากสภาพอุณหภูมิที่สูงขึ้นเนื่องจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติจากอุตสาหกรรมหนักเยอะมากไม่ว่าจะเป็นเหล็ก ซีเมนต์ ที่ใช้ในการสร้างบ้าน คอนโด โรงแรม อาคารสำนักงาน และคลังสินค้า

      ทั้งนี้ ธุรกิจของบริษัทเกี่ยวข้องตั้งแต่การออกแบบ จัดซื้อสร้าง ใช้ และทิ้ง ซึ่งมีผลต่อ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในช่วง การ "ออกแบบ" และ "ใช้" หรือช่วง" การพักอาศัยของลูกค้า(Operational Carbon) และ "การจัดซื้อ" หรือการเลือกอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างซึ่งติดมากับตัวสินค้า (Embodied Carbon) ที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับต้นๆ ของกระบวนการพัฒนาโครงการ เอสซี แอสเสท เริ่มจากการโฟกัสส่วนที่บริษัทสามารถบริหารจัดการได้คือ การ "ออกแบบและจัดซื้อ" จึงเป็นที่มาของภารกิจ SCero Mission และการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า35,000 ตันคาร์บอนฯ ภายใน 3 ปี ด้วยการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากร ประหยัดพลังงาน และการจัดซื้อสีเขียวในโครงการแนวราบที่มีสัดส่วนถึง 70% ของรายได้บริษัท โดยเริ่มจากงานออกแบบ ผังโครงการ ภูมิสถาปัตย์.

      แสนสิริขยายพอร์ตสู่ภูเก็ต กินมาร์เก็ตแชร์ชาวต่างชาติ

      ปี 2567 ถือว่าแสนสิริได้เดินหน้าขยายไปยังตลาดต่างจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะภูเก็ตที่มียอดขายเป็นอันดับสองรองจากกรุงเทพฯ เท่านั้น และได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการลงทุนโครงการใหม่ของแสนสิริในภาคใต้ ขณะที่กรุงเทพฯ กำลังประสบปัญหาด้านกำลังซื้อ หนี้ครัวเรือน และชาวต่างชาติลดน้อยลง โดยเฉพาะในกลุ่มคอนโดที่มีราคาเฉลี่ยประมาณ 3 ล้านบาทซึ่งถือว่าเป็นตลาดแมสซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ใหญ่ที่สุดในตลาดกรุงเทพฯแต่เมื่อช่วงเวลาผ่านไปตลาดนี้เริ่มเข้าสู่ภาวะโอเวอร์ซัพพลาย ทำให้ยอดขายจริงไม่เติบโตมากเท่าที่คาด ในขณะเดียวกันภูเก็ตยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย

      นอกจากนี้ ภูเก็ตเป็นตลาดที่เป็นเป้าหมายสำคัญของแสนสิริที่จะขยายพอร์ตโครงการใหม่ในอีก 5 ปีข้างหน้า ด้วยมูลค่าโครงการ 25,000 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งบ้านแนวราบ 16 โครงการ มูลค่า 11,000 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 11 โครงการ มูลค่า 14,000 ล้านบาท เริ่มเห็นความต้องการของกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่ชัดเจนมากขึ้นหลังโควิด โดยเฉพาะกลุ่มที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ระยะยาว

      แสนสิริ เน้นพัฒนาโครงการที่ตอบโจทย์ดีมานด์ของชาวต่างชาติ เช่น คอนโดมิเนียมราคาเริ่มต้น 7 ล้านบาท และพูลวิลล่าราคา 50 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งได้รับการตอบรับดีมากจากกลุ่มรัสเซีย จีนและยุโรป โดยใน 8 เดือนแรกของปี 2557 มียอดโอนอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติเติบโตขึ้น 16% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน.

      คลังชงสินเชื่อบ้าน 5 หมื่นล้าน กระตุ้นตลาดอสังหาครบวงจร

      นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน 5% ของจีดีพี ประเทศไทย หรือมีมูลค่าประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้วางมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์มาตลอด ทำให้ตลาดมีการฟื้นตัว

     สำหรับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์รอบใหม่ที่ออกมามีทั้ง การจัดทำโครงการสินเชื่อซื้อ-แต่ง-ซ่อม-สร้าง บ้านและคอนโด ดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 55,000 ล้านบาท เพื่อทำให้คนรายได้น้อย ได้เข้าถึงสินเชื่อบ้าน สำหรับการซ่อมแซมบ้าน และต่อเติมบ้าน พร้อมได้รับอัตราดอกเบี้ยต่ำ

      นอกจากนี้ยังมีโครงการสินเชื่อบ้านกลุ่มแรงงาน หลายสิบล้านคน ดอกเบี้ยต่ำ โดยดำเนินการผ่านการร่วมมือกับกระทรวงแรงงานหากได้รับความสนใจสูง อาจขยายวงเงินที่ 40,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้ได้มีการกำหนดวงเงินไว้ที่ 10,000 ล้านบาท กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำ ช่วง 5 ปีแรก ที่ 1.59% ต่อปี นอกจากนี้มีแผนจัดมาตรการชุดใหญ่อีกรอบพลิกตลาดที่อยู่อาศัย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา.

      CP LAND ลุยบ้านเดี่ยว

      บริษัท ซี.พี. แลนด์ หรือ CP LAND เน้นการทำโครงการบ้านเดี่ยวระดับพรีเมียม SOLVANI (โซลวานี) ถือว่าเป็นการสานต่อการทำงานตามแผนงานที่ทาง CP LAND ตั้งใจไว้ในปีนี้ โดยเลือกพื้นที่ จังหวัดนครสวรรค์ และพิษณุโลก เป็นพื้นที่แรกในการบุกตลาดบ้านเดี่ยวระดับพรีเมียมของ CP LAND เนื่องจากเป็นพื้นที่ ที่มีศักยภาพทั้งด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงภาคกลางและภาคเหนือ มีเอกลักษณ์และวัฒนธรรมเฉพาะตัว มีโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม ซึ่งมี แนวโน้มว่าในอนาคตอาจจะมีการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อมายังกรุงเทพมหานคร ทาง CP LAND จึงเล็งเห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจและประชากรที่มีกำลังซื้อมากขึ้น จึงได้พัฒนาโครงการบ้านเดี่ยว SOLVANI นครสวรรค์ และพิษณุโลกเพื่อรองรับการเติบโตสำหรับลูกค้าที่มีกำลังซื้อ และมองหาบ้านที่ดีที่สุด

      CP LAND ได้มีแผนการเปิดโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการ โปรดักต์ใหม่ที่ออกมาจึงต้องมีคุณภาพ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จดจำได้ง่าย รังสรรค์ผ่านการออกแบบดีไซน์โดยนำเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสถึงสุนทรียภาพแห่ง การใช้ชีวิต คำนึงถึงไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เป็นหลักภายใต้ราคาที่สมเหตุสมผลให้ลูกค้าในส่วนภูมิภาคได้สัมผัสทั้งคุณภาพ และการรับประกันในส่วนโครงสร้างถึง 10 ปี มีทีม Welcome Home Club ที่พร้อมดูแลสุขภาพบ้านให้กับลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง.

      "วัน แบงค็อก" ได้ฤกษ์ เปิดมิกซ์ยูสแสนล้านกลางกรุง

        ตระกูลสิริวัฒนภักดีคิกออฟโปรเจ็กต์เมืองมิกซ์ยูส วัน แบงค็อก"มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท บนถนนพระราม 4 พื้นที่ 108 ไร่ แลนด์มาร์กระดับโลกแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ พัฒนาภายใต้แนวคิด "The Heart of Bangkok"เปิดบริการอย่างเป็นทางการ25 ตุลาคม 2567 ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน-ศูนย์การค้า และ พื้นที่ค้าปลีกที่รวมร้านค้าชั้นนำทั้งแบรนด์ไทยและต่างประเทศกว่า750 ร้านรวมมูลค่าแสนล้านบาท

         นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด (FPL) กล่าวว่า โครงการ วัน แบงค็อก คือโครงการอันเป็นที่สุดแห่งความภาคภูมิใจ เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญที่เกิดจากการสานต่อปณิธานอันยิ่งใหญ่ของคุณเจริญ และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ที่มุ่งมั่นนำพลังความรู้ความสามารถและทรัพยากรต่างๆ ที่เรามีมาพัฒนาถนนพระราม 4 ซึ่งเป็นถนนสายที่มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของกรุงเทพฯ มายาวนาน

         "วัน แบงค็อก จะเป็นแลนด์มาร์กระดับโลก ศูนย์กลางแห่งชีวิตที่เชื่อมโยงผู้คน ธุรกิจ และแรงบันดาลใจเข้าไว้ด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบ จุดประกายความเจริญรุ่งเรืองให้กับกรุงเทพมหานครในยุคใหม่"

         โค้งท้ายอสังหาฯ เดือด ASW ลุยเปิด 4 โครงการ

         บริษัท แอสเซทไวส์ หรือ ASW มีผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปี 2567 โดยมีรายได้รวมทั้งหมด 7,800 ล้าน บาท เติบโตขึ้น 63% จากช่วงเดียวกันของปี 2566 ส่งผลให้รายได้รวมคิดเป็น 90% ของเป้ารายได้ทั้งปี 2567 ซึ่งตั้งไว้อยู่ที่ 8,700 ล้านบาท ขณะเดียวกัน บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,300 ล้านบาท และจากตลาดที่แข่งขันเข้มข้น และต้องการไปสู่เป้าหมาย ASW ได้พิจารณาขยายแผนเปิดโครงการใหม่ในปี 2567 เพิ่มเป็น 13 โครงการ มูลค่าทั้งหมด 36,820 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นราว 42% เมื่อเทียบจากแผนที่ประกาศไว้ช่วงต้นปี และเพิ่มขึ้นจากปี 2566 กว่า 22% โดยไตรมาส 4/2567 บริษัท วางแผนเปิดโครงการใหม่ทั้งหมด 4 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการอควารัส จอมเทียน พัทยา 2. เควาลอน 3. เดอะ โมเดวา และ 4.เดอะ ไทเทิล อาร์ทริโอ บางเทา

       ส่วนกลยุทธ์ขยายเข้าสู่น่านน้ำใหม่ที่มีศักยภาพสูงอย่างภูเก็ต ความแข็งแกร่งของแบรนด์ต่างๆ ที่ ASW และ TITLE ช่วยกันพัฒนา จนลูกค้าทั้งไทยและต่างชาติมั่นใจในคุณภาพ ทำให้มียอดขายและรักษาระดับการโอนกรรมสิทธิ์ได้อย่างดีในทุกโครงการ รวมถึงการเสริมพอร์ต Recurring Income ให้เติบโต ด้วยการขยายไป สู่ธุรกิจใหม่ๆ ทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันให้ ASW สามารถสร้างยอดขาย และทำรายได้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้.

       SCG พลิกเกมเศรษฐกิจปิดกิจการไม่ทำกำไร

       เอสซีจีคาดว่ารายได้ของปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน เพราะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนรุนแรง วัฏจักรปิโตรเคมีทั่วโลกอ่อนตัวลากยาว สงครามตะวันออกกลาง สินค้าจากจีนเข้ามาแข่งขันภายในประเทศมากขึ้น รวมทั้งค่าเงินบาทผันผวน นับเป็นความท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจและมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อยาวนาน เอสซีจี จึงมุ่งดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง และรัดกุมยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้า 1.ลดต้นทุนภาพรวมองค์กร 5,000 ล้านบาท ภายในปี 2568 2.ลดเงินทุนหมุนเวียนลง 10,000 ล้านบาท 3.ยกเลิกกิจการที่ไม่ทำกำไร เช่น SCG Express และธุรกิจด้านดิจิทัลเทคโนโลยี OITOLABS ในประเทศอินเดีย นอกจากนี้ยังมีกิจการที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณายกเลิก 4.ขายสินทรัพย์ (Asset Divestment) เพิ่มความคล่องตัวและมุ่งเน้นรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ประกอบกับยกระดับประสิทธิภาพการผลิต รักษา EBITDA ให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ต่อเนื่อง อาทิ เพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนโรงงานปูนซิเมนต์ในไทยร้อยละ 50 การใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติ (Automation) ผลิตกระเบื้อง แม่นยำ รวดเร็ว ลดวัสดุเหลือใช้

      สำหรับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและที่อยู่อาศัยภาพรวมยังคงขยายตัวจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณจากภาครัฐ เพื่อเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ตลาดสินค้าวัสดุก่อสร้างของไทยยังชะลอตัวจากงานโครงการที่ชะลอตัวและภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ