เทียบฟอร์มปัญหาอสังหาฯ สิงคโปร์ VS ไทย
Loading

เทียบฟอร์มปัญหาอสังหาฯ สิงคโปร์ VS ไทย

วันที่ : 5 สิงหาคม 2567
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) Q2/67 อยู่ที่ระดับ 45.2 ลดลง 3.1 จุด จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 2.3 จุด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
      ดัชนีตลาดการขายอสังหาริมทรัพย์ของสิงคโปร์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 สำรวจโดย propertyguru  พบว่า ดีมานด์ และซัพพลายของอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ เริ่มนิ่งและผันผวนน้อยลงตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้วยาวมาจนถึงปีนี้ ในขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ เส้นสีฟ้า(ดูกราฟประกอบ)  ยังคงอยู่ในระดับสูง แต่การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาเริ่มช้าลง หลังออกมาตรการขึ้นภาษีการถือครองอสังหาริมทรัพย์

      ในขณะเดียวกัน หากมาดูที่ ดัชนีตลาดการเช่าอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 จะพบว่า เมื่อการขายชะลอตัว ก็เริ่มมีการนำอสังหาริมทรัพย์ออกมาปล่อยเช่ามากขึ้น ทำให้เส้นของดีมานด์ และซัพพลายใกล้เคียงกัน ก็เป็นผลทำให้ราคาเช่าอสังหาริมทรัพย์ลดลงตามไปด้วย

      นอกจากนี้ โครงการบ้านจากหน่วยงานรัฐของสิงคโปร์อย่าง HDB ยังคงเดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัยป้อนเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโครงการแฟลต Build-To-Order หรือ BTO ที่วางแผนเปิดตัวต่อเนื่องประมาณ 19,600 ยูนิตในปีนี้ และโครงการอื่น ๆ ของ HDB สิงคโปร์ที่ออกมา ก็เพื่อเติมสต๊อกเข้าสู่ตลาดให้ราคาอสังหาฯลดลง

      ขณะเหตุผลที่สิงคโปร์ต้องแก้ปัญหาราคาอสังหาฯ มีปัจจัยมาจาก หลังจากที่สิงคโปร์เปิดประเทศมาอย่างยาวนาน และประสบความสำเร็จ จนมีบุคคลากรคุณภาพเข้าสู่ประเทศจำนวนมาก ทำให้ราคาซื้อและเช่าอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูง จนกลายเป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจ หลายบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ เริ่มส่งสัญญาณย้ายสำนักงานออก

      โดยบางส่วนอาจจะย้ายพนักงานไปทำงานที่จาการ์ตา กัวลาลัมเปอร์หรือกรุงเทพมหานคร แทน เพราะบริษัทไม่สามารถออกสวัสดิการเป็นค่าที่พักในสิงคโปร์ให้ได้หากราคายังพุ่งสูง ในขณะที่หอการค้ายุโรปในสิงคโปร์รายงานว่าธุรกิจท้องถิ่นและต่างชาติ 7 ใน 10 แห่งเตรียมย้ายพนักงานออกจากสิงคโปร์ หากราคาค่าเช่าบ้านยังไม่ลดลงนั่นเอง

      ฉายภาพกลับมาที่ประเทศไทยประสบปัญหาในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน แต่แตกต่างจากสิงคโปร์อย่างสิ้นเชิง เพราะเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว ทำให้อสังหาริมทรัพย์ขายไม่ออก โดยเฉพาะบ้านที่ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นผลจากหนี้ครัวเรือนไทยที่พุ่งสูงอยู่ในระดับ 91.6% ของ GDP และมีหนี้เสีย (NPL) ที่พุ่งสูงตามมา ส่วนหนี้กำลังจะเสีย (SM) เฉพาะสินเชื่อบ้านสะสมในเดือน พ.ค. 67 มูลค่าสูงกว่า 1.82 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 25.1% จากปีก่อน (ข้อมูลจากเครดิตบูโร)

      ด้าน นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) Q2/67 อยู่ที่ระดับ 45.2 ลดลง 3.1 จุด จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 2.3 จุด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

     โดยดัชนีดังกล่าวปรับตัวลดลงในเกือบทุกด้าน ได้แก่ การเปิดโครงการใหม่ลดลงมากที่สุด 9.9 จุด อยู่ที่ 49.1 จาก 59.0 ,ผลประกอบการลดลง 4.0 จุด อยู่ที่ 39.5 จาก 43.5, การจ้างงานลดลง 3.7 จุด อยู่ที่ 48.7 จาก 52.4 , ต้นทุนการประกอบการผกผัน ลดลง 1.4 จุด อยู่ที่ 38.9 จาก 40.3 และการลงทุนลดลง 1.0 จุด อยู่ที่ 47.6 จาก 48.6

       ทั้งนี้ ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน ได้แก่ การไม่ผ่อนคลายมาตรการ LTV ของ ธปท. , ภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 2.5% และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเป็นไปอย่างช้า ๆ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชน
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ