อสังหาฯ ดันรื้อเกณฑ์ EIA ลดผลกระทบผุดโครงการ
Loading

อสังหาฯ ดันรื้อเกณฑ์ EIA ลดผลกระทบผุดโครงการ

วันที่ : 17 กรกฎาคม 2567
นายกสมาคมอาคารชุดไทย ระบุว่า จากการรวบรวมความคิดเห็นของสมาชิกทั้ง 3 สมาคม สามารถแบ่งปัญหาการจัดทำ EIA ได้เป็น 2 เรื่องหลักคือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง กับปัญหาในขั้นตอนการปฏิบัติ
  "อสังหาฯ ดัน กทม. เสนอแนวทางปรับโครงสร้าง-วิธีปฏิบัติให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน หลังเปิดเวทีเสวนาวิชาการ ถกทิศทาง EIA 2024"

  ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเมืองที่มักเป็นประเด็นที่ถกเถียงเพิ่มขึ้นในสังคมปัจจุบัน โดยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 กรุงเทพ มหานคร ได้เปิดเวทีเสวนาทางวิชาการว่าด้วย แนวทางการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การเสวนาครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนากระบวนการ EIA ให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่มีนางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานครเป็นประธานฯ โดยมองว่าเป็นโอกาสที่ดีของกรุงเทพมหานครในการบูรณาการความร่วมมือเชิงรุกจากทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ และปรับปรุงพัฒนางานด้านการประเมินและติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการด้านอาคารฯ ในพื้นที่กรุงเทพ มหานครให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

  ด้าน นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย ระบุว่า จากการรวบรวมความคิดเห็นของสมาชิกทั้ง 3 สมาคม สามารถแบ่งปัญหาการจัดทำ EIA ได้เป็น 2 เรื่องหลักคือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง กับปัญหาในขั้นตอนการปฏิบัติ โดยมีข้อเสนอเกี่ยวกับการพิจารณาอนุมัติ EIA ดังนี้ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ในการพิจารณา EIA แต่ละครั้งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ซึ่งสามารถส่งผลให้เกิดปัญหาในการพิจารณาที่ต่างกันเมื่อมีการเปลี่ยนวาระของคชก. ดังนั้น จึงเสนอให้มีการจัดทำ Code of Conduct เพื่อเป็นแนวทางในเกณฑ์การพิจารณาที่เป็นมาตรฐานและโปร่งใสในกระบวนการพิจารณา การมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับการมีความคิดเห็นเพิ่มเติมในการประชุมแต่ละครั้ง ทั้งนี้ ยังเสนอให้มีความยืดหยุ่นแต่ยังอยู่ในหลักเกณฑ์ โดยด้านโครงสร้างและมาตรฐาน ควรแบ่งตามขนาดตัวอาคาร

   โดยอาคารขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่เกิน 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ให้จัดทำเป็น Full Code of Conduct ส่วนอาคารขนาดเล็กต่ำกว่า 10,000 ตารางเมตร ให้จัดทำเป็น Mini Code of Conduct รวมถึงด้านระยะเวลา ให้มีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการพิจารณา และกำหนดขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างชัดเจนว่ามีขั้นตอนใดบ้าง แต่ละขั้นตอนใช้ระยะเวลาเท่าใด เจ้าของที่ดินสามารถดำเนินการอะไรบ้างในช่วงใด เพื่อเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติตามทั้งฝ่ายคชก.ฝ่ายผู้ประกอบการ และฝ่ายประชาชน อีกประเด็นคือ ควรกระชับหมวดหมู่ในการจัดทำรายงาน EIA โดยไม่ต้องแยกย่อยถึง14หมวดหมู่

   นอกจากนี้ นายประเสริฐได้ยกประเด็นในกรณีมีการขัดแย้งของกฎระเบียบ ได้เสนอให้มีการกำหนดเกณฑ์การพิจารณาที่ชัดเจนว่ากฎเกณฑ์ตามข้อใดเหนือกว่า เช่น ในระหว่างการยื่นขอ EIA มีการขออนุญาตก่อสร้างสำนักงานขาย ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งการพิจารณาตามกฎหมายควบคุมอาคารได้รับอนุมัติให้สร้างสำนักงานขายได้ แต่ปรากฏว่าข้อพิจารณาของ EIA ไม่เปิดให้สร้างสำนักงานขายในระหว่างที่ยังไม่ได้รับอนุมัติ EIA, ที่จอดรถกระเช้าดับเพลิงในโครงการ ขนาด 816 เมตร ซึ่งไม่มีข้อกำหนดในกฎหมายควบคุมอาคาร (กฎหมายก่อสร้าง) แต่หลักเกณฑ์พิจารณา EIA บังคับให้จัดเตรียมไว้ โดยไม่ได้กำหนดการจัดพื้นที่ที่ชัดเจน, และที่จอดรถ EV ซึ่งเป็นจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Charger กฎหมายควบคุมอาคารอนุญาตให้นับรวมกับที่จอดรถของโครงการได้ แต่เกณฑ์พิจารณา EIA ไม่ให้นับรวม จึงเห็นว่าควรมีการกำหนดให้ชัดเจนเพื่อป้องกันความสับสน และสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบได้อย่างถูกต้อง

    นอกจากปัญหาเชิงโครงสร้าง นายประเสริฐได้ระบุถึง ปัญหาในเชิงปฏิบัติการ อาทิ 1.การประเมินในแต่ละหัวข้อควรมีมาตรการระบุที่ชัดเจนเป็นมาตรฐานที่แน่นอน 2.คณะกรรมการผู้พิจารณาที่ได้รับการแต่งตั้งในแต่ละด้าน ควรพิจารณาเฉพาะด้านที่เชี่ยวชาญ เพื่อประสิทธิผลสูงสุดในประเด็นนั้น 3. การปรับปรุงแบบ สอบถามด้านสังคมให้กระชับครอบคลุม เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องผู้อาจได้รับผลกระทบแสดงความคิดเห็นผ่านแบบสอบถามได้โดยสะดวกและมีประสิทธิภาพ 4. การลดจำนวนเอกสารนำส่งฉบับจริง โดยเพิ่มการใช้ไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

    มากไปกว่านั้นในช่วงตอบคำถาม ตัวแทนจากภาคประชาชนยังได้แสดงถึงความกังวลในส่วนของผลกระทบสิ่งแวดล้อมของอาคารประเภทอื่นนอกจากที่อยู่อาศัยที่ไม่ได้มีการกำหนดให้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

    ด้าน นายสัญญา สืบสิงห์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานอาคารสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ระบุว่า ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาการจัดทำรายงาน EIA ในอาคารประเภทอื่นนอกเหนือจากที่อยู่อาศัย เช่น ห้างสรรพสินค้า โครงการมิกซ์ยูส เป็นต้น ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีการประกาศให้มีการพิจารณาสำหรับโครงการเหล่านี้ในอนาคตหรือไม่ อีกทั้งยังฝากให้มีการติดตามแนวทางการพิจารณาของคชก. ที่ขณะนี้กำลังจัดทำ และคาดว่าจะนำมาใช้ได้ในปี 2568 เพื่อเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานในกระบวนการพิจารณา EIA ให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น