ภาคอสังหาฯง่อนแง่น เอกชนตบเท้าพบพิชัยขอแบงก์รัฐปลดล็อกสินเชื่อ
Loading

ภาคอสังหาฯง่อนแง่น เอกชนตบเท้าพบพิชัยขอแบงก์รัฐปลดล็อกสินเชื่อ

วันที่ : 24 มิถุนายน 2567
ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ฯ ระบุว่า การผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อไม่ได้ต้องการให้สถาบันการเงินหละหลวม เพราะเราเข้าใจดีว่าการปล่อยสินเชื่อก็ต้องไม่ให้เกิดหนี้เสียตามมา แต่ที่ผ่านมาสถาบันมีความเข้มงวดมากขึ้นกว่าปกติ
     เอกชนภาคอสังหาฯ ขอพบนายกฯ รมว.คลัง และกรมที่ดิน หลังตลาดซบเซาอย่างหนักในไตรมาส 1 ต่อเนื่องไตรมาส 2/2567 เสนอคลายล็อกปล่อยกู้บ้าน-คอนโดที่มีราคาไม่เกิน 7 ล้านในอัตราดอกเบี้ยต่ำ พร้อมลด rejection rate ขอลดภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% นำมาลดหย่อนให้กับผู้ซื้อบ้าน รวมถึงลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 50%

      นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังเข้าหารือกับ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ต่อเนื่องจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ที่บางเรื่องยังไม่ได้สามารถดำเนินการได้ทันที โดยตัวเลขการเติบโตของตลาดในไตรมาสแรกออกมาสถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้น ทั้งยอดโอนกรรมสิทธิ์/ยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ติดลบและต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี (25 ไตรมาส) รวมทั้งเรื่องของ rejection rate ที่อยู่ในระดับสูงจากการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดของสถาบันการเงิน จึงได้มีการอัปเดตเรื่องมาตรการตามมติ ครม.บางเรื่องที่ยังไม่สามารถทำได้ทันที ต้องใช้เวลาแก้กฎหมายจนเป็นที่มาของการหารือกับกระทรวงการคลังล่าสุดว่าจะมีแนวทางอะไรบ้างที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของ rejection rate สูงได้ โดยภาคเอกชนได้เสนอให้ธนาคารของภาครัฐช่วยมีบทบาทสำคัญในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรนขึ้นในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อกระตุ้นให้สถาบันการเงินเข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้น

    “การผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อไม่ได้ต้องการให้สถาบันการเงินหละหลวม เพราะเราเข้าใจดีว่าการปล่อยสินเชื่อก็ต้องไม่ให้เกิดหนี้เสียตามมา แต่ที่ผ่านมาสถาบันมีความเข้มงวดมากขึ้นกว่าปกติ เช่น เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้จบไม่ได้เป็นหนี้เสียแล้ว แม้ว่าเครดิตบูโรจะรายงานสถานะของลูกหนี้เป็นเวลา 3 ปี แต่ที่ผ่านมาหรือแม้แต่ในช่วงโควิดธนาคารก็สามารถพิจารณาปล่อยสินเชื่อได้ทันที ขณะที่ปัจจุบันเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้จบแล้วยังต้องให้รออีก 12 เดือน

     นอกจากนี้กรณีผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการกู้ซื้อที่อยู่อาศัย เมื่อก่อน SME จะต้องจดทะเบียนการค้าเกินกว่า 1 ปี แต่ตอนนี้ขยายเวลาเป็นต้องจดทะเบียนการค้าเกินกว่า 2-3 ปี หรืออย่างเรื่องของค่าล่วงเวลา ค่าคอมมิชชัน เมื่อก่อนสามารถนำมาคำนวณเป็นรายได้ ตอนนี้ให้แค่ครึ่งเดียวเนื่องจากสถานการณ์ไม่แน่นอน หรือบางสถาบันการเงินกำหนดนโยบายไม่ปล่อยสินเชื่อบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาทในพื้นที่ EEC เป็นต้น”

     นายอิสระ กล่าวอธิบายพร้อมเสริมว่า ภาคเอกชนขอให้กระทรวงการคลังใช้กลไกของธนาคารรัฐเข้ามาช่วยเป็นหัวหอกในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในตลาด และช่วยลด rejection rate ลง รวมถึงขอสนับสนุนซอฟต์โลนสำหรับการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับที่อยู่อาศัยโดยขยับราคาจาก 1.5 ล้านบาท เป็นราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น หรือการนำมาตรการบ้านดีมีดาวน์ที่รัฐบาลอุดหนุนเงินให้กับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยกลับมาใช้อีกครั้ง นอกจากนี้ยังได้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอลดภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท เพื่อนำมาเป็นส่วนลดหย่อนให้กับผู้ซื้อบ้าน โดยให้ผู้ประกอบการจ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ตามปกติ แล้วให้สำนักงานที่ดินจ่ายคืนให้กับผู้ซื้อบ้าน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ซื้อบ้านจะได้รับค่าลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะจากผู้ประกอบการอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

      ส่วนมาตรการด้านภาษีอื่นๆ ที่นำเสนอต่อกระทรวงการคลัง เช่น ขอให้การซ่อมแซม ตกแต่ง ต่อเติม รวมถึงการซื้อข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้านให้สามารถนำเงินมาหักลดหย่อนภาษีได้ในปีภาษี 2567 การขอลดภาษีที่ดินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 50% ในปีภาษี 2567

      รวมถึงการขอให้กระทรวงการคลังหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อผ่อนคลายมาตรการ LTV เนื่องจากสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยประเมินเอาไว้ โดยในไตรมาส 1 ของปีนี้ตัวเลขการโอนบ้านใหม่ตกลงไปถึง 25% ส่วนการเก็งกำไรก็ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเช่นนี้ จึงอยากให้ช่วยพิจารณาผ่อนปรนมาตรการ LTV อีกครั้ง

      ทั้งนี้นายอิสระระบุว่า มาตรการต่างๆ ที่ภาคเอกชนเสนอไปนั้น ทางกระทรวงการคลังรับปากจะนำไปพิจารณาว่ามีข้อไหนที่สามารถทำได้บ้าง
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ