ดีมานด์หดแต่ราคาบ้านขึ้น
Loading

ดีมานด์หดแต่ราคาบ้านขึ้น

วันที่ : 15 พฤษภาคม 2567
ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เผยภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ ไตรมาสแรกยังคงซึม ความต้องการยังซบเซาแพ้พิษเศรษฐกิจ ภาวะหนี้ในครัวเรือนและดอกเบี้ยสูง แต่ราคาที่อยู่อาศัยกลับปรับขึ้นตามต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าเช่าก็พุ่งต่อเนื่อง
   ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไตรมาสแรกยังซึมๆ

   ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty ) แพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย เผยภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังเติบโตแบบซึมๆ เพราะมีปัจจัยลบกระทบต่อสถานะทางการเงินของผู้บริโภค ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจ ภาวะหนี้ครัวเรือน และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อจากปัจจัยภายนอกทั้งภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ภาพรวมความต้องการซื้อทั่วประเทศในไตรมาสล่าสุดลดลง 7% โดยลดลงทุกประเภทที่อยู่อาศัย

   ขณะที่ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศปรับขึ้นเล็กน้อย 1% ตามต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงกำลังซื้อของกลุ่มผู้ซื้อ เพื่ออยู่อาศัยจริง(Real Demand )ที่ยังไม่ฟื้นตัว จึงเลือกชะลอแผนการซื้อหรือโยกย้ายที่อยู่อาศัยออกไปก่อน ส่งผลให้ภาพรวมความต้องการเช่าทั่วประเทศลดลง 10% โดยดัชนีค่าเช่าแนวสูงเพิ่มขึ้นถึง 5% และแนวราบเพิ่มขึ้น 4%

   โดยจากข้อมูลล่าสุด ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลประกาศขาย-เช่าอสังหาฯบนเว็บไซต์ DDproperty ระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค.2567 เผยภาพรวมดัชนีราคาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศปรับเพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อน(QoQ ) และเพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากราคาวัสดุก่อสร้าง การปรับขึ้นค่าแรง ราคาที่ดินในปัจจุบันรวมทั้งความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้ผู้พัฒนาอสังหาฯต้องปรับขึ้นราคาอย่างเลี่ยงไม่ได้

   เมื่อพิจารณาตามประเภทที่อยู่อาศัยพบว่า ดัชนีราคาของคอนโดฯและบ้านเดี่ยวในไตรมาสที่ผ่านมา ปรับเพิ่มขึ้นในสัดส่วนเท่ากัน โดยคอนโดฯเพิ่มขึ้น1% QoQ (เพิ่มขึ้น 9%YoY )บ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 1% QoQ (เพิ่มขึ้น3% YoY )ถือเป็นสัญญาณบวกในการเติบโตของตลาดอสังหาฯปีนี้ ส่วนทาวน์เฮาส์ยังทรงตัวจากไตรมาสก่อนและปีก่อนหน้า

   ทั้งนี้ คอนโดฯยังคงเป็นที่อยู่อาศัยที่มีจำนวนมากที่สุดในตลาดถึง 59% ของจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมดทั่วประเทศ ตามมาด้วยบ้านเดี่ยว 25% และทาวน์เฮาส์ 17% ขณะเดียวกันที่อยู่อาศัยระดับราคา 1-3 ล้านบาท ครองตลาดด้วยสัดส่วน 30% ของจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมดทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคระดับกลาง-ล่าง ยังคงไม่มีกำลังซื้อเพียงพอที่จะดูดซับอุปทานเหล่านี้ รองลงมาคือระดับราคา 5-10 ล้านบาท(22%)และระดับราคามากกว่า 15 ล้านบาท (19%) ในสัดส่วนที่ไล่เลี่ยกัน

    โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ในส่วนของภาพรวมตลาดเช่าที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ยังคงมีทิศทางเติบโตในแง่ของราคาอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าดัชนีค่าเช่าที่อยู่อาศัยแนวสูงอย่างคอนโดฯและอพาร์ตเมนต์ ปรับเพิ่มขึ้น 5% QoQ และเพิ่มขึ้น 22% YoY เช่นเดียวกับดัชนีค่าเช่าที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ เพิ่มขึ้น 4% QoQ และเพิ่มขึ้น 28% YoY แต่สวนทางกับความต้องการเช่าทั่วประเทศ ที่ปรับลดลง 10% QoQ (ลดลง25% YoY )

     อย่างไรก็ตามแม้ว่าความต้องการเช่าจะลดลงจากไตรมาสก่อน แต่ถือเป็นการลดแบบชะลอตัวลงจากช่วงที่ผ่านมา(ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 มีการปรับลดลงถึง 27% จากไตรมาสก่อนหน้า)สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการเช่าที่กระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อย สอดคล้องกับเทรนด์ Generation Rent ที่เน้นเช่ามากกว่าซื้อและตอบโจทย์ทางการเงินได้ดีกว่าโดยคอนโดฯเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการปล่อยเช่าสูงถึง 87% ของจำนวนที่อยู่อาศัย เพื่อเช่าทั้งหมดทั่วประเทศ รองลงมาคือบ้านเดี่ยว 9% และทาวน์เฮาส์ 4% ขณะที่ภาพรวมที่อยู่อาศัยเพื่อเช่าในระดับค่าเช่า 10,000-30,000บาท/เดือน ครองตลาดด้วยสัดส่วนสูงสุดที่ 41%