ธปท.ชี้ ไตรมาสแรกศก.ซบ-หนี้เสียพุ่งฉุด 'สินเชื่อบ้าน' ดิ่ง
Loading

ธปท.ชี้ ไตรมาสแรกศก.ซบ-หนี้เสียพุ่งฉุด 'สินเชื่อบ้าน' ดิ่ง

วันที่ : 15 พฤษภาคม 2567
ธปท.เปิดรายงาน "สินเชื่อ ภาคอสังหาฯ" พบ ไตรมาสแรกสินเชื่อบ้านระบบธนาคารไทยวูบ ทั้ง "ยอดปล่อยกู้ใหม่" และ "บ้านมือสอง" ผลสำรวจสินเชื่อแบงก์เข้มปล่อยกู้ กังวลหนี้ คุณภาพลูกหนี้ เศรษฐกิจชะลอตัว -ดอกเบี้ยสูง

    "เคเคพี" เผยแข่งขันด้านดอกเบี้ยปล่อยกู้กลุ่มตลาดบน "ดุเดือด" เน้นคุมปล่อยกู้ แบบคุณภาพไม่เน้นปริมาณ "ซีไอเอ็มบีไทย" เผย แบงก์ปฏิเสธสินเชื่อบ้านต่ำ 3 ล้าน พุ่ง 70%

    ล่าสุดรายงานสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ จากข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการเปิดเผยตัวเลขสินเชื่อไตรมาสแรก โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยของระบบแบงก์ไทย (Post finance) พบว่า ไตรมาสแรก อยู่ที่ 2.72 ล้านล้านบาท ลดลงหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ที่ยอดสินเชื่อ รวมอยู่ที่ 2.73 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะอาคารชุด ยอดปล่อยสินเชื่อลดลงมาอยู่ที่ 6.23 แสนล้านบาท หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ 6.28 แสนล้านบาท เช่นเดียวกันการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้ออาคารพาณิชย์ ที่พบว่า ปรับลดลงเช่นกันมาอยู่ที่ 1.61 แสนล้านบาท จาก 1.63 แสนล้านบาท

    สอดคล้องกับตัวเลขจำนวนบัญชีสินเชื่อปล่อยใหม่ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.38 หมื่นล้านบาท ลดลงจาก 2.57 หมื่นล้านบาท ลดลงทั้งแนวราบ และอาคารชุด แนวราบลดลงเหลือ 1 หมื่นล้านบาท จาก 1.19 หมื่นล้านบาทในไตรมาสก่อน ส่วนอาคารชุด ลดลงเหลือ 5.5 พันล้านบาท จาก 5.8 พันล้านบาท ขณะที่ยอดรีไฟแนนซ์ ในไตรมาสนี้ ลดลงเช่นกัน มาอยู่ที่ 7.6 พันล้าน จาก 8 พันล้านบาท

    หากดูค่าเฉลี่ย LTV ratio ของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งใหม่และเก่า ไม่รวมสินเชื่อ top up พบว่าอยู่ที่ 89.55% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ 89.65%หากเทียบกับสินเชื่อรวม

     ศก.ซบ - เครดิตผู้กู้ด้อยลง

     ทั้งนี้ ภาพรวมสินเชื่อภาคอสังหาฯที่ลดลง ถือว่าสอดคล้องกับรายงานผลสำรวจและภาวะแนวโน้มสินเชื่อของธปท.จากผลสำรวจ พบว่า ความต้องการสินเชื่อครัวเรือนไตรมาสแรกที่ผ่านมา คาดว่าโดยรวมสินเชื่อทรงตัว ขณะที่ความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปรับลดลง ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อตลาดที่ซบเซา ประกอบกับต้นทุนการกู้ยืมที่อยู่ในระดับสูง

     ทั้งนี้ คาดว่าไตรมาส 2 ความต้องการสินเชื่อ เช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะทรงตัว แม้การส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ จะปรับตัวดีขึ้น ส่วนมาตรฐานการให้สินเชื่อพบว่า สถาบันการเงินยังเข้มงวดปล่อยสินเชื่อครัวเรือนทุกประเภทสินเชื่อ จากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและจากความน่าเชื่อถือด้านเครดิตของผู้กู้ ทั้งยังแสดงความกังวลต่อคุณภาพ สินเชื่อที่แย่ลงในทุกสินเชื่อ คาดว่าในไตรมาส 2 สถาบันการเงิน จะยังเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ เพิ่มขึ้นจากคุณภาพสินเชื่อที่แย่ลง

    แข่งปล่อยกู้บ้านลูกค้ากลุ่มบน

    นายภัทรพงศ์ รักตะบุตร ประธานสายธุรกิจสินเชื่อรายย่อย และประธานสายเครือข่ายสาขา ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (KKP) กล่าวว่า สินเชื่อของธนาคารที่ปรับลดลง ส่วนหนึ่ง มาจากการแข่งขันของดอกเบี้ยสำหรับกลุ่มลูกค้าระดับบน

    โดยปกติ สินเชื่อบ้านของ KKP อยู่ในกลุ่มลูกค้าระดับบน (Mass Affluent) ในขณะที่ กลุ่มบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ธนาคารไม่ได้ลงไปแข่งขันปล่อยสินเชื่อ จึงไม่ได้รับกระทบจากสถานการณ์หนี้เสียในลูกค้ากลุ่มดังกล่าว

    สำหรับพอร์ตโดยรวมของสินเชื่อบ้านของกลุ่มลูกค้าระดับบน (Mass Affluent) ปัจจุบันถือหนี้เสียจัดว่าอยู่ในระดับทรงตัว

    ทั้งนี้ สำหรับพอร์ตสินเชื่อบ้านโดยรวมของธนาคาร เน้นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามยุทธศาสตร์ การเติบโตแบบคัดสรร (Selective Growth) โดยมุ่งเน้นคุณภาพ มากกว่าปริมาณ

    ปฏิเสธสินเชื่อบ้านต่ำกว่า3ล้าน พุ่ง

    นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB) กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อรายย่อยปีนี้ถือว่ายากมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน จากข้อมูลภาพรวมอสังหาฯ คาดการณ์สินเชื่อบ้านปีนี้เติบโตที่ 3% แต่ไตรมาสแรกที่ผ่านมา ชะลอตัว ลงเหลือ 1.8% เท่านั้น หลักๆ มาจากภาวะเศรษฐกิจ ชะลอตัว นักท่องเที่ยวที่เข้ามาไม่ได้เติบโตเหมือนที่คาดไว้ ขณะที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงขึ้น ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อโดยรวมแบงก์ยังคงเข้มปล่อยในการปล่อยสินเชื่อ จากคุณภาพผู้กู้ที่ด้อยลงด้วย

    โดยเฉพาะ บ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ที่พบว่าปัจจุบัน มียอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 70% จากเดิม 50-60% เนื่องจากคุณภาพผู้กู้ด้อยลงมาก เนื่องจากทิศทางหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น และภาระค่าใช้จ่ายของผู้กู้เพิ่มสูงขึ้น

    "วันนี้เราเห็นคนผ่อนขั้นต่ำบัตร 8% ไม่ไหวเยอะขึ้น เช่นเดียวกับสินเชื่ออื่นๆ ที่มีปัญหามาด้วย เพราะเศรษฐกิจเราไม่ได้ดี ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อรายย่อยไตรมาสแรกปีนี้หายไปราว 30% ที่ไม่ถึงเป้า หลักๆ เป็นสินเชื่อบ้านที่หายไป และช่วงหลังจะเห็นได้ว่าดอกเบี้ยขึ้น แต่ในส่วน สินเชื่อบ้านแบงก์แข่งปล่อยกู้อยู่ไม่เกิน 3% หรือ 3% ต้นๆ สะท้อนว่าการแข่งขันสูงขึ้น สวนทางคุณภาพหนี้ผู้กู้น้อยลง ดังนั้น แบงก์จึงยอมแบกภาระต้นทุนมากขึ้น"

    หนี้ครัวเรือนสูงฉุดสินเชื่อบ้านดิ่ง 0.2%

    นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่ออสังหาฯโดยรวมที่ปรับลดลง ส่วนหนึ่งมาจากยอดคืนหนี้ ในช่วงไตรมาสแรกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถือเป็นฤดูกาลในช่วงไตรมาสแรกทุกปี ที่ผู้กู้มีการคืนหนี้มากขึ้น เมื่อได้รับเงินเดือนหรือโบนัสในช่วงต้นปี

    อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง และภาพรวมหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ที่เป็นตัวกดดันให้การปล่อยกู้ปรับ ลดลงได้

    โดยหากดูยอดปล่อยสินเชื่อบ้านคงค้างของระบบแบงก์ โดยรวมในไตรมาสแรก พบว่าอยู่ที่ 2.72 ล้านล้านบาท ลดลงราว 0.2% หากเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้าที่สินเชื่อบ้านรวมอยู่ที่ 2.73 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ พบสินเชื่อมีการเติบโตชะลอตัวลง ในไตรมาสแรกปีนี้ มาเติบโตเพียง 1% หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน ที่สินเชื่อบ้านโดยรวมจะขยายตัวอยู่ที่ 1.3% สะท้อนภาพของกิจกรรมในภาคอสังหาฯ และภาวะเศรษฐกิจ ที่ยังไม่ฟื้นตัว ที่มีผลต่อกำลังซื้อของผู้กู้ มากขึ้น

    อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย อยู่ระหว่างการมอนิเตอร์และทบทวนประมาณการการเติบโตสินเชื่อบ้านของระบบแบงก์ไทยปีนี้ ซึ่งมีโอกาสได้ทั้งปรับลดลง และเพิ่มขึ้น จากประมาณการเดิมที่คาดสินเชื่อบ้านจะขยายตัวมาอยู่ที่ 2.77-2.79 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 2-2.6% ปีนี้

    "ภาพรวมสินเชื่อบ้านที่ลดลง และการขยายตัวชะลอลงจากปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากครัวเรือนมีหนี้เยอะขึ้น และเซ็กเมนต์ที่สามารถกู้ได้เฉพาะบางกลุ่มรายได้เท่านั้น และจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวด้วย บวกกับช่วงไตรมาสแรกเป็นช่วงฤดูกาลที่มียอดคืนสินเชื่อเยอะ ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อบ้านลดลงด้วย"

ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ