Property DNA เห็นด้วยมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ
Loading

Property DNA เห็นด้วยมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ

วันที่ : 6 พฤษภาคม 2567
Property DNA ให้ความเห็นว่า แม้จะเป็นมาตรการระยะสั้น แต่ส่วนตัวเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เพราะนอกจากจะสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยของประชาชนแล้ว การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ยังกระตุ้น และส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย
         ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

         หลังจากที่มีมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ที่เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนการจำนอง อสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ อาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว หรือห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน ทั้งนี้สำหรับผู้ซื้อที่เป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่กฎหมายได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

         นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ (Property DNA) ให้ความเห็นว่า แม้จะเป็นมาตรการระยะสั้น แต่ส่วนตัวเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เพราะนอกจากจะสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยของประชาชนแล้ว การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ยังกระตุ้นและส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วยไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต วัสดุก่อสร้าง การจ้างงาน เป็นต้น ดังนั้นตลาดที่อยู่อาศัยจึงถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศที่สำคัญซึ่งมีสัดส่วนกว่า 10% ของ GDP ประเทศ กล่าวคือ ถ้าอสังหาริมทรัพย์หรือ ตลาดที่อยู่อาศัยสามารถขับเคลื่อนไปได้ จะส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนของเงินได้อย่างเต็มระบบและจำนวนมาก

         ในส่วนของการขยายเพดานราคาที่อยู่อาศัยเป็น 7 ล้านบาท ต่อยูนิตนั้น เชื่อว่าครอบคลุมกลุ่มของกำลังซื้อได้มากกว่าเพดานเดิม 3 ล้านบาท แม้ตลาดที่อยู่อาศัยระดับราคา 3 ล้านบาท จะมีอยู่มากที่สุด แต่ต้องยอมรับว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันคนที่มีกำลังซื้อ ที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อยูนิตนั้น คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วจะติดปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนและกู้แบงก์ไม่ผ่าน ซึ่งนี่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้นการเพิ่มเพดานราคาที่อยู่อาศัยเป็น 7 ล้านบาท ต่อยูนิต จะช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนในวงกว้างได้มากขึ้น เพราะกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยราคามากกว่า 3 ล้านบาทต่อยูนิต ขึ้นไปนั้น มีปัญหาเรื่องการขอสินเชื่อธนาคารน้อยกว่า โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยราคามากกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป นอกจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมในการโอนจากร้อยละ 2 เหลือ ร้อยละ 0.01 และ ลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 ที่จะกระตุ้นกำลังซื้อแล้ว มาตรการทางด้านดอกเบี้ยพิเศษผ่านกลไกของแบงก์รัฐทั้งสองแบงก์คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์และธนาคารออมสินนั้น จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงิน และมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น

         "จากมาตรการต่างๆ ที่ออกมาล่าสุดนี้ จะเห็นว่ารัฐบาลต้องการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศเป็นหลัก หลายมาตรการจึงมุ่งเน้นที่กำลังซื้อของคนไทย ขณะที่ฝั่งของผู้ประกอบการเองก็พร้อมที่จะมีแคมเปญ หรือนโยบายออกมาควบคู่กับมาตรการของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ แม้ว่าสุดท้ายแล้วถ้าการซื้อนั้นเกี่ยวข้องกับการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ก็ต้องให้ขั้นตอนสุดท้ายนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นประตูสุดท้ายก่อนการโอนกรรมสิทธิ์ และผู้ประกอบการหลายรายได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้

         สุดท้ายแล้วมาตรการใดๆ ที่ออกมา ไม่ว่าจะทั้งจากภาครัฐสถาบันการเงิน หรือเอกชนต่างๆ จะสามารถช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ อยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน และให้ความสำคัญกับภาพรวมประเทศ"

         นอกจากนี้ นายสุรเชษฐให้ความเห็นว่า ต้องจับตาดูนโยบายการเช่าที่ดินของชาวต่างชาติว่าจากนี้ไปรัฐบาลจะมีการขยายเวลาของการเช่าที่ดินของชาวต่างชาติให้ยาวนานถึง 99 ปี หรือไม่อย่างไร ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีความคิดเห็นที่หลากหลายทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง โดยผู้ที่เห็นด้วยมองว่าการขยายเวลาให้นานขึ้นเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างเม็ดเงินการหมุนเวียนในตลาดอสังหาริมทรัพย์