เฟอร์นิเจอร์ มองโอกาสปี67 ขยายตัวล้ออสังหาฯ-ช่องทางชอปใหม่ๆ ส.อ.ท.-วิจัยแบงก์ ระบุส่งออกลำบาก
Loading

เฟอร์นิเจอร์ มองโอกาสปี67 ขยายตัวล้ออสังหาฯ-ช่องทางชอปใหม่ๆ ส.อ.ท.-วิจัยแบงก์ ระบุส่งออกลำบาก

วันที่ : 11 มีนาคม 2567
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดถึงทิศทางธุรกิจอสังหาฯปี 2567 ว่า ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ปีหน้า โดยเชื่อว่าปัจจัยบวกของตลาดที่อยู่อาศัย ทั้งจากภาวะดอกเบี้ยที่มีทิศทางทรงตัว และอาจมีการปรับตัวลดลง
       
        อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ นั้นจะเรียกว่าเป็นธุรกิจต่อเนื่องของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็คงไม่ผิด เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าทิศทางของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ในแต่ละปีนั้นจะขยายตัวหรือ หดตัวตาม ไปตามทิศทางเดียวกับตลาดอสังหาฯ และนั่นทำให้ในปี 2567 นี้ ผู้ประกอบธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ หลายๆ รายยังมั่นใจว่าทิศทาง ของยอดขายเฟอร์นิเจอร์ในปีนี้จะยังสามารถขยายตัวล้อไปกับทิศทางของธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งในปี 2567 นี้ ตลาดอสังหาฯถูกคาดการณ์ว่าจะสามารถฟื้นตัวดีขึ้นจากปี 66

        โดยก่อนหน้านี้ นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดถึงทิศทางธุรกิจอสังหาฯปี 2567 ว่า ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ปีหน้า โดยเชื่อว่าปัจจัยบวกของตลาดที่อยู่อาศัย ทั้งจากภาวะดอกเบี้ยที่มีทิศทางทรงตัว และอาจมีการปรับตัวลดลง การที่รัฐบาลสามารถขับเคลื่อนพระราชบัญญัติงบประมาณ ปี 2566 และ 2567 เพื่อการใช้จ่ายงบประมาณในการลงทุนและการใช้จ่ายงบประมาณของโครงการต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการปรับตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นตามแผนงานของรัฐบาล ประกอบกับการสานต่อมาตรการต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ จะทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยปี 2567 ฟื้นตัว โดยขยายตัวจากปี 2566 ขึ้นประมาณ 10% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวข้างต้นว่าจะเป็นตามที่คาดการณ์หรือไม่

         การคาดการณ์ทิศทางธุรกิจอสังหาฯ ว่าในปี 2567 จะขยายตัวจากปี10% ทำให้เชื่อว่าธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ในปีนี้ก็จะมีทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกับ ความเห็นของ บริษัท เบ็ตเตอร์บี มาร์เก็ตเพลส จำกัด หรือ NocNoc โดย นางชลลักษณ์ มหาสุวีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร "NocNoc" ที่ระบุว่า พฤติกรรมของการชอปปิงของคนไทยที่เริ่มคุ้นชินกับการซื้อสินค้าออนไลน์ตั้งแต่ช่วงโควิดที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดโฮม แอนด์ ลีฟวิ่ง เติบโตตามไปด้วยโดยคาดว่าปี 2567 นี้จะเติบโต 5% หรือมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 38,000 ล้านบาท โดยเฉพาะการซื้อเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้านในช่องทางออนไลน์ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงมาก

         แนวโน้มดังกล่าวทำให้ในปีนี้ NocNoc ที่คาดการณ์ว่าจะมียอดขายถึง 5,000 ล้านบาท หรือเติบโตกว่า 153% จากปีก่อนหน้าซึ่งมียอดขาย 2,700 ล้านบาท และยังมองว่าแนวโน้มดังกล่าวมองว่ายังโตต่อเนื่อง หรือโตอีกเท่าตัวในปี 2567 ซึ่งจากแนวโน้มที่กล่าวมาเชื่อว่าใน 5 ปี NocNoc จะเป็นเบอร์หนึ่งในกลุ่มมาร์เกตเพลซเกี่ยวกับโฮม แอนด์ ลีฟวิ่ง

         ขณะที่ นายพชรฐณพงษ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF ซึ่งเปิดเผยว่า ในปี 2567 นี้ บริษัทมุ่งเน้นสร้างการเติบโต พร้อมเพิ่มความสามารถการทำกำไรจากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตรองรับออเดอร์ บริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตจะมาจากการขยายตลาดของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจุบัน บริษัทมีสัดส่วนการจำหน่ายสินค้าระหว่างการส่งออกอยู่ที่ 40% และจำหน่ายภายในประเทศ 60%

        "ขณะนี้ทิศทางการเติบโตที่สำคัญเกิดจากยอดขายในประเทศขณะที่การส่งออกค่อยๆ กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง จากกลุ่มลูกค้าใหม่ในฟิลิปปินส์และตะวันออกกลาง รวมถึงบริษัทร่วมทุนกับจีนเริ่มได้รับคำสั่งซื้อลูกค้าในกลุ่มยุโรปเพิ่มขึ้นแล้ว"

          ล่าสุด Leedvant (ลีดแวนท์) แพรตฟอร์มจำหน่ายสินค้า Home and Living นำเข้าจากญี่ปุ่น ได้ขยายตลาดเข้าสู่ประเทศไทยเนื่องจากมองเห็นถึงเทรนด์แต่งบ้านสไตล์ญี่ปุ่นในไทยที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย นายริวอิชิ มัสซึนามิ ผู้อำนวยการ บริษัท ทริปโป (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ Leedvant (ลีดแวนท์) แพลตฟอร์มจัดจำหน่ายสินค้าวัสดุและเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า หลังจากได้ทดสอบตลาดจำหน่ายสินค้าวัสดุและเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน ด้วยการเปิดโชว์รูม "LEEDVANT" แฟลกชิป สโตร์ สาขาแรกในไทย ที่ชั้น 4 อาคารโมเดอร์น ทาวน์ ซอยสุขุมวิท 63 (เอกมัย) พบว่ามีดีมานด์ความต้องการสินค้าวัสดุก่อสร้างและของตกแต่งบ้านที่เติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

        ซึ่งจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่สนใจการตกแต่งบ้านเองเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการโรงแรมหรือโครงการอสังหาริมทรัพย์ มีการออกแบบและตกแต่งภายในที่มีสไตล์ เฉพาะทางมากขึ้น โดยเฉพาะเทรนด์การตกแต่งที่พักอาศัยแบบญี่ปุ่นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่กำลังได้รับความนิยมเป็น อันดับต้นๆ ในปัจจุบัน ทำให้คาดการณ์ว่าในปี 2567 นี้ภาพรวมตลาดสินค้าเพื่อตกแต่งบ้านจะมีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่า 450,000 ล้านบาท

        สำหรับตลาดสินค้าและของตกแต่งบ้านในประเทศไทยนับได้ว่าเป็นธุรกิจที่มีความโดดเด่นและน่าสนใจมากที่สุด เมื่อเทียบกับศักยภาพในการเติบโตกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยได้รับอานิสงส์จากภาคการบริการและท่องเที่ยวที่พลิกฟื้น และความต้องการที่พักอาศัยที่มีการตกแต่งเรียบง่ายผ่อนคลายตามสไตล์ญี่ปุ่นในกลุ่มลูกค้าชาวไทยรายได้สูงและต่างชาติที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบการ Leedvant ได้เล็งเห็นช่องว่างทางการตลาดในเมืองไทยยังไม่มีเครือข่ายร้านวัสดุและเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านนำเข้าจากญี่ปุ่นโดยตรงมากนัก

       ดังนั้น จึงทำให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ของ Leedvant ที่มีความโดดเด่นเป็นสินค้าคุณภาพระดับพรีเมียม มีความแข็งแรงคงทน มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และยังเป็นวัสดุที่มีความปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย จะได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย กลุ่มดีไซเนอร์ สถาปนิก บริษัทตกแต่งภายในบริษัทก่อสร้างบ้าน ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธุรกิจโรงแรม และกลุ่มลูกค้าบ้าน กลุ่มที่ต้องการรีโนเวตหรือปรับปรุงที่พักอาศัยที่มีความชื่นชอบสินค้าและไลฟ์สไตล์แบบญี่ปุ่น โดยเฉพาะ โดยบริษัทตั้งเป้าหมายจะสามารถสร้างยอดขายได้ กว่า 100 ล้านบาทภายในสิ้นปี 2569

      อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ประกอบการธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้านในประเทศ ยังมองเห็นโอกาสในการทำตลาดและสร้างการเติบโตทางด้านยอดขายในปี2567 ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของตลาดอสังหาฯได้อย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วนของ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ยังต้องระมัดระวังกับการดำเนินธุรกิจ และต้องจับตาทิศทางตลาดและปัจจัยลบของตลาดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในส่วนของบริษัทผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์
 
       ซึ่งจากรายงานของ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ปี 2567 นั้นคาดว่าทิศทางตลาดรวมจะหดตัวลง 10% จากปีก่อนหน้าเนื่องจากความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ในประเทศที่ลดลงตามกำลังซื้อของผู้บริโภค และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

      ทั้งนี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางตลาดอสังหาฯ สะท้อนถึงความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ในปี 2567 ซึ่งคาดว่าตลาดเฟอร์นิเจอร์จะหดตัวลง 10% จากปี 2566 เนื่องจากดีมานด์ในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัว เพราะผู้บริโภคบางส่วนยืดระยะเวลาในการตัดสินใจซื้อบ้านและเฟอร์นิเจอร์ใหม่ออกไป เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยอดขายใหม่ยังไม่ฟื้นตัวทำให้กระทบต่อตลาดเฟอร์นิเจอร์สำหรับตกแต่งที่อยู่อาศัย

       นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังเผชิญต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงและยังมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในสินค้าประเภทเดียวกันทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ โดยในเรื่องของต้นทุนยังมีความกังวลต่อทิศทางค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการปรับขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำที่อาจมีแนวโน้มทบทวนปรับขึ้นอีกหรือไม่ในช่วงเดือนพ.ค.นี้ ประกอบกับมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว, ต้นทุนทางการเงินยังอยู่ในระดับสูงจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น, แนวโน้มราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้นจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ, และค่าเครื่องจักร/ระบบอัตโนมัติมีต้นทุนสูง เป็นต้น

       นอกจากนี้ ตลาดในประเทศเองก็ยังน่าวิตกที่การบริโภคชะลอตัวจากปัญหาค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือน ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในตลาดเฟอร์นิเจอร์สำหรับตกแต่งบ้าน อย่างไรก็ดี ยังอาจได้รับคำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้า สหรัฐฯ, ยุโรป, จีน เพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มอ่าวอาหรับ GCC ที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ประกอบกับ บางประเทศคู่ค้ายังต้องการสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไทยที่มีมาตรฐานระดับสากล

      สถานการณ์ดังกล่าว สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนประกอบ จากฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่าทิศทางธุรกิจผลิต เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบปีนี้ คาดว่าตลาดในประเทศมี แนวโน้มชะลอตัว โดยตลาดอสังหาฯที่ปัจจัยสำคัญของยอดขายเฟอร์นิเจอร์ยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงตลาดลูกค้าทั่วไปที่ต้องการเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ยังคงชะลอตัวหลังจากมีการเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ไปตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์ โควิด-19 ไปแล้ว ซึ่งกลุ่มที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จะเป็นกลุ่มลูกค้า Hi-End สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ราคาสูง ยังมีแนวโน้ม เติบโตได้ รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่พัก โรงแรม จำเป็นต้องมีการปรับปรุงห้องพักและสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์เพิ่มเติม เพื่อรองรับการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง

      ส่วนตลาดการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบปี 2567 คาดว่ามีแนวโน้มชะลอลงในตลาดสำคัญ โดยเฉพาะ ตลาดส่งออกสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ยังมีความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยจากการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาลดลง

      ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่าง ระบุว่าปัจจัยดังกล่าวที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ โดยเฉพาะกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลักต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้นใน ปี 2567 เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาหลังจากผ่านช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สถานการณ์ตลาดเฟอร์นิเจอร์ส่งออกมีการหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าซื้อขายเฟอร์นิเจอร์ไม้ภายในประเทศลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 ในขณะที่ส่งออกไปต่างประเทศก็ลดลงติดกัน 2 ปี จากที่เคยมีปริมาณการจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ไม้ภายในประเทศกว่า 1 ล้านชิ้นต่อปี ก่อนปี 2563 ลดลงมาเหลือเพียงราว 6 แสนชิ้นในปี 2566

      โดยปริมาณการจำหน่ายภายในประเทศคิดเป็นสัดส่วน ไม่ถึง 20% ของปริมาณการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ของไทย ซึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการเฟอร์นิเจอร์ไม้ของไทยส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ หรือก็คืออุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ไทยพึ่งพิงตลาดภายนอกและมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอก ขณะที่ ประเทศคู่ค้ามีสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ดีหรือเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้การขนส่งมีต้นทุนสูงขึ้น จึงส่งผลต่ออุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ของไทย

      ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ของประเทศไทย ปรับตัวลดลงในปี 2565 และ 2566 จากที่เคยมีการส่งออกในปี 2564 คิดเป็นมูลค่ากว่า 510 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 18,000 ล้านบาท ลดลงมาเหลือเพียง 345.6 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 29.1% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับในปี 2565 หรือมีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ประมาณ 12,100 ล้านบาท

      โดยประเทศผู้นำเข้าเฟอร์นิเจอร์ไม้ไทยรายใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรกคือ 1. ประเทศสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วน 68.05% ของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งปี โดยไทยมีการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาลดลง 28.96% 2. ประเทศญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วน 12.87% ของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งปี โดยในปี 2566 ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นลดลง 28.93% 3. ประเทศจีน คิดเป็นสัดส่วน 2.12% ของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งปี และในปี 2566 ไทยส่งออกไปยังจีนลดลง 23.97% 4. ประเทศอินเดีย คิดเป็นสัดส่วน 1.84% ของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งปี และ 5. ประเทศแคนาดา คิดเป็นสัดส่วน 1.20% ของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งปี

      ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่างก็คาดว่าประเทศคู่ค้าดังกล่าวจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากปี 2566 ซึ่งจะทำให้มีความต้องการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากไทยในปี 2567 ลดลง ประกอบกับค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น และราคาน้ำมันที่ผันผวน ทำให้ต้นทุนการผลิต และขนส่งเพิ่มสูงขึ้น แต่ด้วยสภาพการแข่งขันของตลาดเฟอร์นิเจอร์ที่สูงขึ้นเนื่องจากมีเฟอร์นิเจอร์ประเภทอื่นเป็นสินค้าทดแทนมากขึ้น การปรับขึ้นราคาตามต้นทุนทำได้ยาก และผู้ผลิตอาจต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้เอง

      จากการที่อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ไทยต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทำให้ในปีนี้ผลประกอบการของผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้จะชะลอตัวลง โดยเฉพาะในช่วงที่สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์มีความเข้มงวดมากขึ้น และไทยมีปัญหา สัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้ความต้องการในประเทศลดลง ในขณะที่คู่ค้าต่างชาติก็เผชิญกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และความผันผวนที่ไม่แน่นอน ทำให้กระทบต่อการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไทยไปด้วย