เมืองนนท์-ปากน้ำ คึก รถไฟฟ้าดันเศรษฐกิจบูม
Loading

เมืองนนท์-ปากน้ำ คึก รถไฟฟ้าดันเศรษฐกิจบูม

วันที่ : 11 สิงหาคม 2566
เมืองนนท์ คึกรับโครงข่ายรถไฟฟ้า ดันราคาที่ดินพุ่ง คอนโดฯ-บ้านจัดสรรผุดเพิ่ม 150% สมุทรปราการ ลุ้นส่วนต่อขยาย ดูดเม็ดเงินท่องเที่ยวเพิ่ม ขณะ M-MAP2 รอรัฐบาลใหม่ตัดสินใจ
          สภาพัฒน์ ชงงบลงทุน 3.4 แสนล.
         
          ด้านสภาพัฒน์ เตรียมชงบอร์ดงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3.2 แสนล้านเคลื่อนเศรษฐกิจ

          จากที่กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาระบบรถไฟฟ้า 14 สาย รวมระยะทาง 554 กิโลเมตร (กม.) เป้าหมายจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2575 โดยเวลานี้ได้วิ่งให้บริการแล้วเป็นระยะทาง 241 กม. เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีแดง สายสีเหลือง สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และสายสีทอง ครอบคลุมพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ส่งผลให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ตามแนวรถไฟฟ้า และพื้นที่โดยรอบได้รับอานิสงส์ชัดเจน

          นายปรีชา กุลไพศาลธรรม นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์นนทบุรี เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" จากที่เวลานี้มีรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) วิ่งผ่าน ส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของนนทบุรี ได้ประโยชน์ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในแนวสูง ในรูปแบบคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นมากมาย เพื่อตอบรับกลุ่มเป้าหมายใช้รถไฟฟ้าเป็นทางเลือกของการเดินทาง รวมถึงอสังหาฯแนวราบรอบแนวรถไฟฟ้าก็ได้รับประโยชน์

          คอนโดฯ-บ้านผุดเพม 100%

          ขณะเดียวกันส่งผลให้ราคาที่ดินในพื้นที่รอบแนวรถไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น จากก่อนหน้าที่ยังไม่มีรถไฟฟ้าฯ ราคาที่ดินอยู่ที่ประมาณ5 หมื่นบาท ถึง 1.5 แสนบาทต่อตารางวา ปัจจุบันราคาที่ดินในรัศมี 100 เมตรรอบสถานีรถไฟฟ้า อยู่ที่ 1.5- 3 แสนบาทต่อตารางวา หรือปรับขึ้นมา 100-150%

          "ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาหลังมีรถไฟฟ้าสายสีม่วง มีโครงการคอนโดฯที่มีความสูงในแนวรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนคอนโดฯ 8 ชั้นขึ้นไปเพิ่มขึ้น 50-100% ขณะที่โครงการหมู่บ้านจัดสรรเพิ่มขึ้น 20-30% ทั้งนี้หากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล(แคราย-ลำสาลี เป้าเปิดให้บริการปี 2571) คาดคอนโดฯ และอสังหาฯแนวรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพราะเป็นเส้นทางวิ่งเข้าเมืองและตัดแนวรถไฟฟ้าหลายสาย"

          "ปากน้ำ" รอครบลูปดันท่องเที่ยว

          ด้าน นายชาญศิลป์ ปานแก้ว เลขาธิการหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ปัจจุบันมีรถไฟฟ้า 2 สายเชื่อมต่อมายังสมุทรปราการ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าวสำโรง) ซึ่งในส่วนของสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการยังไม่ฟูลสเกล หรือครบลูป โดยยังวิ่งถึงแค่เคหะสมุทรปราการ ส่วนขยายไปถึงสถานตากอากาศบางปูยังมีความล่าช้า

          อย่างไรก็ดีโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อไปยังจังหวัดสมุทรปราการเป็นประโยชน์ในการเดินทางของคนในพื้นที่ ซึ่งโครงข่ายรถไฟฟ้าเป็นการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ มีความสะดวกรวดเร็ว ช่วยลดปัญหาการจราจร เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และที่พักอาศัยตามแนวรถไฟฟ้าที่เปลี่ยนเป็นแนวสูงมากขึ้น รวมถึงห้างสรรพสินค้า ธุรกิจค้าปลีกในพื้นที่ และหากครบลูปทุกสถานีจะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่ อาทิ บางปู เมืองโบราณ และอื่น ๆ จะมีความคึกคักมากขึ้น ช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) เพิ่มมากขึ้น

          M-MAP2 รอรัฐตัดสินใจ

          ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง)ระยะที่ 2 หรือ M-MAP2 จะใช้งบอย่างไรนั้น ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) หรือรัฐบาลเป็นผู้ลงทุนเอง เป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณา และกรมขนส่งทางรางจะต้องเป็นผู้ไปวางแผนว่ารถไฟฟ้าแต่ละสายจะเป็นอย่างไรบ้าง

          ส่วนในแต่ละโครงการกระทรวงคมนาคมอาจจะมีนโยบายใหญ่ เช่น เป็นรูปแบบการร่วมลงทุน แต่ ณ วันที่จะทำแต่ละโครงการกระทรวงต้นสังกัดก็จะเสนอมาให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ว่าจะทำรูปแบบการลงทุนอย่างไร เช่น ทำการร่วมลงทุน PPP และจะต้องดูว่าเป็นการทำ PPP รูปแบบใด หรือรัฐจะลงทุนเอง

          "คมนาคมจะต้องเป็นผู้เตรียมโครงการสำหรับ M-MAP2 ส่วนเรื่องการเตรียมงบของกระทรวงการคลังนั้น จะต้องมาหารือร่วมกันอีกครั้ง หากถึงเวลาจะทำจริงก็ต้องมาดูว่ารัฐตัดสินใจอย่างไร เช่น รัฐอาจจะทำเอง หรือให้เอกชนเป็นผู้จัดทำ ส่วนจะทำรูปแบบไหนก็เป็นรายละเอียดของโครงการรถไฟฟ้าแต่ละสาย"

          ทั้งนี้ การใช้งบประมาณสำหรับโครงการ M-MAP2 ในการจัดทำรถไฟฟ้าแต่ละสายนั้น จะต้องรอติดตามด้วยว่าวันที่จะเริ่มจัดทำโครงการการเงินการคลังของประเทศเป็นอย่างไร ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจรูปแบบการใช้งบลงทุนด้วย เช่น โครงการรถไฟฟ้าแต่ละสายมีการใช้รูปแบบการลงทุน PPP ทั้งหมด แต่รูปแบบ PPP แตกต่างกัน อย่างบีทีเอสสายสีเขียวตอนต้น เริ่มต้นกทม.ก็เป็นผู้จัดทำ โดยให้เอกชนลงทุนทั้งหมด

          ส่วนสายสีน้ำเงิน รัฐเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ ส่วนเอกชนเป็นผู้ลงทุนระบบและเดินรถ ด้านโครงสร้างพื้นฐานก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะกู้เท่าใด และมีเงินงบประมาณเท่าไร ขณะที่สายสีเหลืองและสีชมพู รัฐบาลเป็นผู้หาที่ให้อย่างเดียว เอกชนเป็นผู้ลงทุนสร้างทางรถไฟฟ้า และรัฐจะจ่ายเงินคืนค่าโครงสร้างพื้นฐานให้ ซึ่งรูปแบบการลงทุนสามารถทำได้หลากหลาย

          สศช.ชงงบ 3.4 แสนล้าน

          ด้าน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สศช.ได้พยายามหาทางขับเคลื่อนการใช้จ่ายงบประมาณที่มีอยู่ในขณะนี้ เพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณลงทุนของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ เบื้องต้นในช่วงปลายปีนี้ น่าจะมีวงเงินลงไปยังเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 3.42 แสนล้านบาท ส่วนแรกมาจากงบลงทุนที่มีอยู่ของรัฐวิสาหกิจ ที่จะลงไปในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ปี 2566 วงเงิน 1.42 แสนล้านบาท และอีกส่วนเป็นงบลงทุนที่เป็นงบผูกพันของรัฐวิสาหกิจที่ตั้งงบตามปีงบประมาณอีก 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะเสนอให้ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) สศช. ที่มีนายสนิท อักษรแก้ว เป็นประธานในสัปดาห์หน้าเพื่อพิจารณา

          สำหรับการใช้กลไกของรัฐวิสาหกิจเข้าไปดำเนินการในครั้งนี้ สศช. มองว่า จะเป็นหนึ่งตัวช่วยของการประคองเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปี 2566 ต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2567โดยเฉพาะในช่วงที่การใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ยังไม่สามารถประกาศใช้ได้ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ทำให้ไม่มีโครงการลงทุนใหม่ลงไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ทัน ดังนั้นจึงต้องใช้กลไกของงบประมาณจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเข้าไปดำเนินการแทน

          "ตอนนี้ต้องไปหารือกันในบอร์ด สศช. ก่อนว่าจะเป็นอย่างไร เพราะโครงการที่เป็นงบผูกพันก็อยู่ในแผนดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจต่างๆ แล้ว ซึ่งขั้นตอนจากนี้หากได้ข้อสรุปจากบอร์ด แล้ว สศช. จะรวบรวมรายละเอียดทั้งหมด เสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณารับทราบมติบอร์ดเป็นขั้นตอนต่อไป"

          ปตท.ลงทุนสูงสุด 9.2 หมื่นล.

          สำหรับงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ตั้งงบตามปีปฎิทิน 142,731 ล้านบาท ที่จะลงทุนสุงในลำดับต้น ๆ ได้แก่ กลุ่มบริษัทมหาชน รวม 97,545 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) 92,289 ล้านบาท บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)หรือ NT 5,172 ล้านบาท บริษัท อสมท. จำกัด(มหาชน) 82 ล้านบาท และกลุ่มรัฐวิสาหกิจทั่วไป 45,186 ล้านบาท ประกอบด้วย รัฐวิสาหกิจสังกัด กระทรวงพลังงาน รวม 13,468 ล้านบาท ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 12,597 ล้านบาท บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (E-inter) 587 ล้านบาท บริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด (dcap) 284 ล้านบาท เป็นต้น
ข่าวอสังหาริมทรัพย์ภูมิภาค อื่นๆ