แนวโน้มราคาที่ดิน-บ้านปรับตัวสูง สวนทางกำลังซื้อผู้บริโภค
Loading

แนวโน้มราคาที่ดิน-บ้านปรับตัวสูง สวนทางกำลังซื้อผู้บริโภค

วันที่ : 7 สิงหาคม 2566
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ระบุว่าดัชนีราคาที่อยู่อาศัย เป็นหนึ่งในข้อมูลที่สำคัญสำหรับใช้ช่วยประกอบการตัดสินใจในการลงทุนอสังหาฯ ซึ่งหลักๆ แล้วจะบอกแนวโน้มราคาที่อยู่อาศัยในขณะนั้น รวมถึงช่วยให้เราประเมินสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนกำลังซื้อของผู้คนในสังคมได้คร่าวๆ
          โอกาสพฤติกรรมใหม่เปลี่ยนมาเช่าแทนซื้อ

          อสังหาริมทรัพย์

          นับตั้งแต่ปี 2554 หลังเหตุการณ์นำท่วมใหญ่เป็นต้นมา ราคาประเมินที่ดินเปล่าในประเทศไทยก็มีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีแนวโน้มว่าจะมีการปรับตัวลดลงแม้ว่าประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว หรือแม้กระทั่ง ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ซึ่งทำให้ธุรกิจต่างๆทั่วโลกหยุดชะงักรวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีการชะลอตัวและหดตัวลงในหลายหลายประเทศ

          แต่ในส่วนของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยทิศทางการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินยังมีความต่อเนื่อง แม้จะอยู่ในช่วงที่ตลาดอสังหาฯ หดตัวจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทิศทางของการปรับตัวสูงขึ้นของราคาที่ดินเช่นนี้ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาราคาขายที่อยู่อาศัยทุกประเภทมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มเช่นนี้ทำให้ในปัจจุบัน ราคาบ้านและคอนโดมิเนียมยังมีทิศทางการปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าราคาบ้านและที่อยู่อาศัยในประเทศจะสวนทางกับกำลังซื้อของผู้บริโภคก็ตาม

          ความไม่สอดคล้องกันของราคาที่อยู่อาศัยกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในปัจจุบัน ทำให้ในปี 2566 นี้เป็นปีที่ธุรกิจอสังหาฯ ต้องประเชิญกับความท้าทายในการชิงกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งมีผลให้ตลาดในปีนี้ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการคาดการณ์ของผู้ประกอบการ และกูรูอสังหาฯ รวมถึงผลวิจัยและคาดการณ์แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2566 หลายสำนัก ซึ่งคาดการณ์ว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ตลาดอสังหาฯจะกลับมาฟื้นตัวและสามารถขยายตัวได้อย่างชัดเจน

          ทั้งนี้ ราคาบ้านที่ปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อและความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในตลาดขณะนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่ เปลี่ยนไปนิยมการเช่าห้องชุดเพื่ออยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การทำงานและการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ต้องการมีภาระหนี้ก้อนใหญ่จากการซื้อสินทรัพย์ ซึ่งทำให้ไม่มีความคล่องตัวทางด้านการเงิน เนื่องจากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตคนรุ่นใหม่ชอบเดินทางท่องเที่ยวและใช้เงินในการซื้อความสุข มากกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาว ซึ่งถูกมองว่าเป็นภาระในการดำเนินชีวิต

          "สำหรับสาเหตุที่ทำให้ราคาบ้านยังปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางกำลังซื้อที่หดตัวลง และการชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัย ปัจจัยหลักๆ เกิด จากต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง ต้นทุนแรงงาน และต้นทุนราคาที่ดินซึ่งยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ในภาวะที่เศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกหดตัว และในบางประเทศเศรษฐกิจถึงขั้นเข้าสู่ภาวะถดถอย"

          ทั้งนี้ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมากรมธนารักษ์ได้ประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่รอบปี 2566-2569 ในวันที่ 1 มกราคม 2566 หลังเลื่อนใช้รอบใหม่มาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อลดภาระประชาชนผู้เสียภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง และสถานการณ์โควิด-19 โดยภาพรวมทั้งประเทศราคาประเมินใหม่มีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8% โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ ราคาที่ดินมีการปรับขึ้นประมาณ 3% ซึ่งพื้นที่ที่ราคาที่ดินปรับตัวสูงสุด ยังเป็นพื้นที่ทำเลกลางเมืองแนวรถไฟฟา ทำเลที่มีราคาประเมินที่ดินแพงที่สุดเป็นถนนสีลม, เพลินจิต, วิทยุ และพระราม 1 (บริเวณหน้าสยามสแควร์ถึงถนนเพลินจิต) โดยมีราคาประเมินที่ดินอยู่ที่ 1,000,000 บาทต่อตารางวาขณะที่ราคาซื้อขายจริงเริ่มต้นที่ 2-3 ล้านบาทต่อตารางวา (ตร.ว.) แล้ว

          ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารอาคารสงเคราะห์ ระบุว่าดัชนีราคาที่อยู่อาศัย เป็นหนึ่งในข้อมูลที่สำคัญสำหรับใช้ช่วยประกอบการตัดสินใจในการลงทุนอสังหาฯ ซึ่งหลักๆ แล้วจะบอกแนวโน้มราคาที่อยู่อาศัยในขณะนั้น รวมถึงช่วยให้เราประเมินสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนกำลังซื้อของผู้คนในสังคมได้คร่าวๆ แต่มีนัยสำคัญอีกด้วย ทั้งนี้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะสูงขึ้นหรือต่ำลง จะส่งผลต่อตลาดอสังหาฯ ไม่มากก็น้อย โดยสามารถแบ่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังต่อไปนี้

          ราคาที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าดัชนีราคาที่อยู่อาศัยเป็นตัวสะท้อนราคาของบ้านและคอนโดฯในประเทศที่มีทิศทางสูงขึ้นหรือ ต่ำลง ซึ่งหากดัชนีราคาที่อยู่อาศัยต่ำลง นั่นหมายความว่าในภาพรวมแล้วราคาที่อยู่อาศัยในประเทศนั้นถูกลงกว่าช่วงเวลาก่อนหน้า ซึ่งเมื่อตลาดรับรู้ความเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว ก็อาจส่งทำให้เกิดการลดลงของราคาอย่างต่อเนื่องได้อีก เพื่อเอาชนะกันในสงครามราคาอสังหาฯ หรือผู้พัฒนา โครงการอสังหาฯ อาจเลือกใช้กลยุทธ์ชะลอการออกโครงการใหม่ หรือออกโครงการใหม่ในระดับราคาสูงเพื่อดันดัชนีราคาที่อยู่อาศัยให้เพิ่มขึ้นก็ได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อย่างสภาพเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาด้วย

          พฤติกรรมนักลงทุนเปลี่ยนแปลง ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยที่สะท้อนสถานการณ์ราคาที่อยู่อาศัยในตลาดนั้นจะส่งผลต่อพฤติกรรมของนักลงทุนโดยตรง เช่น หากดัชนีราคาที่อยู่อาศัยต่ำลง อาจเป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนบางกลุ่มเลือกที่จะซื้ออสังหาฯ เพิ่ม เพราะได้ราคาดี เอาไว้ปล่อยขาย ปล่อยเช่าทำกำไรต่อในอนาคต หรือนักลงทุนบางกลุ่มก็อาจเลือกที่จะชะลอการซื้ออสังหาฯ ไว้ก่อนก็ได้ เพราะอาจมองว่าสภาพเศรษฐกิจ ไม่ดี กำลังซื้อหดหาย ราคาที่อยู่อาศัยจึงถูกปรับลดลงเพื่อระบายสต๊อกออก ซึ่งนักลงทุนแต่ละคนจะมองแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความพร้อม และกลยุทธ์ในการลงทุนของตัวเอง

          พฤติกรรมผู้ต้องการที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงแต่นักลงทุนเท่านั้นที่พฤติกรรมและการตัดสินใจอาจเปลี่ยนแปลงไปตามดัชนีราคาที่อยู่อาศัย แต่ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านซื้อคอนโดฯเป็นของตัวเองก็อาจมีพฤติกรรมหรือการตัดสินใจที่เปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยเช่นกัน หากมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของดัชนีราคาที่อยู่อาศัย เช่น หากดัชนีราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้ผู้ที่ต้องการตัดสินใจซื้อบ้านซื้อคอนโดฯ เปลี่ยนใจชะลอการซื้อออกไปก่อนก็ได้ เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยนั้นแพงกว่าปกติ โดยอาจรอให้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวลง หรือรอการอัดฉีด โปรโมชันของผู้ประกอบการโครงการอสังหาฯ ก็ได้ เพื่อให้ได้ครอบครองบ้านหรือคอนโดฯในราคาที่คุ้มค่ามากที่สุด

          ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาฯ เปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะสร้างบ้านขาย หรือทำโครงการห้องชุด ขายนั้น จะต้องดำเนินธุรกิจโดยติดตามดัชนีราคาที่อยู่อาศัยเสมอ เพราะสามารถปรับใช้กลยุทธ์ให้เหมาะสมกับช่วงสถานการณ์ราคาที่อยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น หากดัชนีราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ในตลาดผู้บริโภคและนักลงทุนอาจมองว่าช่วงนี้อสังหาริมทรัพย์แพง จึงทำให้เกิดการซื้อยากขึ้น ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาจเลือกที่จะจัดโปรโมชันพิเศษราคาสุดคุ้มเพื่อสร้างยอดขายแข่งราคากับโครงการอื่นๆ ก็ได้ หรือบางผู้ประกอบการก็อาจจะมองว่าจังหวะนี้เป็นโอกาสที่จะเปิดตัวโครงการใหม่ที่มีราคาระดับสูง เพราะนักลงทุนอาจมองว่าเป็นช่วงเวลาขาขึ้นของตลาดอสังหาฯ ทำให้หากเปิดตัวโครงการใหม่ก็มีโอกาสที่จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนที่กำลังมองหาวิธีเก็งกำไรในช่วงตลาดราคาขาขึ้น เป็นต้น

          ภาครัฐและธนาคารเปลี่ยนแปลงนโยบาย การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาที่อยู่อาศัย อาจทำให้รัฐบาลตัดสินใจเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อเพื่อช่วยธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หรือในขณะเดียวกันก็อาจยกเลิกนโยบายต่างๆ ลงเพื่อลดการซื้ออสังหาฯ ของนักลงทุนและผู้บริโภคทั่วไป เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดหนี้เสียที่มากขึ้นก็ได้ เช่นกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องคอยจับตาดูสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อออกมาตรการดอกเบี้ยให้สนับสนุนสภาพเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

          "หากลองจินตนาการดูว่าหากเราเป็นคนที่ต้องการซื้อคอนโดฯหรือบ้านสักหลัง เราจะอยากซื้อตอนราคาถูกหรือแพง? คำตอบก็คือราคาถูกหรือถ้าเราเป็นนักลงทุนที่อาจซื้ออสังหาฯ ไว้ทำกำไรต่อในอนาคต เราจะอยากซื้อที่ราคาถูกหรือแพง คำตอบก็คือราคาถูก ดังนั้น ดัชนีราคาที่อยู่อาศัย ที่เป็นตัวสะท้อนราคาที่อยู่อาศัยในช่วงเวลานั้นๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ก็ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อขาย ลงทุนอสังหาฯ ด้วยกันทั้งสิ้น"

          ล่าสุดศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้เผยข้อมูลดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในพื้นที่ โดย ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลสังหาฯ ระบุว่า ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 2 ปี 2566 มีค่าดัชนีเท่ากับ 376.5 จุด เพิ่มขึ้น 6.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าปรับตัวลดลง -2.4% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าราคาที่ดินเปล่ายังคงมีทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง แม้จะมีการชะลอลงจากไตรมาสแรกที่ผ่านมาเล็กน้อยก็ตาม

          ทั้งนี้ อัตราการเพิ่มของดัชนีราคาที่ดินในไตรมาส 2/2566 นี้ ยังเป็นการเพิ่มที่ไม่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับการปรับเพิ่มขึ้นของอัตรา ค่าเฉลี่ย 5 ปี ในช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 (ปี 2558-2562) ซึ่งมีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 14.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2565 อีกทั้งยังมี อัตราเฉลี่ยของอัตราการเปลี่ยนแปลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น กว่า 4.1% ยังสะท้อนให้เห็นถึงอัตราเร่งของดัชนีราคาที่ดินในช่วงดังกล่าวที่สูงกว่าปัจจุบัน

          โดยปัจจัยที่ทำให้ราคาที่ดินเปล่ามีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง สืบเนื่องมาจากการที่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปี 2566 มีการขยายตัวลดลงมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ รวมทั้งยังมีการยกเลิกการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของ ธปท. และภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงมีอัตราส่วนที่สูงถึง 90% ของ GDP และยังอยู่ในช่วงของภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่จะทำให้ความสามารถในการซื้อและการผ่อนชำระที่อยู่อาศัยของประชาชนลดลง

          และยังส่งผลให้กำลังซื้อที่อยู่อาศัยชะลอตัว ผู้ประกอบการจึงชะลอแผนในการเปิดขายโครงการใหม่ในปีนี้ถึงปี 2567 มีผลให้เกิดการชะลอการซื้อที่ดินเปล่าเพื่อรองรับการพัฒนาลงบ้างในหลายทำเล ประกอบกับรัฐบาลได้ประกาศจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มอัตราในปี 2566 จึงทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับแผนการซื้อที่ดินสะสมเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการในอนาคต มีผลให้ความต้องการซื้อที่ดินสะสมในตลาดเพื่อเป็น Land Bank ลดลง เพื่อควบคุมภาระต้นทุนจากการถือครองที่ดิน โดยภาระภาษีที่ดินฯ ซึ่งเป็นต้นทุนในการพัฒนาโครงการในระยะต่อไป

          โดยในไตรมาส 2 ปี 2566 นี้ REIC พบว่าโซนที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรก เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วย

          อันดับ 1 ที่ดินในโซนบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง มีอัตราการเปลี่ยนราคามากถึง 54.9%

          อันดับ 2 ที่ดินในโซนสมุทรสาคร มีอัตราการเปลี่ยนราคา  26.1%อันดับ 3 ที่ดินในโซนเมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก มีอัตราการเปลี่ยนราคา 17.6

          อันดับ 4 ที่ดินในโซนราษฎร์บูรณะ-บางขุนเทียน-ทุ่งครุ-บาง บอน-จอมทอง มีอัตราการเปลี่ยนราคา 17.5%

          อันดับ 5 ที่ดินในโซนเมืองสมุทรปราการ-พระประแดง-พระสมุทรเจดีย์ อัตราการเปลี่ยนราคา 11.4%

          จากภาวะราคาที่ดินที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าที่ดินที่อยู่บริเวณพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพฯและปริมณฑลมีการเปลี่ยนแปลงของราคามาก เนื่องจากที่ดินที่อยู่บริเวณพื้นที่ชานเมืองมีราคาไม่แพงและยังสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบได้ ซึ่งทำให้สามารถควบคุมต้นทุนของราคาที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยได้ ทั้งนี้ โซนเหล่านี้เป็นโซนที่มีการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญเป็นโซนที่มียอดขายในระดับต้นๆ

          สำหรับราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในแนวเส้นทางที่มีรถไฟฟาผ่านในไตรมาสนี้ พบว่าเส้นทางรถไฟฟา 5 อันดับแรกที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่มีโครงการรถไฟฟาเปิดให้บริการแล้ว และเป็นโครงการในอนาคตที่มีการเชื่อมต่อกับพื้นที่สำคัญด้านพาณิชยกรรมและเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาโครงการอยู่ในปัจจุบัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

          อันดับ 1 ได้แก่ สายสีเขียว (สมุทรปราการ-บางปู) และ สายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) เป็นโครงการในอนาคตและโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 256.6 จุด และ 252.8 จุด ตามลำดับ และอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 11.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยราคาที่ดินในเขตเมืองสมุทรปราการและพระสมุทรเจดีย์ เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก

          อันดับ 2 ได้แก่ สายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) เป็นโครงการในอนาคต ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 415.1 จุด และอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยราคาที่ดินในเขตเมืองนนทบุรี บางใหญ่ และบางบัวทอง เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก

          อันดับ 3 ได้แก่ MRT และสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) เป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว และโครงการในอนาคต ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 474.4 จุด และ 467.0 จุด ตามลำดับ และอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น  3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยราคาที่ดินในเขตจตุจักร ห้วยขวาง และพญาไท เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก

          อันดับ 4 ได้แก่ สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และ สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-มธ.รังสิต) ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 443.4 และ 436.6 จุด ตามลำดับ และอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น  3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนโดยราคาที่ดินในเขตบางเขน หลักสี่ ดอนเมือง และคลองหลวง เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก

          อันดับ 5 ได้แก่ สายสีแดงเข้ม (หัวลำโพง-มหาชัย) เป็นโครงการในอนาคต ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 440.4 จุด และอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น  2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน  โดยราคาที่ดินในเขตจอมทอง บางบอน และบางขุนเทียน เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก

          ทิศทางการปรับตัวของราคาที่ดินเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มราคาที่อยู่อาศัยในอนาคตจะยังมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง แนวโน้มเช่นนี้ อาจมีผลต่อการพฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่ ให้หันไปนิยมเช่าห้องชุดแทนการซื้อเพื่อเป็นทรัพย์สินในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าหากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปดังเช่นที่คาดการณ์จริง โอกาสของคอนโดฯเพื่อการลงทุนจะกลับมาเติบโตเช่นเดียวกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 จะมีความเป็นไปได้มากขึ้น