กสิกร ห่วงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นักลงทุนย้ายซบ เวียดนาม
Loading

กสิกร ห่วงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นักลงทุนย้ายซบ เวียดนาม

วันที่ : 25 พฤษภาคม 2566
กสิกรไทย ประเมินเศรษฐกิจไทย ปีนี้ขยายตัว 3.7% ห่วงนโยบายขึ้นค่าแรงรัฐบาลใหม่ กระทบนักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม ชี้ไทยค่าแรงสูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน หวั่นยิ่งทำเงินเฟ้อเร่งตัว
          จับตาเงินบาท 1 เดือนข้างหน้าผันผวนหนัก จากการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด นักลงทุนกังวลการจัดตั้งรัฐบาล

          ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจหลายแห่ง ออกมาประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตเป็นไปตามคาด โดยเฉพาะ "กสิกรไทย" ที่คาดการณ์จีดีพีปีนี้ที่ระดับเดิม 3.7% แต่ภายใต้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย กลับมีปัจจัยที่ "น่ากังวล"มากขึ้น โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาล การขึ้นค่าแรง เงินเฟ้อ การลงทุนของภาคเอกชน ที่อาจเป็นปัจจัยบั่นทอนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้

          นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ทางกสิกรไทยได้คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 3.7% ซึ่งอยู่ภายใต้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาราว 28-30 ล้านคน

          อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงและน่ากังวล คือ นโยบายการขึ้นค่าแรงของรัฐบาลใหม่ ซึ่งทำให้ค่าแรงของไทยสูงกว่าประเทศในภูมิภาคบางประเทศ โดยเฉพาะเวียดนาม เหล่านี้อาจเป็นปัจจัยกดดันให้นักลงทุนมี แนวโน้มย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม และประเทศอื่นๆมากขึ้น

          ทั้งนี้ หากดูค่าแรงของไทยในปัจจุบัน ต่อเดือน ณ สิ้นปี 2565 พบว่าอยู่ที่ราว 293 ดอลลาร์ต่อเดือน สูงกว่ามาเลเซีย ที่อยู่ที่ 275 ดอลลาร์ สูงกว่าเวียดนามที่อยู่เฉลี่ย 193 ดอลลาร์ต่อเดือน และค่าแรงของไทย ยังสูงกว่าอีกหลายประเทศในอาเซียน

          นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าแรง อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อระยะข้างหน้าปรับ เพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะการคาดการณ์เงินเฟ้อของคนอาจเพิ่มขึ้น ก่อนค่าแรงปรับขึ้น เพื่อดักรายได้ในอนาคต เพราะเชิงความสัมพันธ์ระหว่างค่าแรง กับเงินเฟ้อ พบว่ามีความสัมพันธ์กันถึง 90% เหล่านี้อาจทำให้ภาคธุรกิจกังวลได้

          ความเสี่ยงถัดมา คือ การลงทุนของภาคเอกชน ที่ปัจจุบันอยู่ระดับต่ำเพียง 18%ของจีดีพีเท่านั้น โดยเป็นการลงทุนเพื่อชดเชยค่าเสื่อม แต่หากดูกำลังการผลิตพบว่ายังคงที่ เหล่านี้อาจเป็นประเด็นให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีข้อจำกัดมากขึ้นในระยะข้างหน้า จนกว่าจะเห็นแนวโน้มการลงทุนของภาคเอกชนสูงขึ้น

          ดังนั้นตัวที่จะหนุนให้ภาคเอกชนมีการลงทุนได้มากขึ้น คือการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนทั้งนักลงทุนในประเทศ และการดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น ผ่านการทำข้อตกลงทางการค้าหรือ FTA กับต่างชาติมากขึ้น เพื่อหนุนให้เกิดการมาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย และส่งออกไปต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งนอกจากเร่ง ต่างชาติให้เข้ามาลงทุนมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้บรรยากาศการลงทุนในประเทศคึกคักมากขึ้น

          "หากดูแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในอนาคต ทุกครั้งที่มีวิกฤติเกิดขึ้น เราจะใช้เวลานานพอสมควร กว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นคืนสู่ระดับศักยภาพ ไม่ว่าต้มยำกุ้ง น้ำท่วม และโควิด ล่าสุด เศรษฐกิจไทยก็ยังไม่ฟื้นตัวไปเท่าก่อนโควิด-19 โดยเศรษฐกิจไทยยังต่ำกว่าระดับศักยภาพที่5% และเราคงใช้เวลานาน ถึงจะปิดส่วนต่างตรงนี้ได้"

          ห่วงรัฐบาลใหม่ล่าช้าฉุดลงทุนรัฐ นอกจากนี้ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ยังมาจาก การจัดตั้งรัฐบาล หากมีการจัดตั้งล่าช้าเกินไป หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น ที่อาจกระทบต่อการลงทุนภาครัฐให้ชะลอลงได้ จากปัจจุบันที่การลงทุนภาครัฐขยายตัวต่ำอยู่แล้วที่ระดับ 2% หรือภายใต้งบลงทุนปีละ 4.9 แสนล้านบาทในปัจจุบัน ดังนั้นแม้จะประเมินว่า ภาครัฐจะสามารถเบิกจ่ายได้74%ของงบประมาณที่ตั้งไว้ แต่เหล่านี้ มีความเสี่ยง หากการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เป็นไปตามคาด

          ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ กสิกรไทยยังคงจีดีพีไว้ที่ระดับ 3.7% ปีนี้ แต่หากการจัดตั้งรัฐบาลมีความราบรื่น และทำให้เกิดการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน และทำให้ประเทศตะวันตกมองว่า ประเทศไทย มีประชาธิปไตยมากขึ้น ก็น่าจะเป็นปัจจัยหนุน ในการปรับการคาดการณ์ จีดีพีในระยะข้างหน้าให้เพิ่มขึ้นได้

          แต่มองว่า ผลบวกจากปัจจัยข้างหน้า อาจไม่ได้เห็นผลในระยะสั้น หรือปีนี้ เพราะกว่าที่รัฐบาลจะจัดตั้ง อาจใช้งบลงทุนเพิ่มอาจไม่ทันทีปีนี้ ดังนั้น มองว่าอานิสงส์ หรือผลบวก น่าจะเห็นได้ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

          อีกทั้งตัวที่หนุนเศรษฐกิจไทย ให้เพิ่มขึ้น ยังมาจากการเจรจา FTA ที่จะส่งผลให้ภาพการลงทุน และการส่งออกปรับตัวดีขึ้น ดังนั้นโจทย์ขณะนี้ คือ ทำอย่างไร ให้ประเทศไทย น่าสนใจในการเข้ามาลงทุนมากขึ้น เพื่อลดการกระจุกตัวจากการพึ่งพาท่องเที่ยว และส่งออก

          นักลงทุนชะลอดูความชัดเจนการเมือง

          อย่างไรก็ตาม มองว่า จากความกังวลทางการเมืองดังกล่าว มีผลทำให้ปัจจุบันนักลงทุนมองทิศทางการลงทุนมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในหลักทรัพย์ไทย ดังนั้นจึงต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากการลงทุน เช่นเดียวกัน การเทขายทำกำไรในตลาดหุ้น และตลาดบอนด์ ที่ออกไปก่อนหน้านี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะตราสารหนี้ ที่มีแรงเทขายออกมาหลักเลือกตั้ง 8หมื่นล้านบาท ในบอนด์ระยะสั้น จากก่อนหน้าเลือกตั้งที่มีแรงซื้อเข้ามาถึง 1.3 แสนล้านบาท สะท้อนว่านักลงทุนกังวลปัจจัยทางการเมือง ว่าการจัดตั้งรัฐบาล อาจไม่ได้ง่ายเหมือนที่คิด

          'เงินบาท' ส่อผันผวนหนัก

          จากความกังวลของนักลงทุนที่มีมากขึ้น ประกอบกับเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้เงินบาทที่ผ่านมาอ่อนค่าลง ทั้งนี้ประเมินว่า ค่าเงินบาทในช่วง 1เดือนข้างหน้าจะมีความผันผวนมากขึ้น โดยคาดเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.80-35.40บาทต่อดอลลาร์ หลักๆ เพื่อรอดูทิศทางความชัดเจนจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

          ดังนั้นเชื่อว่า จะเริ่มเห็นเงินทุน เคลื่อนย้าย หรือฟันด์โฟลว์ กลับเข้ามาไทยอีกครั้งตั้งแต่เดือนก.ย.เป็นต้นไป หลังมีความชัดเจนจากเฟดมากขึ้น และมาจากการรับข่าวบวก จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเริ่มกลับมาในช่วงไฮซีซั่นปลายปี ส่งผลให้ประเมินค่าเงินบาทปลายปีที่ 33.80 บาทต่อดอลลาร์

          ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีก 1ครั้งไปสู่ระดับ 2.00%ใน ช่วงพ.ค.นี้ และคงดอกเบี้ย แต่จากความกังวล เงินเฟ้อที่อาจเพิ่มขึ้น จากนโยบายปรับขึ้นค่าแรง อาจทำให้พลวัตเงินเฟ้อรุนแรงมากขึ้น จนเป็นปัจจัยหนุนให้ กนง.อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า ระดับ 2% ได้

          "เศรษฐกิจไทยวันนี้เราพึ่งส่งออก และท่องเที่ยวเป็นหลัก ดังนั้นประเด็นทางการเมือง เรามองว่า เป็นเหมือนเครื่องรบกวนมากกว่า ไม่ได้เป็นตัวกระทบหลัก ยกเว้นเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย มีม็อบ ชุมนุมทางการเมือง แต่เชื่อว่าโอกาสเกิดขึ้นน้อย และเชื่อว่าประเทศไทย เจอความไม่แน่นอนทางการเมืองมาไม่รู้กี่รอบแล้ว ดังนั้นเอกชนน่าจะรับมือได้ แต่ที่กังวลคือ ตัวแปรใหม่ที่จะกระทบต่อการท่องเที่ยว ที่อาจทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา และกระทบต่อจีดีพีที่มองไว้ที่ 3.7%ปีนี้"
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ